จากผลสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคและภาคธุรกิจเกี่ยวกับเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการ หรือ Lab Grown Diamond ของบริษัทด้านการตลาดเครื่องประดับในสหรัฐ The MVEye หรือชื่อเดิมว่า MVI Marketing ระบุว่าเพชรที่มนุษย์ผลิตขึ้นนั้นเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคและมีผู้ซื้อหามาครอบครองเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้ว โดยในขณะนี้เพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการมีวางจำหน่ายอยู่ราวร้อยละ 2-3 ของเพชรในตลาดโลก
ในรายงาน Gaining Critical Mass: 2020 Lab Grown Diamond Consumer & Trade Research Report ที่เผยแพร่เดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัท The MVEye ทำการสำรวจผู้บริโภคชาวสหรัฐกว่า 1,000 คนที่มีอายุ 23-55 ปีและซื้อเครื่องประดับเพชรในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยพบว่า ผู้รับการสำรวจร้อยละ 80 รู้จักเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการ จากเดิมที่มีคนรู้จักไม่ถึงร้อยละ 10 ในปี 2012 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58 ในปี 2018 นอกจากนี้ ผู้บริโภคร้อยละ 8 ระบุว่าตนเองเป็นเจ้าของเครื่องประดับเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการด้วย
ผู้บริโภคเกือบ 1 ใน 3 ระบุว่ารู้จักเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการจากผู้ขายเครื่องประดับที่นำเสนอสินค้าในขณะที่กำลังหาซื้อแหวนหมั้นหรือเครื่องประดับ และอีกร้อยละ 21 รู้จักเพชรกลุ่มนี้จากสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Facebook, Instagram และ YouTube
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อเพชรกลุ่มนี้เพราะเป็นสินค้าที่คุ้มค่าเมื่อเทียบราคากับขนาด เพื่อที่จะได้ประหยัดงบลงและได้เพชรขนาดใหญ่ขึ้นในราคาที่ถูกลง ในขณะที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญรองลงมา โดยการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงสิ่งเสริมแต่งให้ดูดีสำหรับดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่สร้างคุณค่า
ถึงแม้ว่า Federal Trade Commission ได้ออกคำเตือนอย่างชัดเจนไม่ให้ใช้คำกล่าวอ้างโดยรวมเกี่ยวกับประโยชน์เชิงสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้คำว่า “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หรือ “ยั่งยืน” ในการอธิบายสินค้าที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็นอัญมณีประเภทใดก็ตาม แต่ผลสำรวจระบุว่า ผู้บริโภคหลายรายได้รับสารนี้และจดจำได้ รวมทั้งมักใช้ข้อความเหล่านี้เพื่อบรรยายถึงสินค้าหมวดดังกล่าว
สำหรับช่องทางที่ผู้บริโภคตั้งใจจะซื้อสินค้าระหว่างการระบาดของโควิด-19 นั้น ร้อยละ 36 ต้องการซื้อทางออนไลน์ ร้อยละ 28 ต้องการไปซื้อที่ร้าน ร้อยละ 17 ต้องการนัดหมายเข้าไปดูสินค้ากับทางร้านเป็นการส่วนตัว และร้อยละ 11 ต้องการเข้าไปดูที่ร้านแล้วซื้อทางออนไลน์ในภายหลัง
นอกจากมุมมองของผู้บริโภคแล้ว มุมมองของผู้ขายก็น่าสนใจไม่ต่างกัน โดยบริษัท The MVEye ประเมินว่าเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการมีวางจำหน่ายในร้านเครื่องประดับอิสระคิดเป็นร้อยละ 38 จากร้านทั้งหมดในสหรัฐ บริษัทต่างๆ รวมถึง Signet Jewelers ซึ่งเป็นเจ้าของร้านเครือข่ายอย่าง Zales, Jared, James Allen และ Kay Jewelers ก็ได้เริ่มนำเสนอเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นหมวดสินค้าที่ให้อัตรากำไรสูงและผู้บริโภคก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี เมื่อ Signet Jewelers เข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้ ร้านค้าเครื่องประดับทุกแห่งจึงต่างจับตามองสินค้าหมวดนี้มากขึ้น เพราะเกรงว่าจะเสียโอกาสทางการค้า
จากรายงานบริษัทยังได้สำรวจผู้ค้าเครื่องประดับ 154 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ราว 2 ใน 3 ขายเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการ ซึ่งเห็นได้ว่าผู้ค้าหันมาขายสินค้านี้เพิ่มมากขึ้น ในบรรดาร้านซึ่งจำหน่ายเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการ ร้อยละ 87 ระบุว่าพอใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ ร้อยละ 95 พบว่าอัตรากำไรที่ได้รับจากเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการนั้นสูงกว่าเพชรธรรมชาติ และอัตราการปิดการขายของเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการนั้นอยู่ที่ราวร้อยละ 60-80 แต่ในขณะเดียวกันผู้ค้ากลุ่มนี้ราวครึ่งหนึ่งระบุว่าเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการมีส่วนทำให้ยอดขายเพชรธรรมชาติลดลง
ทั้งนี้ รายงานของ MVEye ยังได้สำรวจการรับรู้ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเพชรแบรนด์เนมที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการด้วย แบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุด ได้แก่ Brilliant Earth (ร้อยละ 35), Diama by Swarovski (ร้อยละ 34), Pure Grown Diamonds (ร้อยละ 27), Diamond Foundry (ร้อยละ 24), Lightbox (ร้อยละ 24), Diamond Nexus ซึ่งขายเพชรเลียนแบบ (Diamond Simulants) เป็นหลักแต่มีแผนกหนึ่งซึ่งขายเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการ (ร้อยละ 22) และ Renaissance (ร้อยละ 21)
ตัวอย่างแบรนด์เครื่องประดับแฟชั่นชื่อดัง Lightbox Jewelry ของ De Beers ซึ่งใช้เพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการ เริ่มเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2018 และเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนสูงจากร้อยละ 7 ในเดือนกันยายนปี 2018 เป็นร้อยละ 24 ในเดือนกันยายนปี 2020 โดยช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Lightbox ยังได้เปิดโรงงานขนาดใหญ่แห่งใหม่อย่างเป็นทางการในรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา และคาดว่าโรงงานแห่งนี้จะผลิตเพชรเจียระไนได้เต็มกำลังการผลิตสูงสุดที่ 200,000 เม็ดต่อปีในช่วงต้นปี 2021
นอกจากนี้ ทางแบรนด์ยังได้เริ่มขายเครื่องประดับทอง 14 กะรัตตกแต่งเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการ ผ่านผู้ขายเครื่องประดับอีคอมเมิร์ซชั้นนำระดับโลกอย่าง Blue Nile อีกด้วย จึงนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เครื่องประดับของ Lightbox ได้วางจำหน่ายนอกสหรัฐฯ และแคนาดา อาทิเช่น ผู้บริโภคชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะสามารถซื้อเครื่องประดับแบรนด์นี้ได้ผ่าน Blue Nile โดยมีสนนราคาอยู่ที่ 600-1,750 เหรียญสหรัฐ (850-2,480 เหรียญออสเตรเลีย)
ปัจจุบันผู้บริโภคให้การยอมรับเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้นจากมุมมองทางเลือกที่คุ้มค่าคุ้มราคา ซึ่งไม่เพียงแต่ราคาและมูลค่าเท่านั้นที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ดีไซน์ที่ใช้งานได้จริง คุณภาพสินค้า และการสื่อความหมายของเครื่องประดับก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องการด้วย แต่ไม่ว่าผู้บริโภคจะสื่อความรักผ่านสิ่งใดก็ตาม เป้าหมายของผู้ค้าเครื่องประดับคือต้องสร้างผลกำไรจากสิ่งนั้นให้ได้ เพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการขายที่มีต้นทุนน้อยกว่าเดิมในช่วงภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที