การศึกษาถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและการซื้อแหวนหมั้นของคู่รักเมื่อไม่นานมานี้ได้แสดงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกต่อการขอแต่งงาน โดยระบุว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการขอแต่งงานเกือบครึ่งหนึ่งในปี 2020 อย่างไรก็ดี สถานการณ์กลับส่งผลดีต่อการซื้อแหวนหมั้นในร้านขายเครื่องประดับอิสระ
ที่มา: http://www.convencaobwt.com.br/
การวิจัย Jewelry & Engagement Study ประจำปี 2020 ซึ่งจัดทำโดย The Knot เว็บไซต์ด้านการวางแผนแต่งงาน เผยว่า โควิด-19 สร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ที่วางแผนจะแต่งงาน อันรวมถึงข้อจำกัดในการเลือกซื้อเครื่องประดับหมั้นด้วยตนเอง ตลอดจนการวางแผนขอแต่งงานภายในระยะเวลาที่สั้นลงเพื่อให้ทันกับสถานการณ์การระบาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
จากการศึกษาคู่รักที่เพิ่งหมั้นในสหรัฐกว่า 5,000 คน (หมั้นระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน 2020) ยังพบด้วยว่าการซื้อแหวนในปี 2020 ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม แต่การระบาด สภาพเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนในอนาคตกลับไม่ส่งผลต่อการใช้จ่ายเพื่อซื้อแหวนหมั้นสำหรับคู่รักที่กำลังจะแต่งงานส่วนใหญ่ (ราวร้อยละ 86)
รายงานระบุว่าราคาแหวนหมั้นที่คนอเมริกันซื้อโดยเฉลี่ยเปลี่ยนแปลงไปน้อยมากในปี 2020 กล่าวคืออยู่ที่ 5,500 เหรียญสหรัฐจากเดิม 5,900 เหรียญสหรัฐในปี 2019 โดยคู่รักส่วนมากนิยมเลือกซื้ออัญมณีเม็ดกลางประดับแหวนเป็นรูปทรงกลม (ร้อยละ 43) ทรงวงรี (ร้อยละ 15) และทรงสี่เหลี่ยม (ร้อยละ 13) รวมทั้งยังนิยมแหวนที่ทำด้วยทองขาวมากที่สุด (ร้อยละ 48) รองลงมาคือ ทองสีเหลือง (ร้อยละ 16) ทองสีชมพู (ร้อยละ 13) และแพลทินัม (ร้อยละ 13) สำหรับการเลือกซื้อแหวนหมั้นจะพิจารณาจากสไตล์และการออกแบบแหวน รูปทรงของอัญมณีเม็ดกลาง และประเภทของอัญมณีเป็นสำคัญ นอกจากนี้ คู่รักราวร้อยละ 48 ยังเลือกซื้อแหวนที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 การซื้อแหวนหมั้นก็ยังคงเป็นกิจกรรมที่เป็นการตัดสินใจร่วมกันสำหรับคู่รักส่วนใหญ่ โดยผู้รับคำขอแต่งงานร้อยละ 72 ระบุว่าตนเองมีส่วนร่วมในการเลือกแหวนหมั้น ในขณะเดียวกัน ผู้ขอแต่งงานร้อยละ 83 กล่าวว่าตนเองรู้สึกถึงแรงกดดันในการเตรียมการขอแต่งงานให้มีเอกลักษณ์แตกต่าง (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 75 ในปี 2019) และผู้ขอแต่งงานราวครึ่งหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงแผนการเดิมด้วยสาเหตุจากการระบาด ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสถานที่ (ร้อยละ 67) เปลี่ยนวัน (ร้อยละ 63) ไปจนถึงการให้บุคคลใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วม (ร้อยละ 52)
The Knot พบว่าผู้ขอแต่งงานหลายรายใช้แหล่งข้อมูลทางออนไลน์ตลอดกระบวนการเนื่องจากมีความกังวลในเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาหาข้อมูลแหวนหมั้นทางออนไลน์เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 33) การติดต่อร้านเครื่องประดับผ่านโซเชียลมีเดีย (ร้อยละ 11) หรือการใช้เครื่องมือเสมือนจริงเพื่อการปรึกษาทางออนไลน์ (ร้อยละ 10)
แบรนด์ Above Diamond
ด้วยเหตุนี้ การซื้อแหวนหมั้นในสหรัฐตลอดช่วง 9 เดือนดังกล่าวจึงเกิดขึ้นทางออนไลน์คิดเป็นเกือบ 1 ใน3 แม้ว่าการซื้อส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63) ยังคงเป็นการซื้อด้วยตนเองที่ร้านเครื่องประดับท้องถิ่นหรือร้านเครือข่ายขนาดใหญ่
เนื่องจากมีการเว้นระยะห่างทางสังคมและจำกัดจำนวนการนัดลูกค้าเข้ามาที่ร้าน จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่จำนวนลูกค้าที่เข้าร้านจะลดลง ผู้ขอแต่งงานไปดูเครื่องประดับที่ร้านน้อยแห่งลงในปี 2020 (ไปดู 2 แห่งโดยเฉลี่ย ลดลงจาก 3 แห่งในปี 2019) และเลือกดูแหวนก่อนตัดสินใจซื้อเป็นจำนวนน้อยวงลงอย่างเห็นได้ชัด (ดู 8 วง ลดลงจาก 15 วงในปี 2019) จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนหันมาศึกษาข้อมูลและซื้อแหวนหมั้นผ่านทางออนไลน์ในช่วงการระบาด อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วการซื้อก็ยังคงเกิดขึ้นที่ร้านเครื่องประดับมากกว่า ฉะนั้น ผู้ขายเครื่องประดับจึงควรเร่งทำกลยุทธ์การตลาดแบบออฟไลน์ควบคู่กับออนไลน์ เน้นประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อดึงดูดลูกค้าที่ยังคงนิยมลองสวมใส่เครื่องประดับ พร้อมพิจารณาดีไซน์และคุณภาพสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อเข้ามาเลือกสรรเครื่องประดับที่หน้าร้านมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที