สถานการณ์การระบาดทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงแนวทางในการซื้อสินค้า มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ทำงาน และทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิง รวมทั้งติดต่อสื่อสารโดยอาศัยเครื่องมือจากสื่อโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ได้เปิดตัวคุณลักษณะใหม่ๆ เช่น วิดีโอแชทของ Instagram เพื่อช่วยให้เราติดต่อสื่อสารกันได้มากขึ้นกว่าเดิม
ในปี 2020 TikTok กลายเป็นกระแสมาแรง ขณะเดียวกันก็มีข่าวน่าแปลกใจอย่างการปิดตัวลงของ Quibi แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นซึ่งได้รับเงินลงทุนอุดหนุนอย่างจริงจัง แล้วอะไรที่รออยู่ในปี 2021 Talkwalker แพลตฟอร์มที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากสื่อโซเชียลมีเดียให้แก่แบรนด์ต่างๆ ร่วมกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์การตลาด HubSpot ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบวิชาชีพรวม 70 รายถึงแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นในสื่อโซเชียลมีเดียช่วงปีหน้า และรายงานนี้ก็ช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกแก่แบรนด์ต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในกลยุทธ์ของตน
ที่มา: https://www.threegirlsmedia.com/
ต่อไปนี้เป็นกระแส 10 อันดับแรกที่น่าจะเกิดขึ้นในสื่อโซเชียลมีเดียปี 2021 เรียงจากอันดับล่างสุดไปจนถึงอันดับที่มาแรงที่สุด ตามการให้สัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญ
10. เนื้อหาที่ดัดแปลงโดยผู้ใช้
เนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น (User generated content หรือ UGC) เป็นเนื้อหาที่ผู้ใช้เผยแพร่ จากนั้นแบรนด์ ก็นำไปแชร์ต่อเพื่อแสดงให้เห็นการใช้งานหรือประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับจากผลิตภัณฑ์ของตน ผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มสร้างเนื้อหารูปแบบใหม่ๆ หรือ รีมิกซ์เนื้อหาด้วยการนำเนื้อหาเดิมของทางแบรนด์มาปรับจุดประสงค์การใช้งานใหม่ให้เหมาะกับบุคลิกหรือแนวคิดของตนเอง
“เนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้นับเป็น ‘เพชรยอดมงกุฎ’ สำหรับแบรนด์ดังในปี 2021” Heba Sayed หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ระบบคลาวด์และ AI ของ IBM ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกากล่าวในรายงาน “เนื้อหาที่ดีที่สุดคือเนื้อหาที่นักการตลาดไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง แต่ช่วยสนับสนุนให้เกิดขึ้น” ในยุคที่วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ผู้บริโภคมักมองหาแรงบันดาลใจจากผู้คนแทนที่จะหาจากแบรนด์ เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตใหม่ในช่วงหลัง COVID-19”
บทสรุปสำคัญข้อหนึ่งจากรายงานนี้คือแบรนด์ต่างๆ ควรมอบทรัพยากรตั้งต้นที่เหมาะสม เช่น โลโก้หรือเทมเพลตของแบรนด์ ให้ผู้ใช้นำไปสร้างเนื้อหาแบบรีมิกซ์ของตัวเอง รายงานนี้ยังได้เตือนแบรนด์ต่างๆ ด้วยว่าผู้บริโภคอาจนำทรัพยากรตั้งต้นดังกล่าวไปใช้วิพากษ์วิจารณ์บริษัทหรือใช้ในทางที่ผิด โดยอาจเป็นการแสดงความเกลียดชังซึ่งบริษัทไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
9. ความเป็นชุมชน การงดสัมผัส ความสะอาด ความเห็นอกเห็นใจ
กระแสอันดับที่ 9 ในรายงานนี้คือหลักการ 4C สำหรับเนื้อหาในช่วง COVID-19 อันได้แก่ ความเป็นชุมชน (Community) การงดสัมผัส (Contactless) ความสะอาด (Cleanliness) และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) หัวข้อเหล่านี้กำลังมาแรงในโลกออนไลน์ และน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปแม้ว่าสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงในปี 2021 เนื่องจากการระบาดจะยังคงส่งผลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้บริโภค
“เราจะบอกว่าอร่อย ‘จนต้องเลียนิ้ว’ (‘Finger Lickin’ good) ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว KFC ต้องยกเลิกการใช้สโลแกนนี้ชั่วคราว เพราะในระหว่างการระบาด เราไม่ควรเลียนิ้ว” Janet Machuka ผู้ก่อตั้ง ATC Digital Academy กล่าว “เนื่องจากหลัก 4C ของ COVID-19 จะกลายเป็นวิถีใหม่ที่ยึดถือกันโดยทั่วไปในงานการตลาด วิธีการสื่อสารจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน ผลกระทบจาก COVID-19 จะยังคงอยู่ในอีกหลายเดือนข้างหน้า แบรนด์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงหลัก 4C ในงานด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ในอนาคต”
แม้ว่าแบรนด์ต่างๆ อาจกระตือรือร้นที่จะนำเสนอสินค้าของตน แต่รายงานนี้เตือนว่ากิจการควรคำนึงถึงข้อกังวลของผู้บริโภคในปัจจุบัน โฆษณาอาจถูกมองว่าเป็นสิ่งรบกวนได้ ดังนั้นจึงควรนำเสนอเนื้อหาที่ตอบสนองต่อความจำเป็นและข้อกังวลของผู้บริโภค
8. มีมตลอด 24 ชั่วโมง
มีม (Memes) กลายเป็นหนึ่งในวิธีการหลักสำหรับการสื่อสารทางออนไลน์ มีรายงานว่าในร้อยละ 35 ของกลุ่มคนอายุ 13 ถึง 35 ปีส่งมีมหากันทุกสัปดาห์ แบรนด์ควรให้ความสนใจข้อมูลนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ควรคำนึงถึงความเสี่ยงจากการใช้มีมเพราะอาจมีคนนำมาใช้อย่างประสงค์ร้ายได้เช่นกัน นอกจากนี้แบรนด์ยังควรให้ความสำคัญต่อกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมีมมาใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการตลาด คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าการใช้รูปภาพหรือมีมนั้นๆ ถูกต้องตามกฎหมาย
Memes, GIFs, and Emojis
Memes can drive results
ที่มา: https://strategicsocialmedialab.com/the-power-of-memes-in-social-media-communication/
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือจนกระทั่งช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีเนื้อหาปริมาณมหาศาลอยู่ในสื่อโซเชียลมีเดียทุกประเภท” Komal Gupta หัวหน้าฝ่ายการตลาดเนื้อหาและนักเล่าเรื่องของ Ferns N Petals กล่าว “ผู้บริโภคพัฒนาไปเรื่อยๆ และมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการตลาดโดยใช้เนื้อหาจะต้องมีความแปลกใหม่อยู่เสมอ มีมได้พัฒนาจากสติ๊กเกอร์ง่ายๆ ไปเป็นไฟล์ GIF จนมาถึงวิดีโอมีมในปัจจุบัน การเสียดสีแบบเดิมๆ ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการตลาดยุคใหม่”
7. การตลาดผ่านการรำลึกความหลัง
ระยะหลังมานี้คุณพูดคำว่า เมื่อสมัยก่อน ไปกี่ครั้งแล้ว การรำลึกถึงยุคสมัยที่ผ่านไปแล้วกำลังกลายเป็นกระแสหลักในขณะนี้ แม้อาจย้อนไปถึงแค่ช่วงต้นปี 2019 ก็ตาม การดึงดูดผู้บริโภคที่ต้องการรำลึกความหลังนั้นเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดหากดำเนินการอย่างเหมาะสม และจะช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ ที่ผู้บริโภคกำลังต้องการอย่างมากในขณะนี้
การตลาดรำลึกความหลังได้รับความนิยมในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ช่วงทศวรรษ 1920 รวมถึงในยุคเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ช่วงปลายทศวรรษ 2000 แค่นี้ก็ช่วยให้เราเห็นรูปแบบแนวโน้มได้แล้ว
“หลังปี 2020 เราจำเป็นต้องย้ำเตือนกับชุมชนของเราว่าโลกที่มีอิสรเสรีนั้นมีคุณค่ามากเพียงใด” Aji Aditra Perdana หัวหน้าฝ่ายโซเชียลมีเดียและการตลาดเนื้อหาของ Home Credit Indonesia กล่าว “การตลาดรำลึกความหลังช่วยให้เราได้สร้างแคมเปญสนุกๆ และมองย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่งดงามในอดีต... การมองโลกในแง่บวกจะช่วยให้เราใช้ชีวิตกับการระบาดครั้งนี้ได้ดีที่สุด”
รายงานนี้แนะนำให้แบรนด์พิจารณากลุ่มเป้าหมายตามลักษณะทางประชากรเมื่อใช้การตลาดรำลึกความหลัง แต่ละแคมเปญควรมุ่งเป้าไปยังผู้บริโภคที่แบ่งกลุ่มตามช่วงอายุช่วงละสิบปี นอกจากนี้การคำนึงถึงเพศ สถานที่ และปัจจัยอื่นๆ ก็จะช่วยให้แคมเปญทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
6. การตลาดบทสนทนา
เราทุกคนต่างตระหนักว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตามเป็นสิ่งสำคัญ การตลาดไม่ใช่แค่การส่งข้อความไปหาลูกค้าอีกต่อไป แต่เป็นการสนทนากับลูกค้า การสร้างแบรนด์ให้มีความเป็นมนุษย์ถือเป็นขั้นแรกในการสื่อสารกับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนานและนำไปสู่การสร้างยอดขาย
เราได้เห็นชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ว่าประเด็นทางสังคมมีความสำคัญมากเพียงใดต่อผู้ซื้อ ผู้ซื้อต้องการจ่ายเงินให้กิจการที่ยึดมั่นในคุณค่าแบบเดียวกันกับตนเองและเป็นกิจการที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง ความต้องการนี้น่าจะคงอยู่ต่อไปในปี 2021 และหลังจากนั้น
“เพื่อเผยด้านที่เป็นมนุษย์ของแบรนด์ กิจการที่ชาญฉลาดจะเข้าใจว่าการแสดงความโปร่งใส ความเป็นของจริง และแม้กระทั่งการเผยความเปราะบางออกมานั้นนับเป็นการตลาดที่ชาญฉลาดในปี 2021” Michael A. Stelzner ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Social Media Examiner กล่าว “ผู้คนมักเชื่อมโยงกับผู้คน ดังนั้นแบรนด์ควรแสดงความเป็นมนุษย์ในแง่ที่เผยให้เห็นว่าตนเองยืนหยัดเพื่อใครและเพื่อสิ่งใด เสนอภาพของผู้คนให้มากขึ้น ผลิตวิดีโอให้มากขึ้น และพูดให้มากขึ้นว่าสิ่งใดสำคัญต่อผู้คนที่มีความสนใจตรงกันกับแบรนด์ของคุณ”
ข้อเสนอแนะสำคัญประการหนึ่งจากรายงานนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกิจการขนาดใหญ่ ก็คือการเชื่อมช่องว่างระหว่างการตลาดและการบริการลูกค้า เนื่องจากบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคหลายครั้งเริ่มต้นขึ้นที่ฝ่ายบริการลูกค้า ดังนั้นหากทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันก็จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
5. การเล่นเกมแบบโซเชียล
วิดีโอเกมเป็นรูปแบบการใช้เวลาว่างยอดนิยมในช่วงปิดเมือง มีรายงานว่ากลุ่มและบอร์ดสนทนาที่เกี่ยวข้องกับเกมนั้นมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น รายงานคาดการณ์ว่าอคติเชิงลบเกี่ยวกับเกมจะจางหายไปเพราะเราได้เรียนรู้มากขึ้นว่าเกมให้ประโยชน์แก่ผู้เล่นอย่างไรบ้าง และแบรนด์ต่างๆ ก็สามารถอาศัยประโยชน์จากความนิยมนี้ได้
สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเกมเท่านั้นแต่ยังเป็นคนที่เล่นเกมร่วมกันด้วย เนื่องจากไม่สามารถพบปะกันในโลกความเป็นจริง ผู้คนจึงหันมาเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อนๆ ทั้งเก่าและใหม่ นี่คือโอกาสที่แบรนด์จะได้มอบความบันเทิงให้ผู้บริโภคผ่านประสบการณ์เชิงโต้ตอบทางออนไลน์
“กลุ่ม Gen Z ใช้การเล่นเกมและโซเชียลมีเดียเป็นสัดส่วนพอๆ กัน โลกออนไลน์เหล่านี้จึงค่อยๆ เริ่มผสานเข้าด้วยกัน” Ben Jeffries ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Influencer กล่าว “ธุรกิจเกมกำลังจะมีมูลค่าถึง 94,000 ล้านเหรียญภายในปี 2024 แบรนด์ต่างๆ จึงควรพิจารณาการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดบนเว็บไซต์เกมเพื่อเสริมกลยุทธ์วงกว้างในสื่อโซเชียลมีเดีย”
คำแนะนำสำคัญที่สุดประการหนึ่งจากรายงานนี้เกี่ยวกับกระแสดังกล่าวคือการรับฟังจากสื่อโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น ศึกษาว่าสิ่งใดที่ดึงดูดกลุ่มนักเล่นเกม และสร้างเนื้อหาที่ออกแบบมาเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
4. การตลาดแบบยุคก่อน
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในปี 2021 จะมีการกลับไปหา “การตลาดแบบยุคก่อน” โดยแบรนด์จะหาวิธีที่เรียบง่ายยิ่งขึ้นในการสื่อสารกับลูกค้า แทนที่จะใช้แนวคิดแปลกใหม่หวือหวาอย่างที่เป็นกระแสในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา รายงานนี้ระบุถึงการกลับมาสื่อสารผ่านการโทรด้วยเสียงอีกครั้ง แม้มีรายงานว่าผู้บริโภคร้อยละ 68 ยังคงใช้
สมาร์ตโฟนเพื่อสื่อสารผ่านข้อความมากกว่าที่จะใช้โทรคุยกัน รายงานนี้ระบุว่าความนิยมในการใช้คุณลักษณะอย่างเช่นการค้นหาด้วยเสียง การจดบันทึกด้วยเสียง การเปลี่ยนเสียงสนทนาเป็นข้อความ และการทวีตด้วยเสียงนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยผลักดันให้การโทรด้วยเสียงกลับมาอีกครั้ง
เนื้อหาในรูปแบบที่ย่อยง่ายอย่างจดหมายข่าวและพอดแคสต์ช่วยให้ข้อมูลที่ผู้บริโภคกำลังมองหา โดยในรายงานระบุว่าชาวอเมริกันร้อยละ 55 ฟังพอดแคสต์
“จากมุมมองของแบรนด์ งานวิจัยหลายงานแสดงให้เห็นว่าการโฆษณาผ่านพอดแคสต์นั้นมีประสิทธิภาพเหนือกว่าการโฆษณาทางดิจิทัลรูปแบบอื่นๆ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมสูงและผู้จัดรายการกับผู้ฟังก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น” Leila Hamadeh ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Finyal Media กล่าว “ถ้าพูดถึงโอกาสจากซีรีส์พอดแคสต์และโฆษณาทางเสียงที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะ เราพบว่ามีโอกาสสูงมากที่สื่อเหล่านี้จะเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล”
รายงานได้เสนอเคล็ดลับจากกระแสนี้ อันได้แก่ การใช้จดหมายข่าวเพื่อรักษาฐานกลุ่มเป้าหมาย การค้นหาโอกาสจากพอดแคสต์ ตลอดจนการร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์ที่เจาะกลุ่มในแวดวงนั้นๆ
3. ยักษ์ใหญ่ในสื่อโซเชียลมีเดียจะยังคงครองตำแหน่งเดิม
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดียยอดนิยมในปัจจุบัน (เช่น Facebook, Twitter, Instagram และ TikTok) จะยังคงความสำคัญในปี 2021 และในอนาคต ตราบใดที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังคงปรับตัวตามกระแสใหม่ๆ ได้ นั่นหมายความว่า Instagram ในทุกวันนี้อาจไม่ได้มีหน้าตาเหมือน Instagram ในช่วงกลางหรือปลายปี 2021 แต่แพลตฟอร์มนี้จะยังคงอยู่และเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพื่อมอบสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ
ในบรรดาความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น การปรับเปลี่ยนเพื่อให้ผู้ใช้ซื้อสินค้าผ่านแอปของสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ “แนวโน้มที่น่าจะปรากฏชัดขึ้นคือการซื้อสินค้าผ่านสื่อโซเชียล” Ashvin Anamalai หัวหน้านักกลยุทธ์ที่ Be Strategic กล่าว “ผู้ซื้อยุคใหม่ส่วนใหญ่ใช้สื่อโซเชียลเพื่อค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์และความเห็นจากผู้ซื้ออยู่แล้ว และแบรนด์ต่างๆ ก็พยายามใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ด้วยการนำกระบวนการซื้อเข้ามาใกล้ขึ้นอีกขั้น การใช้อีคอมเมิร์ซเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว และการซื้อผ่านสื่อโซเชียลก็น่าจะเป็นกระแสใหม่ที่มาแรง”
รายงานได้เสนอให้แบรนด์ต่างๆ ค้นหาส่วนผสมของสื่อโซเชียลมีเดียที่เหมาะสมกับแบรนด์ของตน โดยคำนึงถึงแพลตฟอร์มแบบเฉพาะกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ก็ต้องไม่กระจายไปหลายแพลตฟอร์มมากจนเกินไป งบประมาณด้านการตลาดโดยหลักแล้วน่าจะยังคงอยู่ที่แพลตฟอร์มใหญ่สามแห่งคือ Facebook, Instagram และ Twitter
2. การเพิ่มขึ้นของข้อมูลที่ผิดพลาดในโลกดิจิทัล
แม้สื่อโซเชียลมีเดียจะมีข้อดีมากมาย แต่สื่อเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญต่อการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ นับตั้งแต่ภาพการใช้ชีวิตที่ผ่านการตัดแต่งแก้ไขของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ใน Instagram ไปจนถึงข่าวปลอมและทฤษฎีสมคบคิดที่เพิ่มขึ้นในหลายแพลตฟอร์ม ข้อมูลเท็จที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จะทำให้ปี 2021 เป็นปีที่แบรนด์และสื่อโซเชียลมีเดียมุ่งเน้นการนำเสนอความจริงกันมากขึ้น
“เราจะยังคงเห็นการเติบโตของผู้สร้างเนื้อหาในพื้นที่สื่อโซเชียลมีเดีย” Karen Freberg รองศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์กล่าว “อินฟลูเอนเซอร์จะยังคงมีบทบาทอยู่ แต่ความน่าเชื่อถือ ความเป็นของจริง และความโปร่งใสจะเป็นสิ่งที่แบรนด์และบริษัทต่างๆ ใช้ตัดสินใจว่าใครที่ควรร่วมงานด้วยและใครที่ควรจะปล่อยผ่าน การสร้างความรู้สึกร่วมและการยึดมั่นในหลักการจะเป็นองค์ประกอบที่ผสานอยู่ในเนื้อหาและจุดประสงค์ของแคมเปญจากผู้สร้างสรรค์ หมดยุคแล้วที่จะใช้อินฟลูเอนเซอร์ประเภทที่เสแสร้งสร้างภาพทั้งที่ขาดประสบการณ์ เพียงแต่ว่ามีคนติดตามเป็นจำนวนมากเท่านั้น"
สิ่งที่จะช่วยให้แบรนด์ก้าวไปข้างหน้าได้ดีที่สุดก็คือ การดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบัญชีในสื่อโซเชียลมีเดียมีความปลอดภัย และมีแนวทางที่รัดกุมสำหรับการสื่อสารในทุกระดับของบริษัท
1. กลุ่มเป้าหมายที่ใส่ใจสังคม
กระแสอันดับหนึ่งในปี 2021 เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเลย นั่นก็คือการเติบโตของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสังคม บริษัทต่างๆ ควรสนใจการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ด้วยการนำเสนอหัวข้ออย่างเช่นสุขภาพจิต การยอมรับความหลากหลาย ความยุติธรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม
“ผู้บริโภคที่ใส่ใจประเด็นทางสังคมมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเมื่อ Gen Z เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และกำลังจะเข้ามาเป็นแรงงานในระบบ” Roha Daud ที่ปรึกษาแบรนด์ด้านสุขภาพและความยั่งยืนทางอาหารกล่าว “เป็นที่ทราบกันว่าคนรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ได้รับการศึกษามาดีที่สุดและมีค่านิยมใกล้เคียงกันกับคนรุ่นมิลเลนเนียล ซึ่งก็ได้แก่มุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ แนวคิดเฟมินิสต์ ความเท่าเทียมทางการศึกษาและอาชีพ และอื่นๆ อีกมาก
“แบรนด์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องตระหนักว่าแค่เอาแต่ป่าวประกาศโดยไม่ลงมือทำนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว แบรนด์ต้องลงมือสร้างผลลัพธ์ทางสังคมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง จากการสำรวจโดย Forbes ในปี 2019 ผู้บริโภคร้อยละ 88 ต้องการสนับสนุนแบรนด์ที่ส่งเสริมประเด็นทางสังคมซึ่งสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์/บริการของแบรนด์นั้นๆ นอกจากเป็นสิ่งที่ ‘ดูดี’ ในคำประกาศพันธกิจของบริษัท มันยังช่วยสร้างผลกำไรอย่างมากด้วย”
แบรนด์ที่ตั้งใจจะเริ่มต้นสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายนี้ในปีที่จะมาถึงควรจะรู้ก่อนว่าประเด็นไหนสำคัญที่สุดสำหรับแบรนด์ เมื่อเลือกที่จะดำเนินการในประเด็นหนึ่งๆ แล้ว บริษัทต้องแน่ใจว่ามีพันธกิจที่แท้จริงอยู่เบื้องหลัง วางแนวทางของฝ่ายการตลาดและฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับหลักการ และทุ่มเทในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง รายงานยังได้เตือนด้วยว่าการสนับสนุนประเด็นทางสังคมอาจนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ได้บ้าง แต่หากมีเสียงต่อต้านอย่างหนักก็อาจทำให้แบรนด์จำเป็นต้องถอนแคมเปญ
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที