GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 26 ม.ค. 2021 14.21 น. บทความนี้มีผู้ชม: 852 ครั้ง

ความเจริญและวัฒนธรรมจากต่างชาติที่เข้าสู่เมียนมาจากการเปิดประตูประเทศสู่การค้าเสรี และอิทธิพลของกระแสเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยกระตุ้นให้ชาวเมียนมาปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตจากเดิมไปเป็นในลักษณะสังคมเมืองมากขึ้น ทำให้ชาวเมียนมายุคใหม่มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ มากนัก โดยเฉพาะความต้องการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์มากกว่าปัจจัยสี่ ซึ่งในบทความนี้จะพาไปดูว่าไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมายุคใหม่เป็นอย่างไรบ้าง และยังต้องการซื้อเครื่องประดับทองตามวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณหรือไม่ ติดตามได้ในบทความนี้


อินไซต์การซื้อเครื่องประดับกับไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมายุคใหม่

            นับตั้งแต่เมียนมาเปิดประตูสู่โลกกว้างตั้งแต่ปี 2553 เพื่อปรับตัวเข้าสู่เวทีโลก ยังถือเป็นการเปิดประเทศรับความทันสมัยต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาอีกด้วย ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวเมียนมาพัฒนาเข้าสู่รูปแบบสังคมเมืองมากขึ้น อาทิ การชอปปิงและรับประทานอาหารในห้างสรรพสินค้า การซื้อสินค้านำเข้าหรือสินค้าแบรนด์เนม และการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนโซเชียลมีเดียที่กำลังเป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดี อัญมณีและเครื่องประดับที่อยู่เคียงคู่ในสังคมเมียนมามาอย่างยาวนานยังคงเป็นสินค้าที่ชาวเมียนมาต้องการ แต่รูปแบบหรือการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของชาวเมียนมายุคใหม่จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้

สังคมใหม่ของเมียนมา

            เศรษฐกิจของเมียนมาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังจากเปิดประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และมีระบบเศรษฐกิจที่เน้นตลาดเสรี อีกทั้งยังมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจของหลายๆ เมืองในเมียนมาเติบโตขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของประเทศ เนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ หรือ มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม เป็นต้น ก่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้า อุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจบริการ ส่งผลต่อความต้องการแรงงานมากขึ้น และนำไปสู่การย้ายถิ่นเข้าเมืองของประชากรในชนบท เพื่อแสวงหารายได้ และคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น โดยการเข้าสู่การเป็นลูกจ้างประจำ รับเงินเดือนหรือรายได้ที่แน่นอนจากโรงงานหรือบริษัท ทำให้ชาวเมียนมาต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตจากเดิมไปเป็นในลักษณะสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น

            นอกจากนี้ อิทธิพลของกระแสเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เมียนมาเข้าสู่สังคมเมืองมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับเมียนมา ส่งผลให้วิถีชีวิตชาวเมียนมายุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคคล้ายคลึงกับผู้คนในเมืองใหญ่ๆ ในอาเซียน อาทิ กรุงเทพฯ จาการ์ตา และกัวลาลัมเปอร์ เป็นต้น ปัจจุบันชาวเมียนมาอาศัยและทำงานอยู่ในเมืองถึงราวร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด1  หรือราว 16.35 ล้านคน โดย World Bank คาดการณ์ว่าชาวเมียนมาจากชนบทประมาณ 7.1 ล้านคน2  จะย้ายเข้าไปอาศัยและทำงานในเขตเมืองภายในปี 2593 สะท้อนให้เห็นว่า สังคมเมืองในเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ภาพบรรยากาศในย่าน China Town ในเมืองย่างกุ้ง

 

ไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมายุคใหม่

            ไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมายุคสังคมเมืองในปัจจุบันได้ผันแปรไปตามกระแสโลกเป็นอย่างมาก ประกอบกับรายได้ที่มีมากขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ชาวเมียนมายุคใหม่จึงมักต้องการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์มากกว่าปัจจัยสี่ สำหรับไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมายุคใหม่ สรุปดังนี้

             การเดินห้างสรรพสินค้าช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์  ในอดีตชาวเมียนมาจะเดินซื้อสินค้าหรือรับประทานอาหารตามตลาดท้องถิ่น แต่เมื่อมีห้างสรรพสินค้าทั้งของชาวเมียนมาและชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง ชาวเมียนมามักพากันไปเดินในห้างสรรพสินค้าโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จะคึกคักเป็นพิเศษ มีทั้งครอบครัวที่พาลูกไปเล่นโซนเด็กเล่น (Kid Zone) ส่วนศูนย์อาหาร ร้านอาหาร ร้านชา/กาแฟ ก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย นอกจากการใช้บริการต่างๆ แล้ว ชาวเมียนมาก็จะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ต และซื้อสินค้าตามร้านหรือเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าด้วย แม้ว่าการซื้อสินค้าผ่านห้างสรรพสินค้าในปัจจุบันจะยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้มีฐานะดีและคนรุ่นใหม่มักจะซื้อสินค้าผ่านห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก เพราะมั่นใจในคุณภาพ มีบริการที่ดี มีความทันสมัย และสะดวกสบาย

            ทั้งนี้ Myanmar Survey Research ระบุว่า การค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์การค้าคิดเป็นร้อยละ 10-20 ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด โดยศูนย์การค้าเหล่านี้เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่และครอบครัวที่ต้องการสถานที่พักผ่อนและบริการด้านบันเทิง

ห้าง Junction city ในย่างกุ้ง

ภาพ: Facebook ไทย - พม่า : เพราะแผ่นดินเราติดกัน

            การซื้อสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ ชาวเมียนมามีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จึงไม่ได้ซื้อเพียงแค่สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอีกต่อไป หากแต่ต้องการสินค้าที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์มากขึ้น แม้ว่าจะต้องจ่ายเงินมากขึ้นก็ตาม เช่น ปัจจุบันชาวเมียนมายุคใหม่ให้ความใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น จึงเปลี่ยนจากการใช้แค่แป้งทานาคาทาหน้ามาเป็นการซื้อสินค้าบำรุงผมและบำรุงผิวมากขึ้นทั้งในกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มผู้ชาย หรือการยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเพื่อเข้าไปดื่มชาหรือกาแฟในร้านชื่อดัง จากเดิมที่นั่งอยู่ตามร้านริมถนน โดยร้านกาแฟแบรนด์ดังจากต่างประเทศที่ให้บริการในเมียนมา อาทิ True Coffee, Black Canyon, Amazon และ Coffee Bean & Tea Leaf เป็นต้น ส่วนชานมไข่มุกกลายเป็นเครื่องดื่มสุดฮิตที่คนทุกเพศ ทุกวัยชื่นชอบ ส่งผลให้มีจำนวนร้านชานมไข่มุกเพิ่มมากขึ้น โดยแบรนด์จากต่างประเทศ อาทิ KOI THE, Chatime และ Tiger Sugar เป็นต้น

ลูกค้าในร้าน KOI THE ในห้าง Junction city

ภาพ: https://th.foursquare.com

            อีกทั้งวิถีชีวิตสังคมเมืองที่ประชาชนมีความเร่งรีบมากขึ้น ทำให้อาหารจานด่วนหรือ Fast Food เป็นที่นิยมมากขึ้นเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วโลก โดยอาหาร Fast Food ชื่อดังจากต่างประเทศที่เปิดดำเนินการหลายสาขาในเมียนมา เช่น KFC, Pizza Hut, Lotteria และ CP Five Star เป็นต้น

            นอกจากนี้ ชาวเมียนมายังยอมใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อแลกกับประสบการณ์ใหม่ๆ ส่งผลให้ชาวเมียนมาที่มีฐานะดีและกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มออกไปเที่ยวนอกประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียอย่างไทยและเวียดนาม เป็นต้น

            การซื้อสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้านำเข้า ปัจจุบันชาวเมียนมาหันมาใส่ใจภาพลักษณ์และใช้สินค้าที่แสดงฐานะทางสังคม รวมถึงต้องการสินค้าคุณภาพดี และเชื่อว่าสินค้าแบรนด์เนมและสินค้านำเข้าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าสินค้าในประเทศ ชาวเมียนมารุ่นใหม่หรือผู้มีฐานะดีจึงนิยมใช้สินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้านำเข้าไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว นาฬิกา หรือรถยนต์หรู ส่งผลให้แบรนด์หลายรายเห็นโอกาสเติบโตจึงทยอยเข้าไปบุกตลาดเมียนมา อาทิ ค่ายรถยนต์ที่เปิดโชว์รูมให้บริการในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง เช่น Jaguar Land Rover, BMW และ Mercedes-Benz เป็นต้น สินค้าเกี่ยวกับเสื้อผ้าอย่าง Adidas, Esprit และ Wacoal เป็นต้น นาฬิกาหรูหลากหลายแบรนด์ เช่น Franck Muller, Rolex และ Omega เป็นต้น แบรนด์เครื่องประดับต่างชาติที่เข้าไปเปิดร้านจำหน่ายในเมียนมา ได้แก่ Pandora และ VES ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างคนไทยกับชาวเมียนมาเปิดบริษัทในชื่อ Myanmar VES Joint Venture Co., Ltd. ทำการผลิตและจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีในเมียนมา เป็นต้น

ร้านนาฬิกา Franck Muller ในโรงแรม Sedona 

ภาพ: https://www.eatlovesavor.com/ franck-muller-opens-first-luxury-boutique-yangon-myanmar/

            ด้วยชาวเมียนมาชื่นชอบสินค้าของไทยแทบทุกชนิด รวมถึงเครื่องประดับของไทยทั้งในแง่ของลวดลาย คุณภาพ และมาตรฐานของสินค้า จึงทำให้มีชาวเมียนมาที่อยู่ติดชายแดนของไทยจำนวนมากเดินทางข้ามชายแดนมายังไทยโดยเฉพาะที่อำเภอแม่สอดที่เป็นด่านติดกับเมืองเมียวดี ซึ่งสามารถเดินทางระหว่างกันได้สะดวกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เพื่อเข้ามาซื้อเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเพชรเพื่อสวมใส่ เก็บสะสม รวมถึงนำไปจำหน่ายต่อในเมียนมา สำหรับความนิยมซื้อเครื่องประดับไทยของชาวเมียนมา สะท้อนให้เห็นจากป้ายร้านค้าทองและเครื่องประดับไทยที่อยู่ติดชายแดนเมียนมาส่วนใหญ่ที่มักจะเขียนชื่อร้านเป็นภาษาเมียนมาควบคู่กับภาษาไทย นอกจากนี้ ชาวเมียนมาจำนวนไม่น้อยยังเดินทางเข้ามาซื้ออัญมณีและเครื่องประดับในกรุงเทพฯ เพื่อนำไปจำหน่ายในร้านค้าของตนเองและจำหน่ายต่อร้านค้าปลีกเครื่องประดับอื่นๆ ในเมียนมาอีกด้วย

            การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และโซเชียลมีเดีย ชาวเมียนมายุคใหม่ก็เหมือนกับคนทั่วโลกที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น ต้องมีสมาร์ทโฟนตลอดเวลาสำหรับเข้าใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ปัจจุบันเมียนมามีประชากร 54.49 ล้านคน แต่ใช้โทรศัทพ์มือถือจำนวน 68.24 ล้านเครื่อง3  (ใช้สมาร์ทโฟนราวร้อยละ 90) มีจำนวนผู้เข้าใช้อินเทอร์เน็ตราว 25 ล้านคน (ส่วนใหญ่ใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ) และมีผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียจำนวน 22 ล้านคน4  โดยสื่อโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ Facebook (ร้อยละ97.84) Pinterest (ร้อยละ 0.93) Youtube (ร้อยละ 0.55) Twitter (ร้อยละ 0.35) และ Vkontakte (ร้อยละ 0.29) อีกทั้งหันมาใช้แอพพลิเคชั่นโซเชียลกันอย่างแพร่หลาย สำหรับไว้ติดต่อสื่อสารระหว่างกัน แทนการโทรศัพท์หากันแบบเดิม เช่น Messenger, Viber และ Line เป็นต้น 

            นอกจากนี้ การซื้อสินค้าออนไลน์ในเมียนมาก็มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ชาวเมียนมาหันมาซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น โดยช่องทางการค้าออนไลน์ยอดนิยมในเมียนมา ได้แก่ Facebook, Shop.com.mm, Barlolo.com, Spree.com.mm และ Baganmart.com ทั้งนี้ อินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลต่อนักช้อปชาวเมียนมาในการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอย่างมาก

เว็บไซต์ Shop.com.mm

การบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับของชาวเมียนมายุคใหม่

            การเปิดรับสิ่งใหม่ด้วยกระแสจากภายนอก ทำให้ไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมาเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย แต่ในเรื่องของการแต่งกายนั้น ยังเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยชาวเมียนมาส่วนใหญ่ยังคงสวมโสร่งและนุ่งผ้าซิ่น แต่ก็เริ่มเห็นคนรุ่นใหม่สวมใส่กางเกงและเสื้อผ้าแบบตะวันตกมากขึ้น ในส่วนของการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับของชาวเมียนมายุคใหม่ อาจจำแนกได้ดังนี้

            ชาวเมียนมาเกือบทุกคนหากมีรายได้มากพอจะต้องการซื้อเครื่องประดับทอง 24K เพื่อการออม การลงทุน และสวมใส่แสดงฐานะทางสังคม

            ชาวเมียนมาผู้หญิงฐานะดีเมื่อออกงานสังคมมักจะสวมใส่เครื่องประดับทองตกแต่งพลอยสี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทับทิมและแซปไฟร์ เครื่องประดับเพชร และเครื่องประดับไข่มุก แบบครบชุดทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน และต่างหู บางรายก็ติดเข็มกลัดพลอยสีหรือเพชรด้วย ส่วนผู้ชายฐานะดีจะนิยมสวมแหวนทองตกแต่งทับทิมและแซปไฟร์หรือแหวนเพชร และสวมใส่นาฬิกายี่ห้อหรูหรือนาฬิกาทองคำแท้ ส่วนในชีวิตประจำวันพวกเขาจะสวมใส่เครื่องประดับทองทั้งตกแต่งและไม่ตกแต่งอัญมณีชิ้นเล็ก 1-2 ชิ้นเท่านั้น

            ชาวเมียนมาวัยทำงานส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่มักสวมใส่เครื่องประดับ ส่วนมากจะเลือกใส่เครื่องประดับชิ้นเล็กเพียง 1-2 ชิ้น ได้แก่ เครื่องประดับทองล้วนหรือเครื่องประดับทองพร้อมจี้ทับทิมหรือแซปไฟร์ หรือต่างหูทองทั้งตกแต่งและไม่ตกแต่งพลอยสี หรือกำไลข้อมือ

            ชาวเมียนมาวัยรุ่นจะชอบสวมใส่เครื่องประดับแฟชั่นและเครื่องประดับเงิน เพราะราคาไม่แพงและเปลี่ยนแปลงได้บ่อยตามแฟชั่น อีกทั้งยังสามารถใส่เข้ากับเสื้อผ้าแบบสมัยใหม่ได้มากกว่าเครื่องประดับชนิดอื่นๆ

บน: ไฮโซเมียนมาเข้าร่วมงานพิธีประกาศเกียรติคุณ ผู้บริจาคเพื่อการกุศลและบำรุงพุทธศาสนา

ภาพ: https://www.thebangkokinsight.com/307692/

ล่าง: สาวเมียนมารุ่นใหม่วัยทำงาน ภาพ: https://www.pinterest.com/pin/714805772085525077/

            สำหรับการซื้อเครื่องประดับแท้ ชาวเมียนมาส่วนใหญ่จะซื้อกับร้านค้าปลีกเครื่องประดับที่ซื้อขายกันมานาน ซึ่งร้านค้าปลีกเครื่องประดับจะกระจายอยู่ตามเมืองสำคัญต่างๆ ของประเทศ โดยบริเวณตลาดสก๊อตเป็นแหล่งค้าอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองย่างกุ้งและในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าปลีกเครื่องประดับจำนวนมากตั้งอยู่ในย่านถนนและย่านท่องเที่ยวที่สำคัญ ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีร้านค้าเครื่องประดับชั้นนำของเมียนมาหลายรายได้ขยายสาขาไปเปิดในห้างสรรพสินค้าด้วย เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ชอบความสะดวกสบาย ส่วนเครื่องประดับแฟชั่นก็หาซื้อได้ตามร้านค้าปลีกในศูนย์การค้าและร้านค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น

บน: ร้านเครื่องประดับในตลาดสก็อต

ล่าง: แบรนด์เครื่องประดับ Rose Mary Jewelry ในห้าง Parkson

 

การเข้าสู่ตลาดเครื่องประดับในเมียนมา 

            ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ เมียนมามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจราวร้อยละ 6-8 และมีประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูงเพิ่มขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคของคนเมียนมาที่มีการเปิดรับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และนิยมสินค้านำเข้าหรือแบรนด์เนม เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นสินค้าดีมีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์เครื่องประดับต่างชาติในตลาดเมียนมาเพียงไม่กี่ราย และจากการที่ชาวเมียนมาคุ้นเคยกับสินค้าไทยมาอย่างยาวนาน และชื่นชอบเครื่องประดับไทยด้วยความไว้วางใจในคุณภาพสินค้า รวมถึงดีไซน์ที่มีความสวยงาม และประณีต จึงเป็นโอกาสดีของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในการเข้าไปเจาะตลาดเมียนมา ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเร่งบุกเข้าสู่ตลาดนี้ โดยอาจเริ่มด้วยการส่งสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายในเมียนมา หรือกลุ่มผู้ค้าชายแดนในประเทศไทย เมื่อเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของชาวเมียนมาเป็นอย่างดีแล้ว และมีเงินทุนมากพอสมควรก็อาจเข้าไปเปิดร้านค้าปลีกเครื่องประดับในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากและมีการขยายตัวสูง รวมถึงช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยอาจขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือในเมียนมาอย่าง Shop.com.mm เป็นต้น

            ทั้งนี้ ก่อนเข้าตลาดเมียนมา ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจด้านกฎหมายการค้า ภาษี การขนส่ง การตั้งราคาที่เหมาะสม และการส่งเสริมการตลาด ตลอดจนช่องทางการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้การเติบโตของการใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียของชาวเมียนมา ทำให้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่อาจพิจารณาใช้ช่องทางเหล่านี้ในการขยายตลาดสินค้าเครื่องประดับเข้าไปในตลาดนี้ โดยการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เน้นการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ Facebook ซึ่งเป็นสื่อที่ชาวเมียนมานิยมใช้เป็นอันดับหนึ่ง อันจะช่วยให้เข้าถึงผู้ซื้อชาวเมียนมาได้จำนวนมาก และมีต้นทุนที่ไม่สูง ซึ่งหากวางแผนกลยุทธ์เจาะตลาดที่ดีและสามารถเข้าสู่ตลาดเมียนมาได้ก่อนคู่แข่ง รวมถึงทำให้เครื่องประดับไทยเข้าไปครองใจชาวเมียนมาได้แล้ว จะส่งผลให้สินค้าไทยขยายตัวในตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว เพราะนิสัยของชาวเมียนมาเมื่อชอบแบรนด์หรือบริษัทใดแล้วก็จะซื้อแบรนด์หรือสินค้าของบริษัทนั้นไปอีกนาน

 

           1 ข้อมูลจาก United Nations รายงานว่าจำนวนประชากรเมียนมา ณ วันที่ 21 กันยายน 2563 อยู่ที่ 54.49 ล้านคน 

           2 Myanmar’s Urbanization: Creating Opportunities for All. Retrieved Sep 10, 2020, from https://www. worldbank.org/en/country/myanmar/publication/myanmars-urbanization-creating-opportunities-for-all

           3 Digital 2020: Myanmar, from https://datareportal.com/reports/digital-2020-myanmar

           4 https://gs.statcounter.com/


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที