เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สำหรับสินค้าไทยรวมกว่า 200 รายการ คิดเป็นมูลค่าส่งออก 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 25,000 ล้านบาท โดยสินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิ GSP อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องครัว อะลูมิเนียม อาหารอบแห้ง หอยบางชนิด และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท รวมถึงอัญมณี โดยสินค้าอัญมณีที่ถูกตัดสิทธิมี 1 รายการ คือ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไนซึ่งไม่ได้ใช้ในการผลิตเครื่องประดับ (พิกัด7103.99.50) ที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราปกติที่ร้อยละ 10.5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
การตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อย้อนกลับไปราวปี 2550 ไทยได้ถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP พิกัด 7113.19.50 เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองคำหรือแพลทินัม และต่อมาในปี 2555 สหรัฐฯ ได้ตัดสิทธิ GSP ของไทยพิกัดสินค้า 7113.11.50 เครื่องประดับเงินซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าโหล/ชิ้นละ 18 ดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 สหรัฐฯ ก็ได้ตัดสิทธิ GSP สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจำนวน 22 รายการย่อยใน 4 สินค้าหลักได้แก่ พิกัด 7113 เครื่องประดับแท้ พิกัด 7114 เครื่องทองหรือเครื่องเงิน พิกัด 7116 ของทำด้วยไข่มุก และรัตนชาติ รวมถึงพิกัด 7117 เครื่องประดับเทียม ซึ่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้วปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 2.7- 13.5
แม้ว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยจะถูกตัดสิทธิ GSP ไปหลายรายการ แต่ก็ยังมีสินค้าที่ไทยยังคงได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ และมีอัตราภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 ดังนี้
ทั้งนี้ ในปี 2562 สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในอันดับที่ 4 (รองจากสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์) ด้วยมูลค่าราว 1,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน พลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน รวมถึงเพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ตามลำดับ
แต่หากพิจารณาเฉพาะพลอยสีพบว่า ไทยเป็นแหล่งนำเข้าพลอยสีในตลาดสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 2 (รองจากอินเดีย) หรือมีมูลค่าราว 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไนในสัดส่วนราวร้อยละ 73 และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนร้อยละ 27 โดยเป็นสินค้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนพิกัด 7103.99.50 เพียงร้อยละ 1 ของมูลค่าการนำเข้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนรวมของไทยในตลาดสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ฉะนั้น การที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าดังกล่าวในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอัญมณีโดยรวมของไทยมากนัก
และถ้าในอนาคตสหรัฐฯ จะตัดสิทธิ GSP สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยส่วนที่เหลือดังแสดงในตาราง การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวมก็ยังคงได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะสินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกหลักไปยังตลาดสหรัฐฯ และมีมูลค่าส่งออกรวมเพียงร้อยละ 3.23 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม
อัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นสินค้าศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ แม้ว่าปัจจุบันคู่แข่งอย่างจีนหรืออินเดีย ก็ต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าไปยังตลาดนี้ด้วยเช่นเดียวกัน (จีนเสียอัตราภาษีสูงกว่า ในขณะที่ไทยและอินเดียเสียภาษีในอัตราเท่ากัน) แต่ด้วยทั้งสองประเทศดังกล่าวมีต้นทุนที่ถูกกว่า จึงทำให้โอกาสที่สินค้าไทยจะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทำได้ยาก อย่างไรก็ดี สินค้าไทยยังมีโอกาสจากแรงงานมีฝีมือ หากแต่ต้องเน้นเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มระดับกลางขึ้นไป ไม่ควรแข่งขันด้านราคา แต่ควรหันมาเน้นคุณภาพสินค้า โดยเร่งปรับตัวในส่วนของภาคการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและออกแบบสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงพยายามเปิดตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความ สหรัฐฯ สั่งระงับสิทธิ GSP สินค้าเครื่องประดับไทย ตั้งแต่ 25 เมษายน 2563 ตามลิงค์ https://bit.ly/3p1vS7Y
และสามารถตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้าของตลาดสหรัฐฯ ได้จากเมนู ข้อมูลธุรกิจ>> อัตราภาษีนำเข้า
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที