GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 25 ธ.ค. 2020 16.21 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1641 ครั้ง

Jingle bells, jingle bells, jingle all the way! Merry Christmas!!
เทศกาลคริสต์มาส คือเทศกาลแห่งความสุข และการเฉลิมฉลอง การมอบของขวัญ และวันรวมญาติ วันคริสต์มาสนั้นนับเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกวันหนึ่งของเหล่าคริสตศาสนิกชนทั่วโลก เนื่องจากเป็นวันประสูติของพระเยซู สำหรับสิ่งที่สื่อความหมายนึกถึงวันคริสต์มาสนั้นมีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็น ของขวัญ ซานตาครอส ต้นคริสต์มาส ไก่งวง และ ระฆัง โดยชาวคริสต์เชื่อกันว่าเสียงระฆังที่ดังกังวาลนั้นเปรียบได้กับการประทานพรจากพระเจ้า ระฆังจึงถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบแนวคิดในการออกแบบเครื่องประดับเนื่องจากสามารถเชื่อมโยงได้กับการเฉลิมฉลองและความสุข


ลั่นระฆังแห่งความสุข

Jingle bells, jingle bells, jingle all the way! 

        เทศกาลคริสต์มาส (Christmas) คือเทศกาลแห่งความสุข และการเฉลิมฉลอง การมอบของขวัญ และวันรวมญาติ วันคริสต์มาสนั้นนับเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกวันหนึ่งของเหล่าคริสตศาสนิกชนทั่วโลก เนื่องจากเป็นวันประสูติของพระเยซู สำหรับสิ่งที่สื่อความหมายนึกถึงวันคริสต์มาสนั้นมีอยู่มากมายหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น ของขวัญ ซานตาครอส ต้นคริสต์มาส ไก่งวง และ ระฆัง

ระฆังกับศาสนา

        ระฆังนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเชื่อของชาวคริสต์มาอย่างยาวนาน โบสถ์ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมักจะมีหอระฆังและระฆังขนาดใหญ่สำหรับใช้ในพิธีทางศาสนาต่างๆ การลั่นระฆังในโบสถ์ของชาวคริสต์นั้นนอกจากเป็นการเตือนและชักชวนให้เหล่าผู้ศรัทธาเดินทางมายังศาสนสถานเพื่อสวดมนต์ภาวนาและประกอบพิธีมิสซาในทุกวันอาทิตย์แล้ว ยังถูกใช้ในโอกาสสำคัญและวันแห่งการเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น พิธีแต่งงาน และวันคริสต์มาส เป็นต้น โดยชาวคริสต์เชื่อกันว่าเสียงระฆังที่ดังกังวาลนั้นเปรียบได้กับการประทานพรจากพระเจ้า

ความเชื่อและการใช้ประโยชน์

        ว่ากันว่าในยุคที่โลกของเรายังไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือบอกเวลา ระฆังคือสิ่งที่ถูกใช้เพื่อระบุเวลาสำหรับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การตีระฆังเพื่อแจ้งเวลาย่ำรุ่ง หรือเวลาทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นชาวโรมันโบราณยังใช้การลั่นระฆังเพื่อแจ้งให้ชาวเมืองทราบว่าโรงอาบน้ำร้อนสาธารณะของชาวโรมัน หรือที่รู้จักในชื่อของ “Roman Bath” นั้นพร้อมให้บริการแล้ว

ต่างหูทองคำ 18 กะรัต ลงยา ประดับด้วยเพชร

เครื่องประดับโดย: Van Cleef & Arpels

สร้อยข้อมือประดับด้วยชาร์มรูปแบบต่างๆ รวมถึงระฆัง 

เครื่องประดับโดย: Pandora

        

        การห้อยระฆังขนาดเล็กไว้ที่หน้าประตูทางเข้าบ้านคืออีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาอย่างยาวนานของชาวยุโรป พวกเขามีความเชื่อว่าระฆังจะช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจและวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้สามารถแอบเล็ดลอดเข้ามาภายในบ้าน หากมีผู้มาเยี่ยมเยือน เขาหรือเธอจะต้องลั่นระฆังเพื่อเป็นการระบุและยืนยันตัวตนและเรียกให้เจ้าของบ้านยินดีเปิดประตูต้อนรับ ด้วยเชื่อว่าบรรดาอมนุษย์ทั้งหลายไม่สามารถสัมผัสหรือเคาะระฆังได้  

        สำหรับชาวไทยเรานั้นมีความผูกพันกับระฆังมาอย่างยาวนาน ย้อนกลับไปในสมัยกรุงสุโขทัย รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1822-1842) พระองค์ทรงโปรดให้แขวนระฆังไว้ที่หน้าประตูพระราชวังเพื่อให้ราษฎรที่มีเรื่องเดือดร้อนสามารถไปลั่นระฆังร้องทุกข์ โดยพระองค์จะเสด็จมาตัดสินพิจารณาคดีด้วยพระองค์เอง 

ระฆังกับเครื่องประดับ

        ปัจจุบันระฆังถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบแนวคิดในการออกแบบเครื่องประดับอยู่บ่อยครั้ง และก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่นิยมซื้อหาเครื่องประดับรูปทรงนี้เพื่อมอบเป็นของขวัญแก่ผู้อื่นหรือให้กับตัวเองในโอกาสพิเศษต่างๆ เนื่องจากระฆังสามารถเชื่อมโยงได้กับการเฉลิมฉลอง และความสุข นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นเครื่องรางเพื่อคุ้มครองผู้เป็นเจ้าของให้รอดพ้นจากอันตรายต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละบุคคลได้อีกด้วย

จี้ทองคำ 18 กะรัต ประดับเพชรและลงยา 

เครื่องประดับโดย Paul Morelli 

จี้สร้อยคอและทองชมพู 18 กะรัต

เครื่องประดับโดย Bvlgari

 

            เนื่องในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ขอส่งความสุข ความปรารถนาดี และขออวยพรให้เสียงระฆังที่ดังกังวาลนำพาความสุขสวัสดีบังเกิดแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน... สวัสดีปีใหม่ค่ะ  

 

ข้อมูลอ้างอิง


1. Master Mild. (25 June 2017). The Symbolic Meaning of Bells. Retrieved 15 October 2020 from https://mastermindcontent.co.uk/the-symbolic-meaning-of-bells/
2. The History of Art and the Curious Lives of Famous Painters. The Symbolic Meaning of Bells in Gothic, Byzantine, Northern Renaissance and Italian Renaissance Painting. Retrieved 15 October 2020 from http://www.historyofpainters.com/bell_symbol.htm
3. Gnostic Warrior. The Priests and Symbol of the Bell. Retrieved 15 October 2020 from https://gnosticwarrior.com/bell.html
4. มติชนออนไลน์. (24 สิงหาคม 2559). กระดิ่งของพ่อขุนรามคำแหง. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2563. จาก https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_261705

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที