GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 02 พ.ย. 2020 13.48 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3797 ครั้ง

จากกระแสเรียกร้องของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจต่างๆ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าว เพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์หรือบริษัท อันนำไปสู่การรพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการไทยที่เข้าสู่การพัฒนาอย่างยื่นมีใครบ้างและทำได้อย่างไร ติดตามรายละเอียดได้ในบทความนี้


ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับตื่นตัวรับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน

            จากแนวโน้มที่โลกกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม จึงเกิดกระแสเรียกร้องให้ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น องค์กรธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ดำเนินธุรกิจตามหลักจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์หรือบริษัทให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค นำไปสู่การสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน หรืออาจเรียกรวมว่าเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ความท้าทายของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

            แต่เดิมผู้ค้าในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไม่ค่อยจะเต็มใจรับหลักการปฏิบัติการค้าด้วยความโปร่งใส และการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและค่อนข้างซับซ้อน จึงทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เนื่องจากวัตถุดิบต้นน้ำอย่างแร่โลหะและแร่อัญมณีส่วนใหญ่ถูกขุดออกมาจากพื้นดินในพื้นที่ที่มีปัญหาความยากไร้ ห่างไกลความเจริญ หรือเขตสงคราม ซึ่งต้องผ่านมือผู้คนมากมายกว่าจะไปถึงมือผู้ค้าและผู้บริโภคในตลาด จึงเป็นการยากที่จะติดตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบเหล่านี้ได้ แต่จากการที่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันเรียกร้องหาการค้าที่เป็นธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น จึงเป็นประเด็นที่เปลี่ยนแปลงสภาพธุรกิจและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกอย่างมาก หรือเรียกได้ว่าเป็น Disruptive ต่ออุตสาหกรรม ส่งผลให้ผู้ค้า/ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น 

องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เหมืองพลอยสีในมาดากัสการ์ 

ที่มา: https://www.iied.org/improving-governance-madagascars-artisanal-small-scale-mining-sector-ground

 

            ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ต่างพยายามส่งเสริมและยกระดับการค้าตลอดจนกระบวนการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทานให้มีความโปร่งใส ถูกต้อง และไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ Ethical Metalsmith, Fair Jewelry Action, Fairtrade, Fairmined, CIBJO และ Responsible Jewellery Council (RJC) ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนัก และให้ข้อมูลของผู้ผลิตวัตถุดิบและเครื่องประดับที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการกำหนดมาตรฐานที่เป็นแนวทางปฏิบัติไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

        - Ethical Metalsmith  (EM) เป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา มีภารกิจหลักสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการเครื่องประดับในการปฏิบัติเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้การศึกษาและอบรมแก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อบ่มเพาะให้เป็นผู้ผลิตเครื่องประดับที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ประกอบการเพื่อแบ่งปันแนวทางการปฏิบัติที่ช่วยลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับนำโลหะเก่ามารีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการจัดหาโลหะสำหรับเครื่องประดับที่มีผลกระทบจากการทำเหมืองสมัยใหม่น้อยที่สุด

- Fair Jewelry Action  (FJA) เป็นเครือข่ายสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในภาคเครื่องประดับ โดยส่งเสริมให้ธุรกิจเครื่องประดับดำเนินการค้าด้วยจริยธรรมและเป็นธรรม รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับและความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานเครื่องประดับ และเป็นเจ้าภาพในการรณรงค์เพื่อสนับสนุนสิทธิของชนพื้นเมือง ชุมชนและผู้ทำเหมืองขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมจากสถานการณ์ที่ไม่ยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองอัญมณี

- Fairtrade  และ Fairmined  เป็นองค์กรที่ออกมาตรฐานและให้การรับรองเหมืองทองคำ ซึ่งจะทำการตรวจสอบสภาพการทำงานภายในเหมืองและลดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถตรวจสอบเหมืองทองที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากทั้งสององค์กรได้ทางเว็บไซต์

- CIBJO  หรือ The World Jewellery Confederation เป็นองค์กรด้านอัญมณีและเครื่องประดับเพียงแห่งเดียวของโลกที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา โดยมีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางระหว่างประเทศในการส่งเสริมความร่วมมือ กำหนดมาตรฐาน และแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่ง CIBJO ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความโปร่งใสในกระบวนการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการสนับสนุนผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การอบรมให้ความรู้และผลักดันผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตาม Due Diligence Guidance for Conflict-Free Supply Chains ของ The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นต้น

        - Responsible Jewellery Council  (RJC) เป็นองค์กรระหว่างประเทศไม่แสวงหาผลกำไร เป็นผู้นำสร้างมาตรฐานการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน (ตั้งแต่เหมืองจนถึงธุรกิจค้าปลีก) ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย RJC จะออกใบรับรองมาตรฐานให้แก่สมาชิก เพื่อให้เกิดมาตรฐานในระดับสากลและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งสมาชิกที่ได้รับการรับรองจะต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบุคคลที่สาม เพื่อยืนยันความถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการปฏิบัติของ RJC (RJC Code of Practices) โดยหลักการปฏิบัติมีทั้งหมด 4 ด้าน คือ จริยธรรมทางธุรกิจ สิทธิมนุษยชนและการดำเนินงานทางสังคม การดำเนินงานทางสิ่งแวดล้อม และระบบการบริหารจัดการ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการตั้งแต่เหมืองอัญมณีจนถึงค้าปลีกเครื่องประดับกว่า 1,100 รายทั่วโลกเข้าเป็นสมาชิกของ RJC เพื่อต้องการนำแนวทางมาประกอบในการดำเนินกิจการขององค์กร 

        เนื่องจากหน่วยงานอื่นๆ มีเพียงแนวทางการปฏิบัติแต่ไม่มีระบบการตรวจรับรองมาตรฐาน ในขณะที่ RJC มีแนวทางการปฏิบัติที่ตรวจสอบโดยบุคคลที่ 3 คล้ายระบบ ISO การออกใบรับรองมาตรฐานจึงมีความน่าเชื่อถือ และการที่ RJC ถูกก่อตั้งโดย 14 แบรนด์เครื่องประดับรายใหญ่ของโลก จึงทำให้บริษัท Supplier ของแบรนด์เหล่านี้จำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก อีกทั้งยังดึงดูดให้บริษัทจากทั่วโลกเข้าเป็นสมาชิกเพื่อจะได้มีโอกาสเป็น Supplier ให้กับแบรนด์เครื่องประดับรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกใน RJC รวมถึงเป็นโอกาสที่จะเข้าถึงตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น เพราะสอดคล้องกับแนวโน้มของคนกลุ่มนี้ที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่ให้ความใส่ใจในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของจริยธรรม คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ RJC ได้เปิดให้ทั้งผู้ค้า ผู้ผลิต และองค์กร/สมาคมต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก RJC แล้ว นายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการเทคนิค ได้กล่าวว่า “GIT  ได้รับคำแนะนำจาก CIBJO ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก RJC ซึ่ง GIT ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางของประเทศจะได้ติดตามความคืบหน้าหรือแนวโน้มต่างๆ ในอุตสาหกรรม และนำข้อมูลที่ได้รับมาถ่ายทอด/เผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ผ่านมา GIT ได้จัดสัมมนาและเชิญผู้แทนจาก RJC มาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งการสัมมนาในครั้งนั้นเป็นการจุดประกายให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวและตระหนักในการจัดทำมาตรฐานการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัจจุบัน GIT อยู่ระหว่างการขออนุญาตนำหลักการปฏิบัติของ RJC มาแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจง่ายมากขึ้น และเห็นด้วยว่าบริษัทอัญมณีและเครื่องประดับไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิก RJC เพราะจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ในการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ซึ่ง GIT พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกด้าน และในอนาคต GIT จะส่งเจ้าหน้าที่ของสถาบันไปฝึกอบรมด้านมาตรฐานกับ RJC เพื่อนำกลับมาถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย” 

กรณีศึกษาสมาชิก RJC

            ปัจจุบันผู้ผลิต/ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่จากหลายประเทศทั่วโลก ต่างกำลังมุ่งปรับตัวสู่แนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยการเข้าเป็นสมาชิกองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศอย่าง RJC โดยมีตัวอย่างดังนี้

            BULGARI S.p.A เป็นบริษัทเจ้าของแบรนด์ BVLGARI แบรนด์เครื่องประดับชั้นนำของโลกจากอิตาลี ก่อตั้งขึ้นในปี 1884 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแบรนด์เครื่องประดับ  หรูหราที่มีสาขาอยู่ในแหล่งชอปปิงทั่วโลก โดยได้รับใบรับรองการเป็นสมาชิกจาก RJC เมื่อปี 2011 เนื่องจาก BULGARI เชื่อว่าผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อประเด็นการค้าอย่างมีจริยธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชน และปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทุกวันนี้ลูกค้าจะจดจำแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส จึงทำให้บริษัทเข้าร่วมเป็นสมาชิก RJC เพื่อร่วมวางแผนการดำเนินงานกับ RJC ซึ่งมีหลักการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนและหนังสือคู่มือที่อธิบายรายละเอียดของการประเมินตนเอง จนทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายของการเป็นบริษัทที่ดำเนินงานด้วยจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้จนถึงปัจจุบัน

แบรนด์ BVLGARI

https://www.bulgari.com/

        นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการในแถบเอเชียอย่างไทย เวียดนาม อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ก็ได้ตระหนักถึงประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเข้าร่วมเป็นสมาชิก RJC ด้วย อาทิ

        Julie Sandlau Vietnam เป็นบริษัทผลิตเครื่องประดับแท้ในเวียดนาม มีความมุ่งมั่นในการผลิตสินค้าคุณภาพสูงให้แก่ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าจากธุรกิจที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ RJC เมื่อปี 2017 และได้รับใบรับรองจาก RJC ซึ่งมีผลในช่วงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2019 – 14 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งนอกจากบริษัทจะเป็นสมาชิกของ RJC แล้วบริษัทยังมีพันธสัญญากับ United Nations Global Compact ที่จะสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อต้านคอรัปชั่นอีกด้วย

            Lallubhai & Brothers เป็นบริษัทค้าเพชรในอินเดีย ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 ซึ่งบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะค้าเพชรอย่างถูกต้องโปร่งใส และลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติตามหลัก Kimberly Process และเข้าร่วมเป็นสมาชิก RJC เมื่อปี 2018 ซึ่งบริษัทปฏิบัติตามหลักการของ RJC Co  de of Practices และมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ค้าสินค้าที่เป็นการฟอกเงิน หรือสนับสนุนการก่อการร้าย การรายงานการเงินที่ผิดปกติแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ป้องกันการซื้อขายเพชรที่มีความขัดแย้ง โดยการเปิดเผยข้อมูลเพชรที่จำหน่าย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิของเด็ก ไม่จ้างงานเด็กหรือบังคับใช้แรงงาน และให้โอกาสพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงาน และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

            สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมเป็นสมาชิก RJC ราว 50 ราย อาทิ Pranda Jewelry  ผู้นำธุรกิจในด้านการผลิต จัดจำหน่าย และค้าปลีกเครื่องประดับอัญมณี ซึ่งบริษัทได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน และการประเมินตามข้อกำหนดจาก RJC ในทุกขั้นตอน ทั้งการคัดเลือกวัตถุดิบจากแหล่งที่ตรวจสอบได้ การประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้ใบรับรองมาตรฐานจาก RJC เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ซึ่งมีผลเป็นระยะเวลา 3 ปี ( 23 กุมภาพันธ์ 2018 – 23 กุมภาพันธ์ 2021)

            ส่วนตัวอย่างบริษัท SMEs ที่เข้าเป็นสมาชิก RJC อาทิ บริษัท อินทรามณี จำกัด เป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับอัญมณี ได้เข้าเป็นสมาชิก RJC เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 ซึ่งบริษัทมีนโยบายดำเนินธุรกิจด้วยจริยธรรม ปฏิบัติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดี มีจรรยาบรรณและอยู่ในกรอบของกฎหมาย ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน โดยกำหนดนโยบายทางด้านอาชีวอนามัย มีการดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพที่สุด

        คุณวรินทร์ฑิรา มงคลประดิษฐ ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท อินทรามณี จำกัด กล่าวว่า “ลูกค้าหลักของบริษัทเป็นชาวยุโรปและอเมริกาเรียกร้องสินค้าจากบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทจึงจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก RJC เพราะการได้ใบรับรองจาก RJC จะช่วยเพิ่มมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ยอดขายของบริษัทในตลาดยุโรปและอเมริกาเพิ่มขึ้น”  

            และกรณี บริษัท เอ็มอีโอ จิวเวลรี่ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง เข้าเป็นสมาชิก RJC เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 โดยแกนหลักของวัฒนธรรมบริษัทคือ การฝึกสติ ปลูกฝังความเอาใจใส่ ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานและชุมชน โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านหลากหลายโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อพนักงาน ชุมชนในท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม อาทิ สนับสนุนการนั่งสมาธิสำหรับเยาวชนที่วัดผาณิตาราม จัดสัมมนาและอบรมไทชิให้กับเจ้าหน้าที่ในโรงงาน และสินค้าทั้งหมดของโรงงานได้รับการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม เป็นต้น

            คุณปัณณวรรณ เผือกพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล กล่าวว่า “อเมริกาเป็นตลาดหลักของบริษัท ซึ่งคู่ค้าแจ้งว่าจะซื้อสินค้าจากบริษัทที่มีใบรับรองของ RJC เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าของบริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หากบริษัทต้องการรักษาฐานลูกค้าในตลาดอเมริกาไว้ ก็จำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก RJC และเชื่อมั่นว่าการเป็นสมาชิก RJC จะได้ประโยชน์มาก น่าจะทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น แต่หากไม่เข้าเป็นสมาชิก RJC ยอดขายในอเมริกาอาจจะลดน้อยลง และอาจจะไม่มีออเดอร์สั่งซื้อสินค้าอีกในอนาคตได้”  

        กระแสการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการค้าอย่างเป็นธรรมในกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในกลุ่มคนเหล่านี้ ฉะนั้น ผู้ผลิต/ผู้ค้าส่งและค้าปลีกอัญมณีและเครื่องประดับจึงควรเร่งปรับตัวตามความต้องการและความสนใจของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปให้ทัน โดยการจัดหาวัตถุดิบตามหลักจริยธรรมทางการค้า ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องและโปร่งใส ตลอดจนช่วยเหลือพัฒนาสังคม ชุมชน และปกป้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพไปยังกลุ่มผู้บริโภคเพื่อสร้างการรับรู้ว่าบริษัทมีจิตสำนึกทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะช่วยให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับอยู่รอดต่อไปในระยะยาว   

 

ข้อมูลอ้างอิง


1. https://ethicalmetalsmiths.org/membership
2. https://fairjewelry.org/
3. https://www.fairgold.org/
4. https://www.fairmined.org
5. http://www.cibjo.org/
6. https://www.responsiblejewellery.com/applications/membership-fees/

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที