ความต้องการเครื่องประดับเงินมีแนวโน้มจะกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2021 โดยคาดกันว่าความต้องการจะสูงขึ้นในตลาดหลัก หลังจากที่อุปสงค์ลดลงในปี 2020 เนื่องจากตลาดเครื่องประดับเงินทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและราคาโลหะเงินที่สูงขึ้น
การใช้โลหะเงินเพื่อการผลิตเครื่องประดับเป็นแหล่งความต้องการสำคัญสำหรับโลหะมีค่าชนิดนี้ รายงาน Silver Jewelry Report จาก The Silver Institute ที่จัดทำโดย Metals Focus ซึ่งเผยแพร่เดือนธันวาคมนี้ ให้ข้อมูลว่าในปี 2019 ภาคอุตสาหกรรมเครื่องประดับใช้โลหะเงินเป็นปริมาณรวม 200.2 ล้านออนซ์ ซึ่งใกล้เคียงกับสถิติสูงสุดที่ 201.9 ล้านออนซ์ในปี 2018 แม้ว่าปัจจุบันการใช้โลหะเงินเพื่อผลิตเครื่องประดับมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 20 ของความต้องการโลหะเงินโดยรวม แต่คาดกันว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มเป็น 1 ใน 4 ของความต้องการโลหะเงินทั่วโลกภายในกลางทศวรรษ 2020 ซึ่งยิ่งเน้นให้เห็นว่าเครื่องประดับเงินได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในหมู่นักออกแบบชั้นนำและผู้บริโภคที่สนใจแฟชั่น
รายงานนี้ระบุว่าในปี 2020 ตลาดเครื่องประดับเงินทั่วโลกได้รับผลกระทบหลักจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อบรรยากาศการซื้อขายโดยรวม และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากมาตรการล็อคดาวน์ อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตเครื่องประดับคือราคาโลหะเงินที่สูงขึ้นเมื่อคิดเป็นหน่วยเหรียญสหรัฐ จนส่งผลให้ราคาโลหะเงินภายในประเทศของหลายประเทศเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับเงินรายใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงไทยด้วย ทั้งนี้ มีประมาณการว่าความต้องการเครื่องประดับเงินทั่วโลกจะลดลงร้อยละ 23 ในปี 2020 แต่ก็มีแนวโน้มที่อุปสงค์เครื่องประดับเงินจะเพิ่มขึ้นในปี 2021 โดยคาดว่าจะฟื้นตัวราวร้อยละ 13 แม้ราคาโลหะเงินน่าจะสูงขึ้นก็ตาม โดยสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวซึ่งจะมาช่วยชดเชยผลจากราคาโลหะเงินที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับความต้องการเครื่องประดับเงินในตลาดสำคัญมีรายละเอียดังนี้
สหรัฐอเมริกา - ความต้องการเครื่องประดับเงินมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 10 ในปี 2021 โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่กลับมาฟื้นตัว และความต้องการนี้ช่วยชดเชยอุปสงค์เครื่องประดับเงินซึ่งคาดว่าจะลดลงร้อยละ 10 ในปี 2020 ภาพรวมในระยะยาวน่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มั่นคงมากขึ้น และระดับการบริโภคเครื่องประดับเงินน่าจะทำสถิติสูงสุดได้ภายในช่วงกลางทศวรรษ 2020
อินเดีย - ความต้องการเครื่องประดับเงินในปี 2020 มีแนวโน้มลดลงถึงจุดต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยคาดว่าจะลดลงถึงร้อยละ 35 ด้วยสาเหตุจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ราคาโลหะเงินในประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี คาดกันว่าอินเดียจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งในปี 2021 และมีแนวโน้มสดใสในช่วงหลังปี 2021 เป็นต้นไป เนื่องจากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น อีกทั้งตลาดก็เปิดรับเครื่องประดับเงินสเตอร์ลิงที่มีความบริสุทธิ์สูงมากขึ้นด้วย
ยุโรป - ความต้องการเครื่องประดับเงินในยุโรปมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 17 ในช่วงปี 2020 ขณะที่ประมาณการในช่วงปีหน้าระบุว่าอุปสงค์เครื่องประดับเงินจะฟื้นตัวร้อยละ 14 เนื่องจากผู้ขายกลับมาสั่งสินค้าเข้าร้านและการบริโภคเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติมากยิ่งขึ้น
เอเชียตะวันออก – คาดกันว่าความต้องการเครื่องประดับเงินในปี 2020 จะลดลงร้อยละ 17 แต่หลังจากนั้นการผลิตเครื่องประดับเงินในเอเชียตะวันออกน่าจะกลับมาแข็งแกร่งในปี 2021 เนื่องจากการฟื้นตัวในตลาดเครื่องประดับไทยและจีนน่าจะช่วยให้ความต้องการกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดในปี 2019
สำหรับช่วงหลังปี 2021 เป็นต้นไป รายงานระบุว่าความต้องการเครื่องประดับเงินทั่วโลกน่าจะกลับมาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลักทุกแห่ง โดยปัจจัยสำคัญคือผลสืบเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้สุทธิและกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วย
ที่มา: https://www.jewellerynet.com
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที