GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 22 ก.พ. 2021 13.31 น. บทความนี้มีผู้ชม: 718 ครั้ง

หลังจากผู้นำกองทัพของเมียนมา ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซูจี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศดำเนินการคว่ำบาตรแกนนำก่อรัฐประหารในเมียนมา และแบน 3 บริษัท ได้แก่ Myanmar Ruby Enterprise, Myanmar Imperial Jade Co. และ Cancri (Gems and Jewelry) Co. ซึ่งมีกองทัพเป็นเจ้าของหรือถูกควบคุมโดยกองทัพเมียนมา เป็นที่ทราบกันดีว่าเมียนมาเป็นแหล่งผลิตหยก ทับทิม แซปไฟร์สีต่างๆ ของโลกโดยทับทิมสีเลือดนกพิราบ (Pigeon?s Blood Ruby) มีความสวยงามมากที่สุดในโลกและเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรที่คาดว่าจะร่วมกันคว่ำบาตรเมียนมาด้วย จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานพลอยสีของโลกและของไทยสะดุดลง แต่ะจะกระทบอย่างไรบ้างติดตามได้ในบทวิเคราะห์นี้


สหรัฐฯ คว่ำบาตรเมียนมา ส่อกระทบต่อห่วงโซ่การค้าพลอยสีของโลกและไทย

            เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซูจี จากนั้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีให้รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินการคว่ำบาตรแกนนำก่อรัฐประหารในเมียนมา รวมถึงสมาชิกในครอบครัว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยออกประกาศแบนบริษัทที่เกี่ยวกับอัญมณีและหยก 3 บริษัท ได้แก่ Myanmar Ruby Enterprise, Myanmar Imperial Jade Co. และ Cancri (Gems and Jewelry) Co. ซึ่งเชื่อว่ามีกองทัพเป็นเจ้าของหรือถูกควบคุมโดยกองทัพเมียนมา คาดว่าการแบนทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าพลอยสีและห่วงโซ่อุปทานพลอยสีของโลกไม่น้อย

            เป็นที่ทราบกันดีว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบอัญมณีอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลกโดยเฉพาะหยก ทับทิม แซปไฟร์สีต่างๆ โดยทับทิมสีเลือดนกพิราบ (Pigeon’s Blood Ruby) ที่ผลิตได้จากเหมืองโมกกเป็นที่กล่าวขานว่ามีความสวยงามมากที่สุดในโลกและเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในตลาดโลก อีกทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย โดยหยกของเมียนมาส่วนใหญ่เป็นชนิด Imperial Jadeite Jade ผลิตได้ในเมืองคำตี่ ในเขตสกาย และเมืองพะกันต์ ในรัฐคะฉิ่น ขณะที่ทับทิม และแซฟไฟร์ ผลิตได้ที่เมืองโมกก เขตมัณฑะเลย์ และเมืองมองซู เขตรัฐฉาน 

ที่มา: http://blog.propertyroom.com/birthstones/history-meaning-of-ruby-gemstones


            จากข้อมูลสถิติของ Global Trade Atlas ล่าสุดในปี 2563 พบว่า มูลค่าการส่งออกพลอยสีของเมียนมามีเพียงราว 311 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเมียนมาส่งออกพลอยสีไปยัง 10 ตลาดอันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง จีน สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย ไต้หวัน และเบลเยียม ตามลำดับ การส่งออกหยกส่วนใหญ่ไปยังจีนและฮ่องกง เนื่องจากชาวจีนได้เข้าไปร่วมทุนกับชาวเมียนมาเป็นเจ้าของเหมืองหยกในเมียนมา นอกจากนี้ก็มีชาวฮ่องกง และไต้หวัน รวมถึงลูกค้าชาวจีนก็มักเดินทางเข้าไปซื้อหยกถึงหน้าเหมือง 

            ทั้งนี้ เนื่องจากการค้าพลอยสีของเมียนมาส่วนมากเป็นระบบใต้ดิน จึงทำให้ตัวเลขการส่งออกพลอยสีอย่างเป็นทางการของเมียนมาที่ปรากฎมีมูลค่าค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างคาดการณ์ว่าการค้าพลอยสีที่แท้จริงของเมียนมาน่าจะมีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขที่ปรากฎอยู่หลายเท่าตัว

ผลกระทบที่อาจเกิดจากการคว่ำบาตรเมียนมา

            การซื้อขายทับทิมในตลาดโลกจำนวนไม่น้อยเป็นทับทิมจากเมียนมา การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรที่ต่อต้านการนำเข้าอัญมณีจากเมียนมา จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในตลาดพลอยสีโลก ซึ่งจะทำให้ปริมาณอัญมณีเมียนมาในตลาดโลกลดลง แม้จะยังมีการลักลอบค้าอัญมณีเมียนมาอย่างผิดกฎหมายอยู่ในตลาดบ้างก็ตาม ขณะที่อัญมณีจากแหล่งผลิตประเทศอื่นๆ จะเป็นที่ต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้น เช่น ทับทิมจากทวีปแอฟริกา และอาจผลักดันให้ทับทิมคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสำคัญในทวีปแอฟริกามีราคาสูงขึ้น 

            นอกจากนี้ มีแนวโน้มที่ทับทิมและหยกจากเมียนมาจะไหลไปยังจีนเกือบทั้งหมด เพราะจีนจะไม่คว่ำบาตรเมียนมา และด้วยเงินทุนก้อนใหญ่ของนักธุรกิจจีน ผนวกกับความชื่นชอบในทับทิมและหยกของชาวจีนเป็นทุนเดิม จีนอาจจะกว้านซื้ออัญมณีจากเมียนมาสต๊อคไว้สำหรับผลิตและขายภายในประเทศเป็นหลัก รวมถึงสต๊อคไว้ทำกำไรระยะยาวภายหลังเหตุการณ์คว่ำบาตรเมียนมาคลี่คลายลง

            ทั้งนี้ บริษัทอัญมณีเมียนมาทั้งสามแห่งที่ถูกทางการสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำนั้นถือเป็นแหล่งที่มาของทับทิมและหยกจากเมียนมาส่วนใหญ่ที่ไหลเข้าสู่ตลาดโลก การแบนบริษัททั้งสามแห่งจึงเปรียบเสมือนกับการแบนอัญมณีจากเมียนมาทั้งหมดนั่นเอง ในภาพรวมแล้วรัฐบาลเมียนมาอาจแทบไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรนี้ หากแต่ประเทศที่สามที่นำอัญมณีจากเมียนมาไปผลิตและจำหน่ายต่อ (ซึ่งรวมถึงประเทศไทย) อาจต้องยุ่งยากขึ้นในส่วนที่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานอย่างชัดเจนเพื่อยืนยันถึงแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ (Geographic Origin) เมื่อต้องการส่งออกอัญมณีเจียระไนและเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีไปจำหน่ายยังตลาดสหรัฐฯ และอาจรวมถึงประเทศพันธมิตรอื่นๆ ด้วย

            ในอนาคตอันใกล้ มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ซื้อในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะยิ่งให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อประเด็นการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Sourcing Practices) โดยคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อมและจริยธรรมที่ดี ซึ่งภาคธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมและเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางปฎิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันประชาคมอัญมณีและเครื่องประดับโลกก็อาจหยิบยกเรื่องการเปิดเผยแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์และ/หรือแหล่งที่มาของสินค้าขึ้นหารือและกำหนดแนวทางการปฎิบัติให้เป็นรูปธรรมกันอย่างจริงจัง รวมถึงการเร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น ระบบบล็อกเชน (Blockchain) ใบรับรองทางอิเลคทรอนิคส์ (Digital Certificate) ฯลฯ ที่จะช่วยตอบโจทย์เรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระแสโลกอยู่ในขณะนี้

ข้อมูลอ้างอิง


Global Trade Atlas. Retrieve from https://my.ihs.com/Connect.

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที