GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 09 เม.ย. 2021 16.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 882 ครั้ง


จากการที่รัฐบาลอินเดียได้ประกาศลดภาษีนำเข้าทองคำและโลหะเงินลงจากอัตราร้อยละ 12.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ขณะเดียวกันก็บังคับใช้การประทับตรา Hallmark บนเครื่องประดับทอง 14, 18 และ 22 กะรัต ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2021 เป็นต้นไป ส่งผลให้ตลาดทองคำและเครื่องประดับทองของอินเดียไม่เพียงจะได้รับประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ แต่จะได้รับผลดีทางอ้อมจากแผนสวัสดิการชนบทด้านต่างๆ ที่จะประกาศในแผนงบประมาณ อีกทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการประกาศงบประมาณที่ส่งผลเชิงบวก น่าจะช่วยให้ความต้องการทองคำและเครื่องประดับทองของอินเดียกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2021 หลังจากลดต่ำลงในช่วงปี 2020 โดยจะส่งผลอย่างไรต่อผู้ประกอบการไทยติดตามได้จากบทความนี้


อินเดียออกนโยบายใหม่กระตุ้นการค้าทองคำและเครื่องประดับทอง

        World Gold Council เผยแพร่แนวโน้มสถานการณ์ตลาดในอินเดีย โดยระบุว่าการระบาดของโควิด-19 และการที่ทองคำมีราคาสูงส่งผลให้ความต้องการทองคำในอินเดียลดลงถึงร้อยละ 35 จากเดิม 690.4 ตัน ในปี 2019 เหลือเพียง 446.4 ตัน ในปี 2020 ส่วนความต้องการทองคำในแง่มูลค่าลดลงเพียงร้อยละ 14 จากเดิมที่ 2.18ล้านล้านรูปีในปี 2019 มาอยู่ที่ 1.88 ล้านล้านรูปีในปีที่แล้ว เนื่องจากราคาทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ไปอยู่ที่ราว 50,000 รูปีต่อ 10 กรัมเกือบตลอดปี 2020 

        ขณะที่อุปสงค์เครื่องประดับทองโดยรวมในอินเดียปี 2020 ลดลงถึงร้อยละ 42 มาอยู่ที่ 315.9 ตัน จากเดิมที่ 544.6 ตัน ในปี 2019 และในแง่มูลค่านั้น ความต้องการเครื่องประดับทองอยู่ที่ 1.33 ล้านล้านรูปี ลดลงร้อยละ 22 จากเดิม 1.72 ล้านล้านรูปีในปี 2019 โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองรวมถึงฤดูกาลแต่งงานที่ตามมานั้นช่วยเพิ่มอุปสงค์ในตลาดให้กลับมาอีกครั้ง ความต้องการเครื่องประดับทองในช่วงดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 43 ด้วยมูลค่า 137.3 ตัน ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่มีความต้องการสูงสุดในปี 2020

        World Gold Council ระบุว่าการลดอัตราอากรขาเข้าทองคำ ตลอดจนการประกาศนโยบายใหม่อื่นๆ น่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมทองคำอินเดียตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้ประกาศนโยบายสำคัญด้านการค้าที่ได้กำหนดไว้ในแผนงบประมาณประจำปี 2021-2022 ซึ่งรวมถึงการลดอัตราภาษีการนำเข้าทองคำ การกำหนดให้ Securities and Exchange Board of India (SEBI) เป็นผู้กำกับดูแลการซื้อขายทองคำแบบส่งมอบทันทีภายในประเทศ ตลอดจนการกำหนดแผนสวัสดิการสำหรับเขตชนบทโดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นรายได้ของชาวอินเดีย

        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินเดีย Nirmala Sitharaman ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้ภาษีนำเข้าทองคำและโลหะเงินลดลงจากอัตราร้อยละ 12.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ขณะที่ภาษีสำหรับแพลทินัมและแพลเลเดียมนั้นลดลงเหลือร้อยละ 10 จากอัตราเดิมร้อยละ 12.5

        อัตราภาษีนำเข้าที่ลดลงน่าจะช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคและลดแรงจูงใจที่จะนำเข้าสินค้าโดยเลี่ยงภาษี ขณะเดียวกันการกำกับดูแลโดย SEBI จะช่วยเร่งให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งน่าจะช่วยให้ปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นและการกำหนดราคาทองคำทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ส่วนแผนสวัสดิการในเขตชนบทนั้นอาจช่วยสนับสนุนความต้องการทองคำในทางอ้อมผ่านการเติบโตของรายได้ประชากร

        นอกจากนี้ การประกาศของกรมกิจการผู้บริโภค (The Department of Consumer Affairs) ที่กำหนดให้เครื่องประดับทอง 14, 18 และ 22 กะรัตต้องผ่านการประทับตรา Hallmark จะช่วยปกป้องผู้บริโภคในกรณีที่ได้สินค้ากะรัตต่ำกว่าที่ผู้ขายแจ้ง ซึ่งนโยบายนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2021 เป็นต้นไป

        ฉะนั้น ตลาดทองคำและเครื่องประดับทองของอินเดียไม่เพียงจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปเหล่านี้ แต่จะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากแผนสวัสดิการชนบทด้านต่างๆ ที่จะประกาศในแผนงบประมาณด้วย อีกทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการประกาศงบประมาณที่ส่งผลเชิงบวก น่าจะช่วยให้ความต้องการทองคำและเครื่องประดับทองของอินเดียกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2021 หลังจากลดต่ำลงในช่วงปี 2020

        ทั้งนี้ การที่อินเดียลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบโลหะมีค่าโดยเฉพาะทองคำ ก็จะส่งผลดีต่อประเทศผู้ส่งออกโลหะมีค่าไปยังอินเดีย รวมถึงไทยที่จะสามารถส่งออกโลหะมีค่าไปยังอินเดียได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น (ในปี 2563 ไทยส่งออกทองคำ โลหะเงิน และแพลทินัมไปยังอินเดียในสัดส่วนร้อยละ 33.35 ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด ด้วยอัตราขยายตัวร้อยละ 21.30) แต่ในขณะเดียวกันอินเดียก็จะมีต้นทุนการนำเข้าทองคำและในการผลิตเครื่องประดับทองลดลง ส่งผลต่อราคาเครื่องประดับทองของอินเดียให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

        อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในตลาดโลกและผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกเครื่องประดับทองเพื่อจัดจำหน่ายในตลาดอินเดียคงต้องศึกษามาตรฐานการประทับตราเครื่องประดับทอง เพื่อปรับมาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำหรือส่วนผสมในเครื่องประดับทองให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับดังกล่าวที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2021 เป็นต้นไป

ข้อมูลอ้างอิง


1) “New policies to boost India’s gold trade, says WGC.” Retrieved March 25, 2021 from https://jewellerynet.com/en/jnanews/news/24175.
2) “India's Gold demand drops 35% in 2020.” Retrieved March 25, 2021 from https://www.businesstoday.in/markets/commodities/gold-demand-in-india-drops-by-35-in-2020/story/429380.html.

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที