โอ้โอ๋ กระไรเลย บมิเคย ณ ก่อนกาล
พอเห็นก็ซาบซ่าน ฤดิรัก บ หักหาย
แม้ไม่ได้อยู่ในห้วงรัก แต่ก็อดนึกถึงบทกวีบทนี้ไม่ได้ ในวันที่ได้มีโอกาสได้ไปชื่นชมความงามของสถานที่หนึ่ง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวรรณคดีคำฉันท์ตำนานดอกกุหลาบ มัทนะพาธา...วังพญาไท
ย้อนเวลาไปเมื่อปี พ.ศ. 2451 พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่สวนและนา บริเวณริมคลองสามเสน ติดกับทุ่งพญาไท เป็นที่แปรพระราชฐาน โดยจัดสร้างพระตำหนักขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชทานนามว่า พระตำหนักพญาไท เมื่อเสด็จสวรรคต วังนี้ได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี และพระมหาธีรราชเจ้า ได้ทรงพระราชทานนามเป็น พระราชวังพญาไท พร้อมการก่อสร้างพระที่นั่งเพิ่มเติม จำนวน 5 องค์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ได้แก่ พระที่นั่ง ไวกุณฐเทพยสถาน, พิมานจักรี, ศรีสุทธนิวาส, เทวราชสภารมย์ และ อุดมวนาภรณ์ นอกจากนี้ ยังมี สวนโรมัน และ ศาลเท้าหิรัญพนาสูรรวมถึง เมืองทดลองการปกครองประชาธิปไตย ดุสิตธานี อยู่ ณ ที่แห่งนี้ด้วย
จากวันนั้น จนถึงวันนี้ เกือบร้อยปีโดยประมาณ พระราชวังพญาไท ภายในรั้วรอบของโรงพยาบาลพระมงกุฏ ดูงดงาม เป็นเอกลักษณ์ บนถนน ราชวิถี ที่หลายๆ คน เพียงนึกอยากเข้าไปสัมผัส
.
และวันหนึ่ง ฉันก็มีโอกาส ไปร่วมงาน ชมวัง ฟังเพลง ได้สัมผัสความงามสง่าของสถาปัตยกรรมศิลป์ และ ดื่มด่ำสุนทรีย์ของคีตศิลป์
กลมกลืน และตรึงตรา ในค่ำคืนของวันอาทิตย์
ฤดูร้อน
หลายๆ ห้องในพระราชวังพญาไท ที่ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม ล้วนมีความพิเศษ เป็นเสน่ห์เฉพาะตัว แต่ที่รู้สึกพิเศษและเป็นเกียรติที่สุดที่ได้เข้าไปชม คือ ห้องทรงพระอักษร ซึ่งเป็นห้องโดม ขนาดกระทัดรัด ณ ที่แห่งนี้ คือที่มาของผลงานพระราชนิพนธ์นับร้อยๆ เรื่องขององค์พระมหาธีรราชเจ้า (แน่นอนว่า มัทนะพาธา ก็กำเนิดที่นี่)
สงบ อบอุ่น และกรุ่นด้วยมนต์ขลังของงานวรรณศิลป์
เสร็จสรรพชมวัง ก็ได้มานั่งเสพย์อรรถรสของดนตรี บริเวณสวนโรมัน ในคืนที่ดาวเต็มท้องฟ้า และวงบางกอกซิมโฟนี ออเคสตร้าบรรเลงดนตรีได้ไพเราะจับใจ แต่ที่ทำให้เสน่ห์ของค่ำคืนนั้น ไม่มีวันจางหาย ก็คงจะเป็นเสียงขลุ่ยนางพญางิ้วดำของอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ที่ทำให้เพลงไทยที่ไพเราะทั้งหลาย ฟื้นคืนชีพมาสร้างมนต์ขลังอีกครั้ง
เพลงลาวแพนน้อย, ค้างคาวกินกล้วย, น้ำตาแสงไต้, เดือนเพ็ญ, ขวัญ-เรียม, แสนแสบ, เมดอินไทยแลนด์ ได้รับการบรรเลงผสานคุณค่าของดนตรีตะวันตกและดนตรีไทย ได้ลงตัวที่สุด!
นักร้องรับเชิญวันนั้น พัชรา ดีล่า, นรีกระจ่าง และน้อย วงพรู ก็สร้างสีสันด้วยเสียงร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์และเพลงที่สร้างชื่อให้กับพวกเขา สะกดคนดูอย่างเราๆ ให้อยู่ในภวังค์
.
การชมวังได้เสร็จสิ้น เสียงดนตรีได้จบลงแล้ว แต่ความประทับใจ กับสุนทรีย์ที่วังพญาไท
คงไม่รู้จบ สำหรับฉัน และ ใครๆ อีกหลายคน
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที