เมตตา

ผู้เขียน : เมตตา

อัพเดท: 10 พ.ย. 2007 23.53 น. บทความนี้มีผู้ชม: 95180 ครั้ง

ภาพยนตร์นอกเหนือจากการให้ความบันเทิงแล้ว เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากสื่อภาพยนตร์ในการทำความเข้าใจกับชีวิตจริง เหมือนคำที่กล่าวว่า “ดูหนังแล้วย้อนดูตัวเอง” แล้วสื่อภาพยนตร์มาเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดของระบบ ISO 9000 ได้อย่างไร


บทเฉลยของหนังเรื่อง As good as it get

 

เนื่องจากนางเอกในเรื่อง  เป็นหญิงหม้ายมาแล้ว  เธอจึงต้องมีความระมัดระวังในการสร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่  เธอตั้งคุณสมบัติมาตรฐานของคู่ชีวิตคนใหม่ที่สูงกว่าปกติ  เช่น  เป็นคนดีมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น  รักลูกชายของเธอ  มีความรักให้เธออย่างจริงใจ  ต้องไม่เป็นคนเจ้าระเบียบจนเกินไป มีความเป็นกันเอง และเป็นคนไม่ถือทิฐิ  ส่วนปัญหาเรื่องสูงวัยกว่ามาก เป็นเรื่องที่พอยอมรับได้  

เมื่อเธอได้มาพบกับพระเอกในเรื่อง  เธอได้ตรวจสอบและทดสอบเขาดูแล้ว พบว่าเขาสอบผ่านเรื่องความมีน้ำใจ  และรักลูกชายของเธอ  แต่ยังมีปัญหานิสัยส่วนตัวในเรื่องของความมีทิฐิ และความเจ้าระเบียบ  เธอได้พยายามขอให้เขาปรับปรุงแก้ไขตัวเองอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งถึงวินาทีสุดท้ายก่อนที่จะผ่านการทดสอบจากหัวใจของเธอ

         ภาพยนตร์เรื่องนี้ตรงกับวัตถุประสงค์ของข้อกำหนดของระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001  ในหัวข้อดังต่อไปนี้

6.2.1      ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติและความสามารถที่เหมาะสมของผู้ปฏิบัติงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของสินค้า ซึ่งมี 4 ด้าน คือ วุฒิการศึกษา (Education)  การฝึกอบรม (Training) ทักษะ (Skill)  และประสบการณ์ (Experience)

6.2.2       a)   ต้องมีการกำหนดความสามารถ (Competency = Knowledge , Skill , Competency) ของบุคลากรที่มีผลต่อคุณภาพของสินค้า

6.2.2    b)   ต้องมีการฝึกอบรม หรือ ใช้มาตรการอื่น ๆ (เช่น การสรรหาบุคลากร) เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความสามารถตรงตามที่กำหนดไว้

      

สรุปความหมายได้ว่า

 

1.ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับคุณภาพสินค้า เช่น พนักงานผลิต พนักงานประกันคุณภาพ พนักงานจัดส่ง พนักงานจัดซื้อ  พนักงานสโตร์  ไว้อย่างชัดเจนและเหมาะสมกับหน้าที่ง่านที่ได้รับมอบหมาย เราสามารถกำหนดคุณสมบัติของพนักงานเหล่านี้ไว้ในบทพรรณนางาน (Job description)  ซึ่งคุณสมบัติที่กำหนดต้องมีครบทั้ง  

 

o       วุฒิการศึกษา เช่น ระดับปวช.  ปวส.  ปริญญาตรี  สาขาที่ต้องการ

 

o       หัวข้ออบรมที่ต้องผ่านการอบรมมา  เช่น  จป.วิชาชีพ(สำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย)  การตรวจติดตามคุณภาพภายใน(สำหรับผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจสอบภายใน)  การสอบเทียบเครื่องมือวัด (สำหรับเจ้าหน้าที่สอบเทียบเครื่องมือวัด)  เป็นต้น

 

o       ทักษะที่ต้องการ เช่น  การใช้งานคอมพิวเตอร์(สำหรับตำแหน่งธุรการ) ความสามารถทางด้านภาษา(สำหรับเลขานุการ หรือ ล่าม)  การเร็วในการพิมพ์ดีด (สำหรับธุรการ) เป็นต้น

 

o       ประสบการณ์ เช่น ต้องผ่านการทำงานด้านการบริหารคงคลังอย่างน้อย 2 ปี(สำหรับผู้จัดการฝ่ายคลังพัสดุ)  ต้องผ่านงานด้านการวางแผนการผลิต (สำหรับเจ้าหน้าที่วางแผนการผลิต) ต้องผ่านงานด้านการออกแบบชิ้นงานมา(สำหรับเจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนา) เป็นต้น

 

o       และปัจจุบันยังมีการกำหนดความสามารถเฉพาะตัวด้วย (Individual competency) ด้วย เช่น มีภาวการณ์เป็นผู้นำ(สำหรับหัวหน้างาน)  สามารถปฏิบัติงานได้ด้วยตนเอง(สำหรับฝ่ายขาย)  มีทักษะการเจรจาต่อรองสูง(สำหรับฝ่ายจัดซื้อ) เป็นต้น

 

2.มีการสรรหา คัดเลือก หรือ ฝึกอบรม เพื่อให้ได้พนักงานที่มีคุณภาพตรงกับคุณสมบัติที่ได้กำหนดไว้

 

ซึ่งในบางองค์กรจะมีการจัดทำเป็นตารางอบรมประจำตำแหน่งงาน (On the job Training) ขึ้นมา เมื่อมีพนักงานใหม่มาและเห็นว่ายังไม่มีประสบการณ์  หรือมีประสบการณ์ที่ยังไม่ตรงกับตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมาย  จะมอบหมายให้หัวหน้างาน หรือ หน่วยงานพัฒนาบุคลากรทำหน้าที่ในการจัดอบรมพนักงานใหม่ตามหัวข้ออบรมในตารางอบรมประจำตำแหน่งก่อนจึงจะส่งตัวพนักงานเข้าไปปฏิบัติงานประจำตำแหน่งนั้น และเมื่อพนักงานปฏิบัติงานไปได้ระยะหนึ่งจะต้องมีการทดสอบผลการอบรมอีกครั้ง และผลการทดสอบจะเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานขององค์กรด้วย  เหมือนที่นางเอกของเรื่องที่ทำการทดสอบพระเอกและแก้ไขปรับปรุงเขาจนได้ดั่งใจก่อนที่จะรับรักนะคะ

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที