จีนมีชื่อเสียงมายาวนานในฐานะศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับที่มีศักยภาพและขนาดการผลิตที่รองรับความต้องการและงบประมาณได้แทบทุกระดับ ศูนย์กลางการผลิตและผู้ผลิตของจีนอาศัยประสบการณ์ นวัตกรรม และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เฉียบแหลมเพื่อรักษาตำแหน่งการเป็นแนวหน้าในอุตสาหกรรมเครื่องประดับระดับโลก
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์กลางการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับหลายแห่งได้ตั้งตนขึ้นเป็นศูนย์กลางที่มีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน โดยสำหรับจีนนั้นคือด้านการผลิตเครื่องประดับ จีนมีแรงงานทักษะสูง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ค่าจ้างแรงงานและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำ ตลอดจนผลผลิตคุณภาพสูง จึงสามารถโน้มน้าวให้นักออกแบบ ผู้ขาย และผู้ผลิตไว้วางใจในศักยภาพด้านการผลิตของตน
แบรนด์ Xingguangda Jewelry
อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับจีนกระจุกตัวอยู่ในมณฑลกวางตุ้งเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองเซินเจิ้นและเขตปันหยูของเมืองกวางโจวซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑล จีนสั่งสมความเชี่ยวชาญมาตั้งแต่ปลายยุคทศวรรษ 1980 เมื่อบริษัทต่างประเทศเริ่มมาตั้งฐานการผลิตในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปันหยู ในขณะที่การลงทุนและความเชี่ยวชาญจากฮ่องกงก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเครื่องประดับของจีน ส่วนเซินเจิ้นนั้นได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิตและการขายส่งที่โดดเด่นในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตลาดภายในประเทศ
แม้ว่าข้อกังวลในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน ตลอดจนต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างประเทศหลายแห่งย้ายฐานการผลิตออกจากจีน แต่จีนก็ยังคงมีบทบาทสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ในแวดวงการผลิตเครื่องประดับ
ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในแวดวงธุรกิจและความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 บริษัทเครื่องประดับของจีน สมาคมการค้า และภาครัฐจึงดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับในจีนให้อยู่รอดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นความต้องการและขยายช่องทางต่างๆ การปรับปรุงระบบนิเวศในภาคบริการของธุรกิจนี้ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการออกแบบเครื่องประดับ การผลิตและการตลาด ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้กรอบแนวทางเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong- Macau Greater Bay Area: GBA)
ความเปลี่ยนแปลงในตลาด
ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ปันหยูได้แปรสภาพกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับแบบรวมศูนย์อย่างเต็มตัว โดยมีทั้งโรงงานและบริการด้านการผลิต การฝังอัญมณี การออกแบบ การตลาด และส่วนสนับสนุนในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ศูนย์ฝึกอบรม ห้องปฏิบัติการ และผู้ให้บริการด้านลอจิสติกส์
Da Luo Tang และ Shawan เป็นเมืองศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับสองเมืองในเขตนี้ โรงงานผลิตเครื่องประดับส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมือง Shawan ถนน Shatou ถนน Shiqiao ถนน Donghuan และเมือง Shiji
เขตอุตสาหกรรมเครื่องประดับ Shawan เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเครื่องประดับ 25 แห่ง อาคารสำนักงาน 2 แห่ง สำนักงานศุลกากร คลังสินค้าทัณฑ์บน ศูนย์ตรวจสอบอัญมณีแห่งชาติ (National Gemstone Testing Center) ตลาดแลกเปลี่ยนเพชรกวางโจว (Guangzhou Diamond Exchange) และตลาดแลกเปลี่ยนหยกและอัญมณีกวางตุ้ง (Guangdong Jade & Gems Exchange)
บริษัทฮ่องกงอย่าง Chow Tai Fook Jewellery Group, Chow Sang Sang Group, Luk Fook International Holdings และ Tse Sui Luen Jewellery ล้วนมีฐานการผลิตอยู่ในปันหยู
ตามข้อมูลจากสมาคม Guangzhou Panyu Jewellery Manufacturers Association การส่งออกเป็นแกนสำคัญของธุรกิจเครื่องประดับในปันหยู การค้าเครื่องประดับโดยใช้ฮ่องกงเป็นแหล่งส่งสินค้าออกไปยังประเทศอื่นอีกต่อหนึ่งนั้นร้อยละ 70 เป็นสินค้าที่มาจากเขตปันหยู ปันหยูส่งออกเครื่องประดับคิดเป็นราวร้อยละ 60 ของการส่งออกเครื่องประดับของจีนทั้งหมด โดยสินค้าจำนวนมากส่งไปยังสหภาพยุโรป ฮ่องกง สหรัฐ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และรัสเซีย
อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีมานี้พัฒนาการต่างๆ ทำให้กิจการต้องหันมาทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจกันใหม่ Wu Wei ประธานสมาคมกล่าวว่า กิจการเครื่องประดับในเขตปันหยูหันมาหาตลาดภายในประเทศกันมากขึ้นเพื่อรับมือกับการส่งออกที่ลดลงนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2008
“การสั่งซื้อจากต่างประเทศลดต่ำลงขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความอยู่รอดของผู้ผลิตเครื่องประดับจีน นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบริษัทในปันหยูซึ่งดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศเป็นหลัก กิจการเครื่องประดับในปันหยูตระหนักว่าต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากที่เน้นการส่งออกมาเป็นกิจการที่สนองความต้องการของตลาดหลายแห่งเพื่อการขายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป้าหมายของเราในเวลานี้คือการพัฒนาให้ปันหยูเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับที่ตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันก็ผลิตสินค้าเพื่อลูกค้าภายในประเทศด้วย” Wu อธิบาย
ตั้งแต่ปี 2019 รัฐบาลเขตปันหยูได้ออก “มาตรการยกระดับและปรับปรุงอุตสาหกรรมเครื่องประดับปันหยู” โดยจัดสรรเงินทุนสำหรับโครงการต่างๆ รวม 11 ด้าน เช่น การก่อตั้งบริษัท เงินอุดหนุนสำหรับพื้นที่สำนักงาน ความช่วยเหลือด้านการผลิตและการค้า โครงการหลัก กลยุทธ์เครื่องหมายการค้า การแสดงสินค้าในต่างประเทศ การจัดงานกิจกรรมด้านเครื่องประดับ และอีคอมเมิร์ซ
ทางภาครัฐยังได้ประกาศแผนปฏิบัติการในปันหยูเพื่อสร้างเขตความร่วมมือด้านการผลิตเครื่องประดับของ GBA แผนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำจุดแข็งของปันหยูในแง่การรวมกลุ่มของกิจการ ความสามารถด้านการผลิต และบริการด้านต่างๆ มาผสมผสานกับความได้เปรียบของฮ่องกงในแง่การวิจัยและพัฒนา (R&D) การตลาด และการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับในปันหยู ตลอดจนสร้างเมืองเครื่องประดับขึ้นใน GBA
เสียงตอบรับจากภายในประเทศ
เพื่อเร่งการพัฒนาของอุตสาหกรรมเครื่องประดับในปันหยู ทางสมาคมกำลังผลักดันแบรนด์ “เครื่องประดับปันหยู” และมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจสำหรับตลาดภายในประเทศ
ในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ทางสมาคมได้จัดงาน Guangzhou Panyu Jewellery Livestreaming Festival ประจำปี 2020 กิจกรรมนี้มีบริษัทในปันหยูเข้าร่วม 142 แห่ง และดึงดูดผู้ชมได้กว่าห้าล้านราย มีเครื่องประดับขายได้ราว 30,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่ายอดขายรวม 20 ล้านหยวน (2.86 ล้านเหรียญสหรัฐ)
นอกจากนี้ สมาคม Guangzhou Panyu Jewellery Manufacturers Association ยังได้สื่อสารไปยังสมาคม ผู้ผลิต และผู้ขายเครื่องประดับในภูมิภาคอื่นๆ ของจีน เพื่อชักจูงให้กิจการเหล่านี้ผลิตหรือหรือจัดหาเครื่องประดับจากปันหยูอีกด้วย ทางสมาคมได้จัดงานขนาดเล็กเพื่อการจับคู่ทางธุรกิจ จัดทัวร์เยี่ยมชมโรงงาน และส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าเครื่องประดับโดยรวมอยู่ในโซนจัดแสดงเครื่องประดับจากปันหยู
ปันหยูกำลังปรับบทบาทไปเป็นฐานการจัดหาสินค้าให้แก่แบรนด์เครื่องประดับทั้งในและต่างประเทศ ด้วยเป้าหมายมูลค่าการผลิตกว่าหนึ่งแสนล้านหยวนต่อปี (ราว 14,300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) ปันหยูกำลังเปลี่ยนแนวทางจากการ “ผลิตในปันหยู” มาเป็นการ “สร้างสรรค์ในปันหยู” โครงการสนับสนุนนวัตกรรมด้านการออกแบบและเทคโนโลยีมุ่งส่งเสริมให้ปันหยูเป็นแหล่งสร้างสรรค์ชิ้นงานเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์แปลกใหม่ให้แก่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
อุตสาหกรรมเครื่องประดับในปันหยู
• เป็นที่ตั้งของบริษัทเครื่องประดับกว่า 400 แห่งจากภูมิภาคและประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ
• กำลังการผลิตเครื่องประดับคิดเป็นรายผลิตภัณฑ์กว่า 700,000 ชิ้นต่อปี
• ในแต่ละปีมีการฝังพลอยสีกว่า 70 ตันลงในเครื่องประดับ
• โรงงานเจียระไนพลอยสีราว 1,000 แห่ง
• บริษัทในธุรกิจการขายกว่า 2,000 แห่ง
• พนักงานทั้งหมดราว 100,000 คน
• นักออกแบบเครื่องประดับกว่า 800 คนและแบบผลิตภัณฑ์ที่คิดขึ้นใหม่กว่า 100,000 แบบ
ที่มา: Guangzhou Panyu Jewellery Manufacturers Association
ตลาดภายในประเทศ
ทางด้านอุตสาหกรรมในเซินเจิ้นนั้นได้มุ่งเน้นตลาดภายในประเทศมาตลอด Guo Xiaofei เลขาธิการใหญ่ของ Shenzhen Gold & Jewelry Association ให้ความเห็นว่าเป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมเครื่องประดับเซินเจิ้นก็คือตลาดจีนนั่นเอง การผลิตเครื่องประดับเป็นแก่นสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเซินเจิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของธุรกิจเครื่องประดับกว่า 30,000 ราย โดย 8,900 รายตั้งอยู่ในพื้นที่ Shuibei ในเขต Luohu บริษัทเครื่องประดับที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของจีนทั้ง 14 แห่งมีสำนักงานอยู่ในเซินเจิ้น เช่นเดียวกับผู้ผลิตเครื่องประดับจากฮ่องกงอย่าง Chow Tai Fook, Lukfook และแบรนด์ดังอื่นๆ
โรงงานผลิตของบริษัท King Kai Jewelry ในเซินเจิ้น
เครื่องประดับจากเซินเจิ้นกว่าร้อยละ 90 ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ แม้ว่าเพชรและพลอยสีมักเป็นสินค้านำเข้า แต่เครื่องประดับส่วนใหญ่ที่ขายในจีนนั้นผลิตที่เซินเจิ้น เครื่องมือ บรรจุภัณฑ์ และวัสดุเสริมที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ก็สามารถซื้อได้ในเซินเจิ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีบริการที่เกี่ยวข้องและการสนับสนุนด้านต่างๆ จากกิจการในเซินเจิ้นด้วย ในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วนในปัจจุบัน เซินเจิ้นช่วยให้จีนยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับที่พึ่งพาตนเองได้เป็นส่วนใหญ่
การผลิตที่เน้นความแม่นยำ
กระบวนการผลิตของจีนก็กำลังผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเช่นกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้การประสานงานกันและการทำงานอย่างโปร่งใสเกิดขึ้นได้ง่ายตลอดวงจรการผลิต การผลิตหันไปเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางมากขึ้นและเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตรวมถึงแพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์
ตลาดเครื่องประดับแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยที่หลากหลาย ขณะที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ก็มีความต้องการที่ยกระดับมากขึ้น เพชรสีแฟนซี เพชรรูปทรงแฟนซี และพลอยสีได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่วัสดุซึ่งอยู่นอกเหนือแบบแผนเดิมๆ อย่างเซรามิก ไทเทเนียม และแพลเลเดียม ก็ได้เข้ามามีบทบาทในงานออกแบบเครื่องประดับมากขึ้นด้วย ส่วนวัสดุที่มีอยู่เดิมก็ได้รับการปรับปรุงในแง่เทคโนโลยีด้วยเช่นกัน มีการใช้ทองคำเนื้อแข็งแบบสามมิติ (3D hard gold) กันอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ Chow Tai Fook ก็กำลังวิจัยและนำเทคนิคการทำทองแบบจีนโบราณกลับมาใช้ในการผลิตยุคปัจจุบัน ผู้ผลิตจีนลงทุนด้านนวัตกรรมและการออกแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับความเข้าใจผิดมาเป็นเวลานานว่าอุตสาหกรรมเครื่องประดับของจีนนั้นขาดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและขาดการเพิ่มมูลค่า บริษัท Xingguangda Jewelry Industrial จำกัด ในเซินเจิ้นก็ได้ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมรวมถึงการวิจัยและพัฒนาโดยอิสระ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี วัสดุ เทคนิค และรูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนค้นหาโอกาสใหม่ๆ ภายในตลาด
โรงงานผลิตของบริษัท Xingguangda Jewelry Industrial จำกัด
Lin Changwei ประธานบริษัท Xingguangda Jewelry กล่าวว่า เนื่องจากมีการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในปัจจุบัน การผลิตเครื่องประดับของจีนจึงควรขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ประสานพลังทั้งในด้านการออกแบบ เทคโนโลยี การจัดการ และการสร้างแบรนด์ ตลอดจนพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปสู่การผลิตแบบสมาร์ต
“เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิตเครื่องประดับของจีนอย่างต่อเนื่อง เราจึงต้องขับเคลื่อนความสามารถหลักในแง่เทคโนโลยีการผลิตที่สำคัญ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาวัสดุและงานออกแบบ เราควรเสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านงานฝีมือและความเป็นมืออาชีพ ผลิตสินค้าที่มีความประณีตและชาญฉลาด ตลอดจนสร้างแบรนด์ให้ได้รับการยกย่อง เพื่อให้การผลิตเครื่องประดับของจีนได้รับการยอมรับในแง่คุณภาพ” เขากล่าว
การผลิตเครื่องประดับแบรนด์ Xingguangda Jewelry
Xingguangda Jewelry ใช้นวัตกรรมเป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์ในการพัฒนาบริษัท และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาแบบอิสระรวม 370 รายการ รวมทั้งคำขอที่รอการอนุมัติ สายการผลิตที่สมบูรณ์ เที่ยงตรงและถูกต้องตามหลักการช่วยให้บริษัทตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วประเทศจีน รวมถึงแบรนด์เครื่องประดับที่มีชื่อเสียงในฮ่องกงได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทผลิตเครื่องประดับได้กว่าหนึ่งล้านชิ้นในแต่ละปีให้แก่ลูกค้าในจีนกว่า 4,500 ราย
อุตสาหกรรมเครื่องประดับในเซินเจิ้น
• ศูนย์กลางการค้าและตลาดขายส่งเครื่องประดับราว 30 แห่ง
• แรงงานกว่า 250,000 คน
• มูลค่าการผลิตและการค้าเครื่องประดับราว 150,000 ล้านหยวนต่อปี (ราว 21,400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี)
• แต่ละปีมีการนำเข้าทองคำและแพลทินัมเข้ามาใช้ในการผลิตที่เซินเจิ้นคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณการซื้อขายทองคำและแพลทินัมในตลาดแลกเปลี่ยนทองคำเซี่ยงไฮ้
• จำนวนเพชรร่วงที่ใช้ในเครื่องประดับคิดเป็นร้อยละ 90 ของปริมาณการซื้อขายเพชรร่วงตามปกติในตลาดแลกเปลี่ยนเพชรเซี่ยงไฮ้
ที่มา: Shenzhen Gold & Jewelry Association
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที