จันทร์เพ็ญ จันทนา

ผู้เขียน : จันทร์เพ็ญ จันทนา

อัพเดท: 28 มี.ค. 2007 11.18 น. บทความนี้มีผู้ชม: 21106 ครั้ง

เขียนถึงวันมาฆะ กะ วาเลนไทน์ในความมุมมอง ส่วนตั๊ว ส่วนตัว


มาฆบูชา...ความรักของพุทธะ



เดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่โดดเด่นและมีความสำคัญเดือนหนึ่งของปี ด้วยว่าเป็นเดือนที่มีจำนวนวันน้อยกว่าเดือนอื่นๆ คือยี่สิบแปดหรือยี่สิบเก้าวันเท่านั้น เวลาของเดือนกุมภาพันธ์ที่เปลี่ยนผันเร็วกว่าปกติ คนส่วนใหญ่มักจะชอบ อย่างน้อยก็ทำให้เงินเดือนออกเร็วขึ้น นอกจากนี้ หากอากาศธาตุไม่แปรปรวนจนเกินไป ในเดือนนี้ เมืองไทยเราก็ยังอยู่ในฤดูหนาวปลายๆ ลมหนาวยังโพยพัดให้เย็นชื่น จึงถือว่าเป็นช่วงที่อากาศดีพอสมควร แต่เหนืออื่นใด ความสำคัญของเดือนกุมภาพันธ์ ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็คือการเป็น “เดือนแห่งความรัก” เพราะมี “วันแห่งความรัก” อยู่วันหนึ่งในช่วงกลางของเดือน วันที่สิบสี่กุมภาพันธ์ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนก็รู้จักว่าเป็น “วันวาเลนไทน์” วันที่ดอกกุหลาบขายดีและขายแพง วันที่มีสีชมพูดและสีแดงตกแต่งทั่วเมือง วันที่งานวิวาห์เกิดขึ้นอย่างเอิกเกริกในหลายๆ ที่ และเป็นวันที่การจดทะเบียนสมรสจะมีมากเป็นพิเศษ

นับวันผ่านปี ภาพวันวาเลนไทน์ที่เป็นอิทธิพลจากตะวันตกยิ่งโดดเด่นชัดเจน และแม้เป็นวันเพียงวันเดียว แต่ก็สามารถครอบครองความหมายของเดือนกุมภาพันธ์ได้ทั้งเดือน จนทำให้หลายคนลืมไปว่า ในเดือนนี้ ยังมีอีกวันหนึ่ง ที่เราควรจะระลึกตระหนักรู้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างแท้จริง “มาฆบูชา” เป็นวันที่มีความหมายและยิ่งใหญ่ในคุณค่ามากกว่าการเป็นเพียงวันหยุดราชการวันหนึ่งเท่านั้น และหากมีการศึกษากันอย่างละเอียดลึกซึ้งแล้ว จะพบว่า วันแห่งความรักที่แท้จริงและยิ่งใหญ่ สำหรับชาวพุทธและมวลมนุษยชาติ ก็คือวันมาฆบูชานี้เอง


กว่าสองพันห้าร้อยปีในสมัยก่อนพุทธกาล ในวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสาม ที่พระจันทร์เต็มดวง วันมาฆบูชาได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมด้วยเหตุการณ์ที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” ประกอบด้วยสิ่งสำคัญและมหัศจรรย์สี่ประการ ประการแรกคือการที่พระภิกษุจำนวนหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบรูปซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสถานที่ต่างๆ ได้เดินทางกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธซึ่งถือเป็นการมาประชุมรวมกันโดยมิได้นัดหมาย ประการที่สองคือพระภิกษุทั้งหมดล้วนบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วทั้งสิ้น ประการต่อมาคือพระภิกษุเหล่านั้น ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระพุทธเจ้าบวชให้ และประการสุดท้ายคือพระจันทร์กำลังเสวยฤกษ์มาฆะ เป็นวันพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสาม ซึ่งถือว่าเป็นเวลาดีที่สุด เพราะเป็นเวลากลางคืนซึ่งอากาศไม่ร้อน พระจันทร์สว่าง ท้องฟ้าแจ่มใส เหมาะอย่างยิ่งแก่การสดับพระธรรมเทศนา

ด้วยองค์ประกอบที่เหมาะสมและสัมพันธ์กันดังกล่าว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้กระทำพิธีสันนิบาตสาวก ประกาศอุดมการณ์ เพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและก่อประโยชน์สุขสูงสุดแก่ชาวโลก ทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถ คือทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาท่ามกลางพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ทั้งปวง ซึ่งโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระบรมศาสดาได้แสดงไว้และเปรียบดังพระธรรมนูญแห่งพระพุทธศาสนานี้ หากพระสงฆ์สาวกและพุทธศาสนิกชนนำมาประพฤติปฏิบัติตามก็จะนำมาซึ่งการพ้นจากทุกข์ สู่ความสงบสุขอย่างแท้จริง




ใจความสำคัญของคำสอนนี้ประกอบด้วย ๑. สัพพปาปัสส อกรณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง ๒. กุสลัสสูปสัมปทา การทำความดีให้ถึงพร้อม ๓. สจิตต ปริโยทปนัง การชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เอตังพุทธานสาสนัง นี่คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า...

แม้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วเนิ่นนาน แต่หากพุทธบริษัทนำเอาพระธรรมคำสอนมาประพฤติปฏิบัติ ก็เหมือนเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไป ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” และถ้าเรานำคำสอนดังกล่าวมาตีความอย่างลึกซึ้ง ก็จะพบว่า เป็นแนวทางที่สร้างสรรค์และกอปรด้วย “ความรัก ความดี และความปรารถนาดี” อย่างแท้จริงเพราะการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทั้งกาย วาจา ใจ การคิดดี พูดดี ทำดี มองโลกในแง่ดี มีจิตใจที่บริสุทธิ์สะอาด ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความสุข ความเป็นมงคล ทั้งต่อบุคคล สังคมย่อย จนถึงสังคมโลก ที่สำคัญ แนวทางนี้ เป็น “สัจธรรม” ที่ยังคงใช้ได้ดี ไม่ว่าในยุคไหนสมัยใดก็ตาม

มิใช่เพียงเนื้อพระธรรมแห่งพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สะท้อนให้เห็นความหมายในแง่ของความรักที่บริสุทธิ์ สร้างสรรค์และงดงาม หากพินิจถึงพุทธจริยวัตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะพบว่าเด่นชัดเช่นกัน ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระองค์ทรงเหนื่อยยากพระวรกายตลอดมา ด้วยความรักที่บริสุทธิ์สูงส่ง หวังให้ชาวโลกได้หลุดพ้นจากกองทุกข์นานาประการ อาจเรียกได้ว่าเป็นความรักที่อยู่บนพื้นฐานของความเมตตา ปราศจากพรมแดนขีดคั่นของชาติชั้นวรรณะ เป็นรักแท้ที่เท่าเทียมและมีความเป็นสากลอย่างแท้จริง

การชุมนุมกันของเหล่าพระอรหันต์ในวัน มาฆปุรณมีบูชาสมัยบรรพกาลก็แสดงให้เห็นถึงความรักในอีกแง่หนึ่ง คือเป็นความรักที่มีความสามัคคี เข้าใจกัน และเห็นพ้องต้องกันในการเผยแผ่พระธรรมคำสอน ประกาศหลักธรรมความดีและโปรดสรรพสัตว์ทั้งมวล ผ่านยุค ผ่านสมัย พระสงฆ์ผู้อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ทั้งหลายก็ยังปฏิบัติภารกิจนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง




ทำความเข้าใจวันมาฆบูชา ด้วยมุมมองของความรัก ผ่านความคิดและวุฒิปัญญา ก็จะเห็นว่า วันมาฆบูชา สมควรที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นวันแห่งความรักที่ “แท้จริง” เพราะเป็นความรักที่ปราศจากเล่ห์หลงกลลวง ปราศจากผลประโยชน์ความเห็นแก่ตัว มีแต่ความเมตตา ปรารถนาดี และความรักชนิดนี้ ก็ยังเป็นความรักที่ “ยิ่งใหญ่” ด้วย เพราะไม่มีกำแพงของชนชั้นวรรณะ ภาษาเชื้อชาติมาขวางกั้น ที่สำคัญ แม้กลไกแห่งเวลาก็ไม่อาจเปลี่ยนความรักนี้ได้ ด้วยว่าเป็นรักที่เป็นสัจธรรม และเป็นอมตะ ไม่ตายไปตามคน ไม่จบไปตามสมัย และจะยังคงดำเนินต่อไปได้ตราบเท่าที่เรายัง “รู้จักที่จะรัก และรักษาความรัก” นี้

การรักษาความรัก การรักษาความดี และการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ดูราวว่าจะสอดคล้อง เป็นไปในทำนองเดียวกัน เราในฐานะพุทธศาสนิกชน เมื่อรู้จักและเข้าใจถึงความรักนี้แล้ว ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่ธำรงความรักให้ต่อเนื่องยืนนาน มิใช่เพียงการทำบุญทำทาน และสรรหาอามิสบูชามาถนอมรักษาความรักเท่านั้น แต่การ “ปฏิบัติบูชา” ดำรงตนให้อยู่ในครรลองของศีลธรรม ดำเนินตามโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาก็ยิ่งนับว่าเป็นสิ่งจำเป็น ปลูกดอกบัวในหัวใจของตนเอง และเผื่อแผ่มอบให้สู่หัวใจคนอื่นๆ ....ก็จะทำให้สังคมที่ล้อมด้วยความรักที่แท้จริงและยิ่งใหญ่นี้ มีความสงบสุขน่าอยู่...มากขึ้นและมากขึ้น


ป.ล. เรื่องทั้งหมดเขียนเอง แต่ภาพประกอบหาจากอินเทอร์เน็ตค่ะ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที