GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 23 พ.ย. 2020 08.52 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1133 ครั้ง

เมื่อมีการลงนามบรรลุข้อตกลง RCEP เป็นผลสำเร็จ ทำให้ RCEP เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันมากกว่า 2.2 พันล้านคน และขนาด GDP ใหญ่ถึง 30% ของ GDP โลก สร้างความหวังและกำลังใจเป็นอย่างมากต่อประเทศสมาชิกในการร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้และก้าวไปไกลกว่าเดิม จะมีรายละเอียดอย่าง ติดตามได้ที่นี่


RCEP ก้าวสำคัญแห่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

            เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นับเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จของ ASEAN ทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้ง 5 ประเทศคู่เจรจาอย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในการผลักดันความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) สู่การลงนามบรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดย RCEP ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีการเจรจามาอย่างยาวนานถึง 8 ปี (ตั้งแต่ปี 2555) กระทั่งมีคำกล่าวของนาย Mohamed Azmin Ali รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ว่า กว่า 8 ปีของการเจรจาที่เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อและรอยน้ำตา ในที่สุดเราก็สามารถบรรลุข้อตกลงได้ แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของการเจรจาก่อนที่จะสามารถลงนามร่วมกันในการประชุม RCEP ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล

            RCEP เป็นข้อตกลงทางการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยประชากรประเทศสมาชิกกว่า 2.2 พันล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก มีขนาด GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก ซึ่ง RCEP เป็นข้อตกลงทางการค้าที่พัฒนามาจากแนวคิด ASEAN+3 และ ASEAN+6 ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของ AEC Blueprint ความตกลง RCEP ทั้ง 20 บทนั้น จะเป็นการขยายและต่อยอดจากข้อตกลง FTA ของประเทศในอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ให้มาอยู่ภายใต้ข้อตกลงเดียวกัน โดยมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งการลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีระหว่างกัน ขยายการเปิดเสรีด้านสินค้า บริการ และการลงทุน อีกทั้งยังช่วยลดความซ้ำซ้อนและความแตกต่างในข้อตกลง FTA ที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่หลายประเทศในข้อตกลง RCEP นี้ หวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้กลับมาเติบโตได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 

ภาพการลงนาม RCEP จาก https://asean.org

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าสินค้าไทยที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลง RCEP นั้น มี 5 หมวด ดังต่อไปนี้

1. หมวดสินค้าเกษตร: แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง

2. หมวดอาหาร: ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว อาหารแปรรูปอื่นๆ

3. หมวดสินค้าอุตสาหกรรม: อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์

4. หมวดบริการ: ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชั่น

5. หมวดค้าปลีก

ทั้งนี้ ผู้นำ RCEP ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเร่งกระบวนการภายในสำหรับให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็ว โดยความตกลงจะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศในอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และ 3 ประเทศที่ไม่ใช่อาเซียนให้สัตยาบันแล้ว มีการคาดการณ์ว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้กลางปี 2564 อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้อินเดียซึ่งเป็นสมาชิกดั้งเดิมกลับมาเข้าร่วมได้ ส่วนสาเหตุที่อินเดียถอนตัวออกไปเนื่องจากกังวลต่อความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าที่มาจากจีนหากเปิดการค้าเสรี 

เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยกับกลุ่ม RCEP พบว่า 9 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 5,423.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 33.62% โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับทอง จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้ามในการรุกเข้าตลาดนี้ โดยผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวให้สินค้ามีมาตรฐานสอดคล้องกับความตกลงดังกล่าวก่อนที่จะเริ่มบังคับใช้ ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่า RCEP จะกลายเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของอาเซียนฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น

 

ข้อมูลอ้างอิง


1) What happens now the RCEP trade deal has been signed?. Retrieved September 16, 2020. from https://www.bangkokpost.com
2) วิเคราะห์ 15 ชาติลงนาม RCEP หลังผลักดัน 8 ปี. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2020. จาก https://news.thaipbs.or.th/content/298363
3) เปิดข้อตกลง RCEP ไทยได้ผลประโยชน์อะไรบ้างจากเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2020. จาก https://www.smartsme.co.th/content/242407
4) อาเซียนร่วม 5 ประเทศพันธมิตรลงนาม RCEP ข้อตกลงการค้าใหญ่ที่สุดในโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2020. จาก https://thaipublica.org/2020/11/asia-pacific-nation-sign-rcep

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที