จันทร์เพ็ญ จันทนา

ผู้เขียน : จันทร์เพ็ญ จันทนา

อัพเดท: 02 เม.ย. 2007 15.46 น. บทความนี้มีผู้ชม: 28708 ครั้ง

อีกแง่มุมของคนธรรมดาๆ ที่มองว่า บรรษัทภิบาล "ให้" อะไรกับชีวิต, องค์กร และสังคมได้บ้าง...


การบริหารสู่มาตรฐานที่ยั่งยืน

มีคำกล่าวว่า เรือที่จะแล่นออกท้องทะเลกว้าง สู่ทิศทางที่เหมาะสมนั้น จะต้องมีหางเสือที่ดี ในการกำหนดควบคุม หากเปรียบองค์กร หน่วยงานต่างๆ รวมถึงประเทศชาติเป็นดั่งลำเรือ แน่นอนว่า เรือลำน้อยใหญ่เหล่านี้ จะต้องมีหางเสือที่ดีเยี่ยม และแข็งแกร่งเช่นกัน ไม่เช่นนั้น ก็ยากนัก ที่จะฝ่าฟันกับมรสุมคลื่นลม ที่พร้อมจะมีได้ทุกเมื่อ จากทุกทิศทาง

20455_bansat02.jpg

                ประเทศไทยของเรา ณ วันนี้ ถ้าจะเรียกว่า อยู่ในช่วงของการพลิกฟื้นจากคลื่นมรสุมทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนักก็คงไม่ผิด หากแต่การกอบกู้วิกฤติในครั้งนี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขยายโอกาส สู่ความพยายามในการสร้างหางเสือเรือใหม่อย่างจริงจัง โดยหางเสือที่ว่านี้ จะต้องมีคุณค่าและมาตรฐานที่พร้อมสรรพ สามารถรองรับและขยายการพัฒนาในทุกๆ ด้านได้อย่างแท้จริง


               
ประสบการณ์ต่างๆ ในอดีตสอนให้เรารู้ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน คือการพัฒนาสร้างสรรค์ในทุกระบบโครงสร้าง อย่างสอดคล้องและสมดุล การพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยขาดสำนึกในส่วนอื่นๆ เช่น สังคม การเมือง วัฒนธรรม ไม่อาจทำให้องค์กรหรือสังคมใดๆ ก้าวไปได้ไกลนัก  และในทำนองเดียวกัน การพัฒนาชาติที่ยิ่งใหญ่ จะมองข้ามการพัฒนาคน สังคมย่อยๆ หน่วยงาน องค์กร จากเอกชนจนถึงรัฐ ไม่ได้เช่นกัน เพราะองค์ประกอบน้อยใหญ่เหล่านี้ ล้วนคือกลไกสำคัญที่ ผลักดันให้เกิดความจริง จากความฝัน และ เกิดรูปธรรม จากนามธรรมทั้งสิ้น


               
บรรษัทภิบาล คือหางเสือหนึ่งที่มีศักยภาพที่สุดของทศวรรษนี้  เพราะบรรษัทภิบาลคือการกำกับดูแลกิจการในทุกๆ ด้าน ที่ผสมผสานแนวคิดของความเป็นตะวันตกและตะวันออกไว้อย่างลงตัว สอดรับกับแนวความคิดของการรู้เขา รู้เรา อย่างแท้จริง ที่สำคัญ เป็นวิธีการบริหารจัดการ ที่มีจรรยาบรรณและจริยธรรมเป็นปัจจัยสำคัญ การกำกับดูแลกิจการที่ดี ไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยงานที่ย่อยหรือใหญ่  ย่อมเป็นการวางรากฐาน สู่ความเป็นมาตรฐานที่ยั่งยืนและชัดเจน เพราะเมื่อความดีและความสามารถ มาผนวกรวมกันเป็นหนึ่ง ย่อมส่งผลถึงการยอมรับในวงกว้าง และ การแผ้วถาง สร้างลู่ทางการเติบโตพัฒนาใหม่ๆ ก็จะยิ่งกระทำได้ง่ายขึ้นเป็นลำดับ


               
บรรษัทภิบาลหรือ การกำกับดูแลกิจการ ในแง่มุมขององค์กรธุรกิจ ระบุชี้ชัดถึงระบบที่จัดให้มีกระบวนการและโครงสร้างของภาวะผู้นำ และการควบคุมของกิจการให้มีความรับผิดชอบ ตามหน้าที่ด้วยความโปร่งใส  และความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรักษาเงินลงทุน และเพิ่มคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว ภายใต้กรอบการมีจริยธรรมที่ดี โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น และสังคมโดยรวมประกอบ

20455_bansat03.jpg


                เมื่อบรรษัทภิบาล คือจรรยาบรรณของคนทำธุรกิจ ที่ใส่ใจหลักคุณธรรม ควบคู่ไปกับความอยู่รอด และการเติบโตขององค์กร สังคม จนถึงประเทศชาติ วิธีการปฏิบัติที่จะนำสู่การเข้าถึงเป้าหมายดังกล่าว ของแต่ละหน่วยงาน องค์กรย่อมมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันบ้าง ตามตัวแปรและปริบทแวดล้อมที่เฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม แนวทางพื้นฐานทั่วไปอันเป็นลักษณะร่วม ก็ต้องมีเช่นกัน แนวทางเหล่านั้น โดยสรุปได้แก่

-          กำหนดภารกิจของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนและขจัดความไม่โปร่งใสในการทำงาน เพราะความแข็งแกร่งและการเติบโตใดๆ ล้วนเกิดจากการวางโครงสร้างรากฐานต่างๆ อย่างถูกที่ถูกทาง เมื่อฐานแข็งแรงและมีระบบระเบียบที่ดี การต่อยอดที่จะเกิดขึ้นภายหลัง ย่อมสามารถทำได้อย่างเต็มศักยภาพ

-          การปฏิบัติงานด้วยความตระหนักในหน้าที่อย่างแท้จริง เมื่อนโยบายมีความชัดเจน การปฏิบัติตามนโยบายนั้นได้อย่างสมบูรณ์ ย่อมเป็นการสะท้อนถึงประสิทธิภาพและความรับผิดชอบของบุคคลในบทบาทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

-          ปฏิบัติและดูแล ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม นโยบายการบริหารจัดการนี้ มีขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจในฝายใดฝ่ายหนึ่ง โดยความเป็นธรรมดังกล่าว ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางของการประกอบธุรกิจ จนไปถึงปลายทาง  การปฎิบัติดูแลที่ดี เกิดจากความเข้าใจที่ทะลุ ว่าบุคคลต่างๆ มีความต้องการแตกต่างกันอย่างไร แล้วให้คำตอบที่ดีสำหรับทุกฝ่ายได้ เช่น ผู้ถือหุ้น ต้องการเงินปันผลที่สูงขึ้น, ผู้บริโภคต้องการคุณภาพของสินค้าและบริการที่ดี ในราคาที่ถูก, พนักงานต้องการผลประโยชน์ตอบแทนที่สูง รวมถึงการได้โอกาสการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า, สังคม ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากมลพิษและการดูแลโอบอุ้ม เป็นต้น

-          ดำเนินงานอย่างโปร่งใส เพราะความโปร่งใส คือหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล การบริหารงานในข้อนี้ ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ทันเวลา และมีระบบที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ซึ่งจะส่งผลให้ ผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า สถาบันการเงิน และนักลงทุนต่างๆ มีความเชื่อถือศรัทธามากขึ้น องค์กรสามารถหาพันธมิตทางธุรกิจได้ง่าย ส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจในที่สุด

-          ดำเนินธุรกิจแบบมีวิสัยทัศน์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว มากกว่าการหวังผลกำไรชั่วครั้งชั่วคราว หรือเฉพาะหน้า เพราะสุภาษิตไทยแท้แต่โบราณ “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” ยังสามารถใช้ได้เสมอ ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหน ที่สำคัญ การดำเนินธุรกิจด้วยการคิดไกล มองไกล จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างรัดกุมและแผ่ขยายอย่างมีทิศทาง

-          ส่งเสริมให้การปฏิบัติงานทุกด้าน มุ่งสู่ความเป็นเลิศ เพราะตราบใดที่เครื่องจักรที่ใหญ่ เกิดจากฟันเฟืองภายในแต่ละส่วนทำหน้าที่ดีที่สุด การให้ความสำคัญกับองค์ประกอบในทุกๆ จุด พร้อมผลักดันสู่ความเป็นเลิศอย่างจริงจัง  ผลสรุปที่ได้ ก็จะต้องเป็นความสำเร็จที่สดใส น่าภาคภูมิใจอย่างแน่นอน ประการสำคัญ ความสำเร็จในองค์กรเอง จะเป็นพลังขับเคลื่อน ที่ทำให้องค์กรนั้น อยู่รอดได้ในทุกสภาวการณ์การแข่งขัน ท้ายที่สุด เมื่อเมื่อมีองค์กรเช่นนี้มากขึ้น ก็จะทำให้ภาพรวมของประเทศไทย เป็นตลาดที่น่าลงทุนที่สุด

20455_bansat01.jpg

พิจารณาอย่างลึกซึ้ง ในแง่ของการบริหาร บรรษัทภิบาล เป็นแนวทางที่มีความสอดคล้องลงตัวกับกลยุทธ์อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหากว่า องค์กรต่างๆ มีความคุ้นชินอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะคัดสรรมาปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างแนวทางของบรรษัทภิบาล ให้มีความกระจ่างชัดขึ้นและ ถึงฝั่งของความสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น  ประการสำคัญ จะนำมาสู่ความเข้าใจแบบเข้าถึง ว่าแท้จริงแล้ว บรรษัทภิบาล คือแนวทางการบริหารที่มีศักยภาพ ชอบธรรม และไม่ได้ไกลไปจากหลักการการบริหารอันดีงามที่ผู้อยู่ในแวดวง องค์กรธุรกิจพึงปฏิบัติเลย


ตัวอย่างของแนวทางการบริหารที่ส่งเสริมความเป็นบรรษัทภิบาล เช่น การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ โดยวิธีการปลีกย่อย ตามหลักการต่างๆ เช่น การใช้ระบบ
Q.C. (Quality Control) ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมคุณภาพด้วยกระบวนการสร้างคุณภาพของสินค้าและบริการให้สำเร็จตามที่ได้วางแผนไว้, การใช้ระบบ TQM (Total Quality Management) หรือระบบการบริหารเชิงคุณภาพรวม อันได้แก่การจัดระบบและวินัยในการทำงานเพื่อป้องกันความผิดพลาดเสียหาย และมุ่งสร้างคุณค่าในกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน, การใช้มาตรฐาน ISO (International Organization for Standardization) ซึ่งเป็นเรื่องของการประกันคุณภาพในกระบวนการผลิต, การใช้แนวคิด Benchmarking เพื่อรู้เขารู้เราและพัฒนาองค์กรของตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นต้น หลากหลายวิธีการเหล่านี้ จะทำให้องค์กรนั้นๆ เปี่ยมด้วย “คุณภาพ” ตามแนวทางของบรรษัทภิบาลเช่นกัน

                การใช้ภูมิปัญญาไทย ในลักษณะคิดแบบสากล ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง ที่สอดรับและไปกันได้ดี กับหลักการของบรรษัทภิบาล เพราะแนวคิดนี้ เป็นการแสวงหาคุณค่าที่ซ่อนเร้นอยู่ของคน พร้อมๆ กับแสวงหาจุดแข็งของสังคมนั้นๆ ซึ่งอาจจะหมายรวมถึงชุมชนหนึ่ง องค์กรหนึ่ง แล้วส่งเสริมให้ถึงขีดสุด เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานของสากล เรียกง่ายๆ ว่า นำเอกลักษณ์ที่มีมาผสานกับหลักการที่ดี ปรับปรนเป็นความลงตัว ให้องค์กรได้มีโอกาสเติบโตอย่างแตกต่าง

20455_bansat05.jpg

               
วิถีที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง ในลักษณะที่ว่า เป็นแนวความคิดพื้นฐานใกล้ตัว แต่เรามักมองข้าม ก็คือ แนวทางแห่งการยึดถือในสถาบันทั้งสาม คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เข้าใจโดยง่าย คือ ในการยึดถือความเป็นชาตินั้น หากแนวความคิดการจัดการบริหารของเรา มองภาพและผลรวมในแง่ความมั่นคงของทั้งประเทศ กระบวนการต่างๆ ย่อมสร้างขึ้นเพื่อให้บรรลุถึงภาพใหญ่นั้น ชาติอยู่ได้ เศรษฐกิจของชาติไปได้ด้วยดี องค์กรหนึ่งๆ ก็มีโอกาสเติบโตพัฒนา ในทำนองเดียวกัน ถ้าทุกองค์กรดี มีมาตรฐาน รวมพลังกันก็จะเป็นความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือของประเทศไทยทั้งประเทศ เช่นเดียวกัน การมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่ว่าศาสนาใด จะทำให้การดำเนินธุรกิจมีกรอบของจริยธรรมอันดีเป็นตัวควบคุม ความโปร่งใส ความยุติธรรมก็จะบังเกิด และความเชื่อมั่นศรัทธาจากนานาประเทศก็จะตามมา 

20455_bansat04.jpg

            ท้ายที่สุด แต่ว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง คือการเดินตามรอยพระยุคลบาท องค์พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของเรา แนวพระราชดำริหลากหลายที่ทรงมอบไว้ให้แก่พสกนิกร เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น น่าจะเป็นแบบอย่างอันดียิ่งสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งครอบคลุมทั้งการดำรงชีวิตและดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การรู้รักสามัคคี, แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง, การส่งเสริมให้คนดีได้มีโอกาสเป็นผู้นำ, ความเข้าใจและห่วงใยในทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นความดีงาม ที่หากนำมาเป็นแสงส่องทาง ก็จะสร้างความสว่างไสวรุ่งเรืองให้ทั้งบุคคล หน่วยงาน องค์กร รัฐ และ ชาติประเทศ


                   บรรษัทภิบาล เป็นคำตอบของความมั่งคั่ง มั่นคงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง การผลักดันให้คนของเรา องค์กรธุรกิจของเรา จนถึงชาติของเราเข้าถึงและบรรลุเป้าหมายของความเป็นบรรษัทภิบาล อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างไรก็ตาม หากเรามีความศรัทธาในหลักการ ความแน่วแน่ชัดเจนในการบริหาร พร้อมๆ กับความจริงจังในขั้นของปฏิบัติ บรรษัทภิบาลจะเป็นคำตอบที่ดีของทั้งความสำเร็จและความสุขได้อย่างแน่นอน


                
  ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา เชื่อว่า ด้วยหางเสือบรรษัทภิบาล จะสามารถกำหนดทิศทาง นำนาวาลำใหญ่ ที่ชื่อว่าประเทศไทย แล่นไปถึงฝั่งแห่งความสำเร็จที่งดงามอย่างที่สุดได้อย่างแน่นอน


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที