ปันกัน

ผู้เขียน : ปันกัน

อัพเดท: 25 ก.ย. 2006 18.17 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7150 ครั้ง

ข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์ 4 กันยายน 2549 14:10 น.


บอกยี่ห้อ-แนะเครื่องเคียงที่เข้ากัน


ภาพ :: หุ่นยนต์เซียนไวน์รุ่นต้นแบบ ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวเอพี 

      
เอ็นอีซีโชว์โฉมเซียนไวน์ที่สามารถจำแนกได้ว่าไวน์ชนิดใดคุณภาพดีหรือแย่ บอกชื่อยี่ห้อของไวน์ได้ถูกต้องและเครื่องเคียงที่เข้ากับไวน์ตัวอย่าง ถือเป็นการเผยโฉมตัวหุ่นครั้งแรกหลังจากการประกาศความสำเร็จในการพัฒนาเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา
      
       ความสามารถในการจำแนกไวน์ในหุ่นยนต์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือการพัฒนาของนักวิจัยจากเอ็นอีซี (NEC) และมหาวิทยาลัยมิเอะ (Mie University) ประเทศญี่ปุ่น โดยหุ่นยนต์เซียนไวน์นี้สามารถแยกแยะไวน์ได้มากมายหลายสิบชนิด และสามารถแนะนำผู้บริโภคได้ว่าไวน์ชนิดนี้ควรดื่มคู่กับชีสหรือเครื่องเคียงใดจึงจะให้รสชาติที่ดีที่สุด
      
       "ปัจจุบันมีหุ่นยนต์มากมายหลากหลายความสามารถ" ฮิเดโอะ ชิมาสุ (Hideo Shimazu) ประธานศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบของเอ็นอีซี ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมโครงการความร่วมมือระหว่างเอ็นอีซีและมหาวิทยาลัยมิเอะกล่าว "แต่ที่ทำให้เราเน้นเรื่องไวน์ เพราะมันเป็นสิ่งที่ท้าทายจริงๆ"
      
       เอ็นอีซีให้ข้อมูลว่า ความสามารถในการแยกแยะไวน์ของไวน์บ็อท (Winebot) ใช้เวลาพัฒนาทั้งสิ้นราว 2 ปี โดยครั้งนี้เป็นการโชว์ตัวครั้งแรกหลังจากที่เอ็นอีซีเพิ่งประกาศความสำเร็จในการพัฒนาไวน์บ็อทไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ไวน์บ็อทเซียนไวน์รุ่นต้นแบบมาในสีเขียว-ขาว มีดวงตาและศีรษะที่สามารถขยับซ้าย-ขวาได้ และมีริมฝีปากที่จะเรืองแสงขึ้นทันทีที่หุ่นยนต์ส่งเสียงพูด
      
       อย่างไรก็ตาม เอ็นอีซีไม่ได้พัฒนาลิ้นให้ไวน์บ็อทใช้ชิมไวน์โดยเฉพาะ เพราะกระบวนการแยกแยะไวน์ของไวน์บ็อทนั้นไม่ใช่การอมไวน์ในปากเช่นมนุษย์ แต่จะใช้เซ็นเซอร์ที่ปลายแขนซ้ายเป็นเครื่องมือแทน โดยปลายแขนซ้ายของไวน์บ็อทจะติดสเปคโตรเมเตอร์ที่ใช้ลำแสงอินฟราเรดในการวัดและจำแนกเงาสีของไวน์ หุ่นจะจุดแสงอินฟราเรดเมื่อไวน์ถูกวางไว้ในตำแหน่งที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ ลำแสงอินฟราเรดที่สะท้อนกลับจากไวน์จะถูกนำไปจำแนกหาองค์ประกอบทางเคมีของไวน์นั้นๆ
      
       กระบวนการทำงานทั้งหมดเกิดขึ้นในแบบเรียลไทม์
      
       "อาหารทุกอย่างมีข้อมูลเฉพาะของตัวเองเหมือนกับที่คนมีลายนิ้วมือเป็นข้อมูลเฉพาะตัว" ชิมาสุกล่าว "หุ่นยนต์ก็ใช้ข้อมูลนั้นเป็นตัวจำแนก"
      
       เมื่อสามารถจำแนกชนิดของไวน์ได้แล้ว ไวน์บ็อทจะกล่าวข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ออกมาเป็นเสียงเด็ก โดยอาจจะบอกชื่อยี่ห้อหรือความเห็นของไวน์ตัวอย่าง อย่างเช่นชีสหรืออาหารเคียงชนิดใดที่จะทำให้ไวน์ดังกล่าวออกรสชาติเยี่ยมได้เต็มที่
      
       ชิมาสุระบุว่า ไวน์บ็อทสามารถตั้งโปรแกรมตามใจเจ้าของได้ เช่นสามารถบอกได้ว่า ไวน์ตัวอย่างเป็นไวน์ที่เจ้าของชื่นชอบหรือไม่ ทั้งยี่ห้อหรือรสชาติ ซึ่งนอกจากไวน์แล้วไวน์บ็อทยังสามารถจำแนกอาหารอื่นๆได้ด้วย โดยจะสามารถให้ข้อมูลด้านสุขภาพ และเตือนเจ้าของในกรณีที่อาหารนั้นๆมีไขมันหรือมีรสชาติเค็มเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการในหลายกลุ่มตลาดได้
      
       "ราคาจำหน่ายของไวน์บ็อทอาจสูงเท่ากับราคารถยนต์หนึ่งคัน แต่เราพยายามลดราคาลงให้ไม่เกิน 100,000 เยน เพื่อให้ไม่เกินกำลังซื้อของผู้บริโภค" ชิมาสุกล่าวโดยระบุว่ายังไม่มีแผนการวางจำหน่ายที่แน่นอน แม้ว่าการผลิตเซ็นเซอร์สำหรับจำแนกรสชาติอาหารนั้นจะพร้อมทำการตลาดในเชิงพาณิชย์ในปีหน้าแล้วก็ตาม
      
       Company Related Links :
       NEC


ขอขอบคุณข่าวและภาพจาก :: ผู้จัดการออนไลน์


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที