เมื่อพูดถึงทองคำโลหะมีค่ายอดนิยมในตลาดโลกซึ่งเป็นได้ทั้งทุนสำรองของประเทศ การลงทุนเก็งกำไร นำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งนำมาทำเป็นเครื่องประดับทองกันอย่างแพร่หลาย การได้เป็นเจ้าของทองคำหรือค้นพบแหล่งทองคำจึงเป็นเหมือนสวรรค์ที่ผู้คนอยากได้มาไว้ครอบครอง
การค้นพบแหล่งทองหรือการตื่นทองกลับมาเป็นข่าวฮือฮาขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้สื่อข่าวอิสระชาวเยเมน Ahmad Algobary โพสต์คลิปวิดีโอลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวต้นเดือนมีนาคม เป็นภาพชาวบ้านในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo : DRC) แห่ไปขุดทองที่ภูเขาซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Luhihi ในจังหวัด South Kivu มีชาวบ้านที่ได้ทราบข่าวหลายพันคนต่างพากันเดินทางไปขุดทองที่ภูเขา ด้วยอุปกรณ์อย่างจอบ เสียม แม้แต่มือเปล่า ตามมาด้วยคลิปวิดีโอการนำดินที่ขุดได้มาล้างน้ำและพบแร่ทองคำเป็นก้อนใหญ่น้อยจำนวนมาก โดยเชื่อว่า ดินบริเวณนี้สามารถพบแร่ทองคำได้มากกว่า 60-90% ทำให้เป็นข่าวฮือฮาแพร่กระจายไปทั่วประเทศและกลายเป็นกระแส Viral ทั่วโลกออนไลน์
ภาพจาก https://english.jagran.com/
ล่าสุดมีคำสั่งระงับการทำกิจกรรมทุกประเภทเหมืองในบริเวณเมือง Luhihi จาก Muhigirwa รัฐมนตรีเหมืองแร่แห่งจังหวัด South Kivu เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าไปจัดทำทะเบียนผู้ทำเหมืองและกฎระเบียบด้านข้อบังคับการทำเหมือง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชนจากกลุ่มติดอาวุธ FARDC ที่มีอิทธิพลในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
สถานการณ์ในปัจจุบัน
แต่เดิมการผลิตทองคำรวมทั้งแร่มีค่าใน DRC ที่มีข้อมูลเป็นทางการนั้น มีมูลค่าแสดงรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีการลักลอบนำออกไปขายผ่านทางภาคตะวันออกของประเทศ จังหวัด South Kivu อยู่ในภูมิภาคนี้ด้วย ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศยูกันดา รวันดา บุรุนดี และแทนซาเนีย ภูมิภาคแถบนี้เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบจากกลุ่มกบฏติดอาวุธหลายกลุ่มยึดครองเหมืองแร่โลหะมีค่าหลายแห่ง และใช้การค้าขายแร่เหล่านี้มาเป็นทุนเพื่อซื้ออาวุธ
จากกรณีดังกล่าวทำให้มีการตรากฎหมาย Section 1502 Provision of the Dodd Frank Act ขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ซึ่งมีจุดประสงค์ให้ผู้ผลิตสินค้าอิเลคทรอนิกส์ในสหรัฐฯ จะต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของแร่ที่นำมาใช้ในการผลิตทั้ง 4 ประเภท คือ แร่ดีบุก ทังสเตน แทนทาลัม และทองคำ หรือที่เรียกกันว่า 3TG : Tin, Tungsten, Tantalum และ Gold) จะต้องไม่มีแหล่งที่มาจาก DRC ในภาคตะวันออกรวมทั้งประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ซึ่งต่อมาเรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกนำมาพูดถึงและได้สร้างข้อกำหนดขึ้นในเวทีองค์การสหประชาชาติ และนานาประเทศให้ความสำคัญนำใช้เป็นกฎระเบียบในวงกว้างในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรรมเครื่องประดับด้วย
ปัจจุบัน การลักลอบนำแร่ทองคำและอื่นๆ ออกไปค้าอย่างผิดกฎหมายนั้นเป็นไปได้ยากในตลาดโลก เนื่องจาก DRC เป็นประเทศที่ถูกเฝ้าระวังจากนานาประเทศ จากปัญหาการทำเหมืองผิดกฎหมายที่ยังมีอยู่มาก การทำเหมืองที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการใช้แรงงานเด็ก การใช้ความรุนแรง รวมทั้งปัญหาเป็นแหล่งฟอกเงินของกลุ่มติดอาวุธ การค้นพบแหล่งทองคำในครั้งนี้จึงเป็นเพียงอีกแหล่งการผลิตหนึ่ง ซึ่ง DRC ไม่ใช่ผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ของโลกคิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของปริมาณการผลิตทองคำทั่วโลก จึงไม่มีผลกระทบทั้งด้านปริมาณและการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ไทยมีการนำเข้าทองคำในปี 2563 จากตลาดหลักอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์ ในสัดส่วน 24.95%, 24.32% และ 23.98% ตามลำดับ โดยในอดีตที่ผ่านมาไทยไม่มีการนำเข้าทองคำจาก DRC
แม้ว่าการค้นพบแหล่งผลิตทองคำในครั้งนี้จะสร้างความสนใจไปทั่วโลก แต่เมื่อเทียบกับกระแสการตื่นทองครั้งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นในโลก การค้นพบครั้งนี้จึงอาจเป็นเพียงแสงดาวตกที่วาบขึ้นให้เราเห็นเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที