“ศรีลังกาตั้งเป้าเป็นฮับอัญมณี หลังไตรมาสแรกปีนี้ ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโตถึง 21.58%
และตั้งเป้าส่งออก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 และ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025”
ศรีลังกาเป็นที่รู้จักดีในด้านอุตสาหกรรมอัญมณีที่เฟื่องฟูแห่งหนึ่งของโลก โดยเป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้ผลิตอัญมณีรายใหญ่ของโลก เพราะมีอัญมณีที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งคาดกว่าพื้นที่บนเกาะศรีลังกากว่า 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดมีศักยภาพในการทำเหมืองอัญมณี และประเมินกันว่าบนเกาะแห่งนี้มีอัญมณีถึงกว่า 130 ชนิด จึงทำให้ศรีลังกาได้รับฉายาว่า “เกาะแห่งอัญมณี” โดยอัญมณีที่มีชื่อเสียงเป็นแซปไฟร์สีต่างๆ โดยเฉพาะสีน้ำเงินที่เรียกว่า ซีลอนแซปไฟร์ (Ceylon Sapphire) และแซปไฟร์สีชมพูอมส้มที่เรียกว่า พัดพารัดชา (Padparadscha Sapphire) อีกทั้งศรีลังกายังมีแรงงานฝีมือที่มีความชำนาญในการเผาพลอยสีและการเจียระไนอัญมณีที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลกด้วย
ที่มา: www.ceylonbluesapphires.com
อัญมณีและเครื่องประดับเป็น 1 ใน 5 สินค้าหลักส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศศรีลังกา ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Sri Lanka Export Development Board พบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเริ่มเติบโตเป็นบวกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 ศรีลังกาส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับได้เพิ่มขึ้นถึง 21.58% หรือมีมูลค่า 64.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการเติบโตอย่างสดใสและศักยภาพของอุตสาหกรรม ทำให้รัฐบาลศรีลังกาตั้งเป้าการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของภูมิภาคเอเชียในอนาคต ซึ่ง State Ministry of Gem and Jewellery ได้ร่วมมือกับ Ministry of Finance ดำเนินกลยุทธ์ให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รวมถึงบรรลุเป้าหมายการส่งออก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025
โดยมาตรการเร่งด่วนที่ศรีลังกาจะดำเนินการ ได้แก่ การปรับปรุงวิธีการทำเหมืองอัญมณี แก้ไขปัญหาที่ดินบริเวณเหมืองอัญมณี การพัฒนาฝีมือการเจียระไนอัญมณี การประมูลอัญมณีที่ได้มาตรฐาน และสร้างชื่อเสียงให้อุตสาหกรรมท้องถิ่นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ อีกทั้งเร่งยกระดับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี Gem Laboratory of the National Gems and Jewellery Authority (NGJA) ให้ได้มาตรฐานสากล และการสร้างห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีที่ได้คุณภาพมาตรฐานสากลอีก 3 แห่งในเมืองรัตนปุระ (Ratnapura) เมืองกอลล์ (Galle) และเมืองหลวงโคลัมโบ (Colombo) รวมถึงการทำห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีเคลื่อนที่ (Mobile Labs) ด้วย ทั้งนี้ ศรีลังกาจะเทียบเคียงมาตรการดังกล่าวกับประเทศไทยและฮ่องกง ซึ่งถือเป็นต้นแบบในการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับออนไลน์โดยให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นสำหรับผู้ค้าในประเทศ การเตรียมการเพื่อจัดตั้งศูนย์การค้าอัญมณีศรีลังกาในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ในประเทศจีน และก่อสร้างศูนย์ซื้อขายอัญมณีและศูนย์ฝึกอบรมในเมืองรัตนปุระในปีนี้ อีกทั้งยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการเชื่อมต่อทางอากาศโดยตรงระหว่างศรีลังกาและมาดากัสการ์ โดยปัจจุบันอัญมณีส่วนใหญ่ของมาดากัสการ์ถูกนำเข้าไปยังศรีลังกาเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยการตัดและเจียระไนก่อนที่จะส่งออกไปยังศูนย์กลางการค้าอัญมณี เช่น กรุงเทพฯ และฮ่องกง
“ส่วนใหญ่ไทยนำเข้าพลอยสีจากศรีลังกาเพื่อเพิ่มมูลค่าก่อนส่งออกต่อ
เพราะศรีลังกาผลิตอัญมณีได้หลากหลายชนิด อีกทั้งยังเป็นทางผ่านพลอยสีจากแอฟริกาด้วย”
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Global Trade Atlas ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 พบว่า ศรีลังกาเป็นผู้ส่งออกพลอยสีเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ในขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกพลอยสีในอันดับที่ 3 ของโลก ส่วนการค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างศรีลังกากับไทยในช่วงไตรมาสแรกปี 2021 พบว่าไทยขาดดุลการค้าให้กับศรีลังกา โดยมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก ซึ่งไทยนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากศรีลังกา 8.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 51.08% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ารวมทุกประเภทจากศรีลังกา ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าพลอยสีด้วยมูลค่ารวม 7.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 92.84% ของการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดจากศรีลังกา นอกจากศรีลังกาจะผลิตวัตถุดิบอัญมณีได้หลากหลายทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนแล้ว ยังเป็นทางผ่านของพลอยสีจากแอฟริกาที่ไหลเข้าไปยังศรีลังกาก่อนส่งต่อไปศูนย์กลางการค้าแห่งอื่นอีกด้วย ฉะนั้น ศรีลังกาจึงเป็นตลาดวัตถุดิบอัญมณีที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย
ที่มา: https://www.jewellerynet.com
ไทยกับศรีลังกามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันทั้งสองประเทศกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านอัญมณีศาสตร์และการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของศรีลังกา รวมถึงมีความตกลงการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจไทย – ศรีลังกา เพื่อพัฒนาการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งหากทั้งไทยและศรีลังกามีความร่วมมือกันอย่างจริงจังแน่นแฟ้นในฐานะหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ (Strategy Partnership) ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการไหลเข้าของวัตถุดิบพลอยสีจากศรีลังกามายังประเทศไทยได้มากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที