ในปี 2020 ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณราว 2.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นอัตราการลดลงมากที่สุดเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการใช้พลังงานจากภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ รวมถึงการคมนาคมขนส่งในประเทศและระหว่างประเทศลดน้อยลง จนส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงตามไปด้วย โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสหรัฐอเมริกาลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 12 ตามมาด้วยสหภาพยุโรป อินเดีย และจีน ที่ลดลงร้อยละ 11, 9 และ 1.7 ตามลำดับ แต่ในปี 2021 นักวิจัยจากโครงการ The University of Exeter and The Global Carbon ของ University of East Anglia คาดว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการกระตุ้นของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดและนโยบายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ตาม
ทั้งนี้ มลพิษทางอากาศล้วนเกิดจากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง ภาคธุรกิจและอาคารที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 73.2 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก รองลงมาเป็นภาคการเกษตร ป่าไม้ และการใช้ที่ดินในสัดส่วนร้อยละ 18.4 ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศในปริมาณสูง ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก (Green House Effect) และมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
ที่มา: https://www.visualcapitalist.com
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่แหล่งผลิตวัตถุดิบไปจนถึงการขนส่งสินค้าเครื่องประดับถึงมือผู้บริโภคเช่นกัน วงจรการผลิตที่ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์ที่สูงส่วนใหญ่เกิดจากการทำเหมืองแร่อัญมณีและโลหะมีค่า ตลอดจนกระบวนการผลิตขั้นตอนต่างๆ จนกลายเป็นชิ้นงานเครื่องประดับ ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
ในอุตสาหกรรมต้นน้ำมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง โดยเริ่มต้นจากการทำพื้นที่ให้โล่งเพื่อเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบทั้งเพชร พลอยสี และโลหะมีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเหมืองเปิด จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการทำเหมืองอัญมณีและโลหะมีค่าซึ่งสร้างคาร์บอนอีกเช่นกัน ขั้นตอนการทำพื้นที่ให้โล่งและการทำเหมืองนั้นได้สร้างคาร์บอนฟุตพรินท์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 95 ของทั้งหมด ส่วนกระบวนการผลิตเครื่องประดับนั้นสร้างคาร์บอนฟุตพรินท์คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5
หากประเมินถึงคาร์บอนฟุตพรินท์ที่เกิดจากเครื่องประดับสักชิ้น อย่างเช่นต่างหูทองรูปหัวใจหนึ่งคู่จะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 31 กิโลกรัม หรือใกล้เคียงกับการขับรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ต่างหูแบบเดียวกันที่ทำจากแพลทินัมก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์สูงเป็น 3 เท่า ขณะที่ต่างหูเงินจะผลิตคาร์บอนเพียงราว 0.34 กิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่สร้อยคอทองคำที่มีความยาว 46 เซนติเมตร จะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 109 กิโลกรัม สร้อยคอที่ทำด้วยแพลทินัมจะผลิตคาร์บอนสูงถึง 345 กิโลกรัม แต่สร้อยคอเงินก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์เพียง 1.2 กิโลกรัม จะเห็นได้ว่าคาร์บอนฟุตพรินท์ของเครื่องประดับแต่ละชิ้นนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ โดยเงินเป็นโลหะมีค่าที่มีคาร์บอนฟุตพรินท์ต่ำที่สุด กล่าวคือ เงิน 1 ตันก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 520 ตัน ในขณะที่ทองคำ 1 ตันก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 38,100 ตัน และแพลทินัม 1 ตันนั้นก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 77,000 ตันเลยทีเดียว ในขณะที่การผลิตเพชรเจียระไน 1 กะรัตนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 160 กิโลกรัม หรือเทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซจากการขับรถยนต์เป็นระยะทางประมาณ 628 กิโลเมตร
ปรับกระบวนการผลิต ใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินท์
ปัจจุบันหลายบริษัทในภาคอุตสาหกรรมนี้ได้หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยการปรับกระบวนการผลิตและหันมาใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ อาทิเช่น สมาคม The Diamond Producers Association (DPA) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Natural Diamond Council (NDC) ได้ตระหนักถึงปัญหาและศึกษาถึงผลกระทบดังกล่าว โดยเผยแพร่รายงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองเพชรขนาดใหญ่” (The Socioeconomic and Environmental Impact of Large-Scale Diamond Mining) ซึ่งกล่าวถึงประโยชน์และผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนท้องถิ่น ลูกจ้าง และสภาพแวดล้อม อันเกิดจากการทำเหมืองแร่ของสมาชิกสมาคมอันประกอบด้วยผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของโลก 7 บริษัท ได้แก่ ALROSA, De Beers Group, Dominion Diamond Mines, Lucara Diamond Corp., Murowa Diamonds, Petra Diamonds และ Rio Tinto ซึ่งมีปริมาณการผลิตเพชรรวมกันกว่าร้อยละ 75 ของการผลิตเพชรทั่วโลก และมีการจ้างงานมากกว่า 77,000 คนทั่วโลก โดยผู้ผลิตเพชรแต่ละรายได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศจากการทำเหมืองเพชร ซึ่งริเริ่มลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานไฟฟ้า เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน และศึกษาโครงการวิจัยในการดักจับและเก็บก๊าซคาร์บอนเพื่อที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา: Natural Diamond Council (NDC)
ขณะที่ De Beers ตั้งเป้าชดเชยคาร์บอนจากการดำเนินงานให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 โดยประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืน 12 ข้อสำหรับทศวรรษหน้า ซึ่งรวมถึงการปรับการดำเนินงานเพื่อให้มีการชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์ การให้ข้อมูลแหล่งที่มาของเพชรทุกเม็ด และการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในการดำเนินงานทุกฝ่าย อันเป็นส่วนหนึ่งในกรอบแนวทางใหม่ของทางบริษัทที่มีชื่อว่า Building Forever ซึ่งใช้ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์แบรนด์ De Beers เพราะ De Beers ตระหนักดีว่าพื้นที่บางส่วนที่ดำเนินงานอยู่นั้นเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงได้เริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้การดำเนินงานใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ De Beers บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ก็คือ เทคโนโลยีซึ่งบริษัทได้พัฒนาขึ้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง โดยร่วมงานกับผู้ถือหุ้นหลักอย่าง Anglo American อันได้แก่ Tracr โครงการบล็อกเชนซึ่งช่วยระบุแหล่งที่มาของเพชร การลดใช้พลังงานผ่านโครงการ FutureSmart Mining™ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำเหมืองอย่างยั่งยืนและลดคาร์บอนฟุตพรินท์ทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงยกเลิกการใช้พลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิลเกือบทั้งหมดพร้อมกับสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมและพลังแสงอาทิตย์มาทดแทน นอกจากนี้จะชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนผ่านวิธีการที่อาศัยหลักธรรมชาติ ด้วยโครงการวิจัยอันล้ำหน้าอย่าง CarbonVault™ ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติในการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากจากชั้นบรรยากาศของหินคิมเบอร์ไลต์ซึ่งเป็นหินที่สามารถพบเพชรอยู่ภายในได้ เพื่อให้เกิดการทำเหมืองเพชรอย่างยั่งยืน
ที่มา: De Beers
นอกจากนี้ De Beers ยังได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตเพชร 9 แห่ง อันได้แก่ D Navinchandra Gems, Dianco, Diamant Impex, Diarush, HVK International, Hari Darshan, H Dipak and Co, Yaelstar และ StarRays ที่จะเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการผลิตในธุรกิจกลางน้ำเพื่อมุ่งสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและถูกต้อง โดยจะพัฒนาแผนการที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วหันมาใช้เชื้อเพลิงทดแทน และคาดว่าน่าจะมีผู้ผลิตบางรายที่จำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการผลิตเพชรจะปล่อยคาร์บอนออกมาจากการใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าทั่วไป การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการกระจายสินค้า กระบวนการต่างๆ เหล่านี้มีจุดที่สามารถปรับปรุงได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้างด้วย
นอกจากบริษัทผู้ผลิตเพชรแล้ว ยังมีผู้ผลิตเครื่องประดับชื่อดังอย่าง Cartier ที่ชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์มาตั้งแต่ปี 2009 แล้ว ส่วน Pandora มุ่งมั่นที่จะชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2025 ซึ่งปัจจุบันแบรนด์นี้ได้นำเศษวัตถุดิบอย่างเช่น โลหะเงิน ทองคำ แก้ว ยาง ยิปซัมทั้งหมดมารีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงปรับกระบวนการผลิตใช้แต่พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแหล่งผลิตที่ใส่ใจความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่แบรนด์ Louis Vuitton, Bulgari, Celine, Fendi และแบรนด์ชั้นนำอีก 24 ราย ได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 25 ภายในปี 2020 นอกจากนี้ Tiffany & Co. ก็ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15 ภายในปี 2020 และลดลงให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 เช่นกัน
นอกจากนั้นยังมีแบรนด์เครื่องประดับของสหรัฐอเมริกา Brilliant Earth ซึ่งให้ความสำคัญต่อความโปร่งใส จริยธรรมทางการค้า และความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2005 ด้วยการใช้เพชรที่ปราศจากความขัดแย้ง ใช้วัตถุดิบอัญมณีและโลหะมีค่าจากแหล่งที่มีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนำเพชรกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดความต้องการเพชรเม็ดใหม่จากการทำเหมือง และใช้โลหะมีค่าที่ผ่านการรีไซเคิลมาผลิตเป็นเครื่องประดับ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จนได้รับตรารับรอง Carbonfree® จากองค์กร Carbonfund.org อีกทั้งยังใช้กล่องบรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยไม้หรือกระดาษจากพื้นที่ป่าที่มีความยั่งยืนภายใต้สัญลักษณ์ FSC™ ซึ่งผ่านมาตรฐานการรับรองจาก Forest Stewardship Council เพื่อสร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม
แบรนด์ Brilliant Earth
ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนด้วย Recycle & Reuse
การลดคาร์บอนฟุตพรินท์ในฝั่งของผู้ขายและผู้บริโภคนั้นทำได้ผ่านการลดปริมาณการซื้อเครื่องประดับที่ผลิตขึ้นใหม่ และการรีไซเคิลเครื่องประดับที่มีอยู่เดิม โดยที่ผ่านมาผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าตามที่ผู้ขายนำเสนอ และสินค้าที่ผู้ขายนำเสนอก็ขึ้นอยู่กับแนวทางจากผู้ผลิตอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีอาจช่วยเพิ่มตัวแปรให้สมการนี้ ผู้ขายไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องประดับจากผู้ผลิตซึ่งจะเป็นการเพิ่มคาร์บอนฟุตพรินท์ แต่ผู้ขายอาจซื้อขายเครื่องประดับเก่ากับผู้ขายรายอื่นๆ ผ่านแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง (B2B) ได้ ซึ่งวิธีนี้จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตเครื่องประดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันการรีไซเคิลเครื่องประดับที่มีอยู่เดิม หรือการซื้อเครื่องประดับที่ผลิตจากโลหะมีค่าไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน และแพลทินัมที่ผ่านการรีไซเคิลหรืออัญมณีที่นำกลับมาใช้ใหม่ ก็ล้วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมาก โดยโลหะเงินรีไซเคิลจะปล่อยก๊าซออกมาน้อยกว่าโลหะเงินที่ผลิตจากการทำเหมือง 35 เท่าต่อตัน ส่วนทองคำและแพลทินัมรีไซเคิลจะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าทองคำและแพลทินัมจากเหมืองถึง 200 และ 100 เท่าต่อตัน ดังแสดงในตารางด้านล่าง
ที่มา : “What’s the carbon cost of your jewellery?” by Benn Harvey-Walker
ทั้งนี้ การซื้อเครื่องประดับใช้แล้วถือเป็นส่วนหนึ่งของกระแส “สโลว์แฟชั่น” ในกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งก็คือการเล็งเห็นคุณค่าของเครื่องประดับที่มีอยู่เดิมและหลีกเลี่ยงสินค้าแบบ “ฟาสต์แฟชั่น” ซึ่งมักมีคุณภาพต่ำ อายุการใช้งานสั้น และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จากกระแสโลกที่เน้นความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีจริยธรรมทางการค้าแล้ว ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมก็มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบจะต้องให้ความสำคัญต่อกระแสการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีในการปรับกระบวนการผลิตและการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ อันจะเป็นการสร้างกระบวนการดำเนินงานที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบอย่างสมบูรณ์ในอุตสาหกรรมนี้ รวมทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาวอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
1. “The Surprisingly High Carbon Footprint of The Jewelry Industry.” by Julian Walter. Retrieved December 1, 2020 from https://exjewel.com/2020/01/the-surprisingly-high-carbon-footprint-of-the-jewelry-industry/.
2. “DPA reveals findings from independent report on the realities of modern mining.” By Stacey Hailes. Retrieved December 1, 2020 from https://www.professionaljeweller.com/dpa-reveals-findings-from-independent-report-on-the-realities-of-modern-mining/.
3. “The Socioeconomic and Environmental Impact of Large-Scale Diamond Mining.” Trucost, part of S&P Global. Retrieved December 1, 2020 from https://www.spglobal.com/marketintelligence/
en/documents/the-socioeconomic-and-environmental-impact-of-large-scale-diamond-mining_dpa_02-may-2019.pdf.
4. “What’s the carbon cost of your jewellery?” by Benn Harvey-Walker. Retrieved December 1, 2020 from https://medium.com/@bennhw/whats-the-carbon-cost-of-your-jewellery-907da828
a364.
5. “De Beers Aims for Diamond Traceability, Carbon Neutrality.” by Rob Bates. Retrieved December 1, 2020 from https://www.jckonline.com/editorial-article/de-beers-traceability-carbon/.
6. Brilliant Earth. Retrieved December 1, 2020 from https://www.brilliantearth.com/why-buy-from-brilliant-earth/
7. “Building Forever 2030 Goals.” De Beers. Retrieved December 7, 2020 from https://www.
debeersgroup.com/sustainability-and-ethics/building-forever-2030-goals.
8. “How Pandora Plans to Achieve its 2025 Carbon Neutral Plan.” Retrieved December 7, 2020 from https://settingmind.com/how-pandora-plans-to-achieve-its-2025-carbon-neutral-plan/.
9. “What is the carbon footprint of jewellery?” Retrieved December 7, 2020 from https://sceona.
com/blogs/news/carbon-footprint-jewellery.
10. “Cartier and Corporate Responsibility.” Retrieved December 22, 2020 from https://www.cartier.
com/en-us/maison/commitments/cartier-and-corporate-social-responsibility/resources-of-excellence/energy-and-emissions-1387.html.
11. “LVMH Carbon Fund reaches 2018 objective two years after its creation with 112 projects funded.” Retrieved December 23, 2020 from https://www.lvmh.com/news-documents/press-releases/lvmh-carbon-fund-reaches-2018-objective-two-years-after-its-creation-with-112-projects-funded/.
12. “A Global Breakdown of Greenhouse Gas Emissions by Sector.” by Iman Ghosh. Retrieved December 24, 2020 from https://www.visualcapitalist.com/a-global-breakdown-of-greenhouse-gas-emissions-by-sector/.
13. “Covid pandemic drove a record drop in global carbon emissions in 2020.” by Emma Newburger. Retrieved December 24, 2020 from https://www.cnbc.com/2020/12/11/covid-record-drop-global-carbon-emissions-2020.html.
14. “EXCLUSIVE: Tiffany & Co. Reveals 2025 Sustainability Plan, Milestones.” By Kaley Roshitsh. Retrieved December 29, 2020 from https://wwd.com/accessories-news/jewelry/exclusive-tiffany-co-reveals-2025-sustainability-plan-milestones-1234595332/.
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที