Gem and Jewelry Research and Development Department

ผู้เขียน : Gem and Jewelry Research and Development Department

อัพเดท: 07 พ.ค. 2021 09.55 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1945 ครั้ง

ติดตามเรื่องการตรวจสอบตัวอย่างไข่มุกหลากสีจากตลาดซื้อขายออนไลน์ได้จากบทความนี้
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทรศัพท์ : 02-634-4999 ext. 451-453
โทรสาร : 02-634-4970
อีเมลล์ : rd@git.or.th
ID Line : git_rd_department


การตรวจสอบตัวอย่างไข่มุกหลากสีจากตลาดซื้อขายออนไลน์

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไข่มุก

ไข่มุก หรือ มุก เป็นอัญมณีอินทรีย์ (organic gem) หรือ อัญมณีที่ได้จากสิ่งมีชีวิต (biogenic gem material) สามารถกำเนิดจากหอยชนิดต่างๆ ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ไข่มุกธรรมชาติ (natural pearl) คือ ไข่มุกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และ ไข่มุกเลี้ยง (cultured pearl) คือ ไข่มุกที่เกิดจากกระบวนการเพาะเลี้ยงหอยมุกโดยฝีมือมนุษย์ ซึ่งไข่มุกส่วนมากที่ใช้ทำเครื่องประดับในปัจจุบันล้วนเป็นไข่มุกเลี้ยงทั้งสิ้น ไข่มุกเลี้ยงแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม (saltwater cultured pearl) กระบวนการเลี้ยงไข่มุกน้ำเค็มนั้นค่อนข้างซับซ้อน ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็มจึงมีมูลค่าที่สูง และเป็นที่นิยมอย่างมากในท้องตลาด ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็มที่สำคัญและมีชื่อเสียง ได้แก่ ไข่มุกอะโกย่า (Akoya pearl), ไข่มุกเซ้าท์ซี (South Sea pearl) และไข่มุกตาฮิติ (Tahitian pearl)   

2. ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืด (freshwater cultured pearl) ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืดมีการเพาะเลี้ยงในหลายแหล่ง แต่ปัจจุบันแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน การเพาะเลี้ยงทำได้ง่ายกว่าไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็มมาก ส่งผลให้ไข่มุกน้ำจืดนั้นมีมูลค่าน้อยกว่าไข่มุกน้ำเค็ม

ที่มาของปัญหา

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบการซื้อขายไข่มุกในรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมและแพร่หลายอย่างมากในสื่อสังคมออนไลน์ (social medial) และตลาดออนไลน์ (e-marketplace)  โดยเป็นการขายไข่มุกที่เสมือนแกะสดจากตัวหอย หรือ ที่เรียกว่า “แกะหอยมุกสุ่มสี” ผู้ขายมักจะทำการถ่ายทอดสด (Live) การแกะหอยมุก เพื่อให้ลูกค้าสามารถลุ้นสีและขนาดของไข่มุกที่อยู่ภายในตัวหอย โดยส่วนใหญ่จะมีการโฆษณาว่า หอยมุกที่นำมาจำหน่ายนั้นเป็นหอยมุกเลี้ยงน้ำเค็ม และมีสีมากกว่า 50 เฉดสี นอกจากนี้ยังพบการจำหน่ายหอยมุกแบบเปิดลุ้นไข่มุกด้วยตนเอง ในแอปพลิเคชั่นขายของออนไลน์ ที่มีการโฆษณาว่าเป็นหอยมุกน้ำเค็ม และหอยมุกอะโกย่าเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจราคาหอยมุกสุ่มสีในตลาดออนไลน์ของไทยพบว่ามีราคาประมาณ 180 – 650 บาท/ตัว  โดยส่วนใหญ่มีแหล่งผลิต/นำเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 

จากการรวบรวมข้อมูลของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่มีการรายงานเกี่ยวกับไข่มุก ไม่ใช่หอยมุกทุกตัวที่จะผลิตไข่มุกคุณภาพดีที่สามารถนำมาทำเป็นเครื่องประดับได้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของหอยมุก สภาพแวดล้อม และระยะเวลาในการเลี้ยง เป็นต้น อีกทั้งสีของไข่มุกเลี้ยงจะมีสีพื้นเพียงไม่กี่สี ได้แก่ ขาว ครีม เหลืองอ่อน และดำ  ดังนั้นการจำหน่ายสินค้าไข่มุกในลักษณะนั้นอาจเข้าข่ายการสำแดงข้อมูลสินค้าไม่ครบถ้วน เช่น ชนิดของไข่มุก และประเภทของการปรับปรุงคุณภาพสี ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้

ตัวอย่าง

ผู้วิจัยได้ทำการจัดหาตัวอย่างหอยมุกแบบสุ่มสีจำนวน 23 ตัวอย่าง จากตลาดซื้อ-ขายออนไลน์แหล่งต่างๆ ได้แก่ จากการขายแบบถ่ายทอดสดผ่าน Facebook จากแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ (E-commerce platforms) โดยเป็นผู้จำหน่ายในประเทศไทยผ่าน Shopee และผู้จำหน่ายในสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่าน Lazada

 

ตัวอย่างหอยมุกน้ำเค็มและหอยมุกน้ำจืดบรรจุถุงสุญญากาศที่จำหน่ายแบบหอยมุกสุ่มสีในตลาดออนไลน์

ตัวอย่างไข่มุกหลากสีบางส่วนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.20 – 8.10 mm. ที่ได้จากการแกะหอยมุกสุ่มสี

การตรวจสอบตัวอย่างไข่มุกหลากสีจากตลาดออนไลน์

1. ลักษณะไข่มุกที่อยู่ในตัวหอย

การแกะหอยมุก โดยปกติแล้วไข่มุกจะฝังอยู่ในอวัยวะสืบพันธ์ (gonad) ในกรณีไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม และในเนื้อของตัวหอย (mantle) ในกรณีไข่มุกเลี้ยงน้ำจืด แต่ไข่มุกที่อยู่ภายในหอยมุกสุ่มสีนั้น พบอยู่ในลักษณะที่ไม่ฝังอยู่ในเนื้อหอย นอกจากนี้หอยที่นำมาจำหน่ายส่วนใหญ่มักมีขนาดเล็ก แสดงว่ายังเป็นหอยที่มีอายุน้อย ซึ่งยังไม่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการเพาะเลี้ยงไข่มุกได้ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า เป็นการนำเม็ดไข่มุกมาใส่ในตัวหอยและปิดผนึกฝาหอย จากนั้นบรรจุตัวหอยในถุงสุญญากาศเพื่อรักษาความสดของหอย และนำมาจำหน่ายในรูปแบบหอยมุกที่มีไข่มุกอยู่ภายใน เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปแกะไข่มุกด้วยตนเอง

 

แสดงลักษณะไข่มุกที่ไม่ฝังอยู่ในเนื้อหอยภายในตัวอย่างหอยมุกสุ่มสี

(ซ้าย) หอยมุกน้ำเค็ม และ (ขวา) หอยมุกน้ำจืด photo by M. Seneewong-Na-Ayutthaya

2. การวิเคราะห์ตัวอย่างไข่มุกด้วยเครื่องมือพื้นฐาน

จากการตรวจสอบตัวอย่างไข่มุกด้วยตาเปล่า พบว่ามีลักษณะรูปร่างค่อนข้างกลม และมีสีที่หลากหลายมาก ซึ่งโดยปกติสีของไข่มุกเลี้ยงจะประกอบด้วย (1) สีพื้น (body color) เพียงไม่กี่สี ได้แก่ ขาว ครีม ส้มอ่อนๆ ม่วงอ่อนๆ และดำ เป็นต้น และ (2) สีเหลือบ (overtone color) คือ สีอื่นๆที่มองเห็นอยู่บนสีพื้น เกิดจากการแทรกสอดของแสงผ่านชั้นต่างๆ ของผิวไข่มุก ได้แก่ ชมพู เขียว ฟ้า และเงิน เป็นต้น เพราะฉะนั้นไข่มุกที่มีสีพื้นที่ต่างออกไป เช่น สีฟ้า สีน้ำเงิน สีชมพูบานเย็น หรือสีอื่นๆที่ดูผิดธรรมชาติของสีไข่มุก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นไข่มุกย้อมสี ซึ่งเป็นไข่มุกคุณภาพต่ำมีมูลค่าที่ไม่สูงนัก และจากการตรวจสอบตัวอย่างไข่มุกผ่านกล้องจุลทรรศอัญมณี (gem microscope) พบว่าพื้นผิวของตัวอย่างไข่มุกหลากสีมีการหลุดหลอกของแผ่นชั้นมุก (nacre) นอกจากนี้ยังพบลักษณะของสีและพื้นผิวที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากกระบวนการปรับปรุงคุณภาพสีด้วยการย้อมสี (dyeing) 

  

แสดงการวิเคราะห์สีและพื้นผิวของตัวอย่างไข่มุกด้วยกล้องจุลทรรศอัญมณี โดย (ซ้าย) แสดงสีพื้นของไข่มุกที่ไม่มีความสม่ำเสมอ (ตรงกลาง) และ (ชวา) แสดงพื้นผิวของไข่มุกที่ไม่สม่ำเสมอ จากการย้อมสีคุณภาพต่ำ

Photomicrograph by M. Seneewong-Na-Ayutthaya 

3. การวิเคราะห์ตัวอย่างไข่มุกด้วยเครื่องมือขั้นสูง

การวิเคราะห์ไข่มุกแท้/เทียมด้วยเทคนิค Raman spectroscopy พบว่าตัวอย่างไข่มุกหลากสีทุกตัวอย่างแสดงสเปกตรัมที่ของแร่อะราโกไนต์ (aragonite) หรือแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate; CaCO3) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของไข่มุกเลี้ยง นอกจากนี้จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าไข่มุกเลี้ยงที่มีสีธรรมชาติอื่นๆ นอกเหนือจากสีขาวหรือครีม มักจะปรากฎสเปคตรัมของสารชีวโมเลกุล (biomolecule) ที่ทำให้เกิดสีในไข่มุกเลี้ยง (Otter et al., 2017) แต่จากการวิเคราะห์ตัวอย่างไข่มุกหลากสีนั้น ไม่พบสเปคตรัมที่ตำแหน่งดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าตัวอย่างไข่มุกหลากสีที่มีสีพื้นต่างออกไปจากสีธรรมชาติ (ขาวหรือครีม) จะเป็นสีที่เกิดจากการปรับปรุงคุณภาพโดยการย้อมสี

ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยเทคนิค Energy Dispersive X-ray Fluorescence (ED-XRF) พบว่าตัวอย่างไข่มุกหลากสีมีแคลเซียมออกไซด์ (CaO) เป็นองค์ประกอบหลัก และเมื่อศึกษาปริมาณแมงกานิสออกไซด์ (MnO) และสตรอนเซียมออกไซด์ (SrO) เพื่อวิเคราะห์ประเภทของไข่มุกเลี้ยงนั้น พบว่าตัวอย่างไข่มุกหลากสีทุกตัวอย่าง (ทั้งที่ได้จากหอยมุกน้ำเค็มและหอยมุกน้ำจืด) มีปริมาณของ MnO ในช่วง 0.118–0.524 %wt และ SrO ในช่วง 0.323-0.703 %wt ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าตัวอย่างทั้งหมดเป็น “ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืด” (พรสวาทและคณะ, 2550)

สรุปผลการทดลอง

จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่า ตัวอย่างหอยมุกสุ่มสีที่กำลังแพร่ระบาดในตลาดออนไลน์อยู่ในขณะนี้ เป็นการนำหอยมุกน้ำเค็มและหอยมุกน้ำจืด มาใส่ไข่มุกน้ำจืดย้อมสีชนิดต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าไข่มุกที่อยู่ภายในเป็นไข่มุกที่เกิดจากตัวหอยที่ซื้อมา แต่ที่น่ากังวลอย่างมากคือ การนำหอยมุกน้ำเค็ม มาใส่ไข่มุกน้ำจืดย้อมสี และโฆษณาว่าเป็นไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม หรือไข่มุกอะโกย่า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าไข่มุกที่อยู่ภายในตัวหอยเป็นไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม ซึ่งมีราคาสูงกว่าไข่มุกน้ำจืดอย่างมาก การจำหน่ายไข่มุกในลักษณะดังกล่าวนั้นจึงนับได้ว่าเป็นการสำแดงข้อมูลของสินค้าที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคอย่างชัดเจน 

ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคควรมีความระมัดระวังและควรศึกษาข้อมูลของสินค้าก่อนทำการซื้อทุกครั้ง รวมถึงควรเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มักพบรายงานการปลอมแปลงเพื่อหลอกหลวงผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง ผู้จัดทำหวังว่าข้อมูลจากโครงการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการซื้อ-ขายไข่มุก และรู้เท่าทันผู้จำหน่ายในท้องตลาด และอย่าลืมว่า “ถึงคุณจะแกะไข่มุกจากตัวหอย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไข่มุกเม็ดนั้นเกิดจากหอยตัวนั้นจริงๆ นะคะ”

------------------------------------------------------------------

ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทรศัพท์ : 02-634-4999 ext. 451-453 โทรสาร : 02-634-4970

อีเมลล์/E-mail : rd@git.or.th

Line : git_rd_department

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที