GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 14 ต.ค. 2020 16.40 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1037 ครั้ง

หลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย ไทยและอียูมีแนวโน้มจะรื้อ FTA ไทย-อียู ขึ้นมาเจรจาใหม่ หลังจากหยุดชะงักไปหลายปี ซึ่งจากผลการศึกษาของไอเอฟดี ได้สรุปว่าการทำ FTA ไทย-อียู จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวและสร้างโอกาสส่งออกให้สินค้าไทย โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดอียู หากแต่ถูกตัดสิทธิ GSP ไปเมื่อปี 2557 และเสียเปรียบคู่แข่งไปไม่น้อย จะได้กลับมามีแต้มต่อและได้เปรียบมากขึ้นในตลาดหลักนี้หากเจรจาสำเร็จ


รัฐฯ รื้อเจรจา FTA ไทย-อียู โอกาสขยายส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ

         เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เข้าร่วมประชุม (ประชุมออนไลน์) เจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา โดยในส่วนของการหารือกับสหภาพยุโรป (อียู) ได้มีการเจรจาเรื่องแผนด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2563-2564 เพื่อช่วยยกระดับการค้าและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาค และแผนดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกับประเทศคู่ค้าอาเซียนซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรป ในการหาแนวทางรับมือและฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 การปฏิรูปองค์การการค้าโลก และการฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียนอียูที่หยุดชะงักไปหลายปีด้วย

        อย่างไรก็ดี ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรปเห็นว่าการบรรลุความตกลงกับอาเซียนอาจทำได้ยาก เนื่องจากบางประเทศมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย อียูจึงมีแผนรื้อการเจรจา FTA รายประเทศในอาเซียนทั้งกับไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ 

        ปัจจุบัน อียูมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าจำนวน 32 ประเทศ โดยทำความตกลงกับ 2 ประเทศในอาเซียนแล้ว คือ สิงคโปร์และเวียดนาม ส่วนไทยมีการลงนาม FTA แล้ว 13 ฉบับกับคู่ค้า 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ทั้งนี้ ไทยได้เริ่มเจรจา FTA กับอียูเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 และการเจรจาได้หยุดชะงักลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย

        สำหรับอียู ถือเป็นตลาดหลักส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยในปี 2562 อียูเป็นคู่ค้าในอันดับ 2 รองจากฮ่องกง ซึ่งไทยส่งออกไปยังอียู 1,668 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกหลักได้แก่ เยอรมนี (574 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เบลเยียม (307 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อิตาลี (263 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สหราชอาณาจักร (232 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และฝรั่งเศส (111 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตามลำดับ สินค้าหลักส่งออกไปยังเยอรมนีเป็นเครื่องประดับเงิน ส่วนสินค้าหลักส่งออกไปยังเบลเยียมเป็นเพชรเจียระไน และสินค้าหลักในตลาดอิตาลี สหราชอาณาจักร1  และฝรั่งเศสเป็นเครื่องประดับทอง สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 อียูขยับขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของไทยด้วยมูลค่าส่งออก 770 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาพ: Piyapoom Jewelry

        จากการที่อียูตัดสิทธิ GSP สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยตั้งแต่ปี 2557 จึงทำให้ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ โดยเฉพาะเครื่องประดับแท้ทั้งเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลักส่งออกไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกอียูโดยมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ส่งผลให้ไทยแข่งขันได้ยากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า ฉะนั้น การรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู นับเป็นการส่งสัญญาณที่ดี อันช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งหากการเจรจาบรรลุผลสำเร็จ ก็น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งเป็นสินค้าศักยภาพของไทยเข้าสู่ตลาดอียูได้มากขึ้น เพราะจะทำให้ต้นทุนอัญมณีและเครื่องประดับไทยในอียูลดลงถึงราว 42 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดจากฐานการส่งออกปี 2562)

        ทั้งนี้ การศึกษาผลกระทบจากการทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป โดยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2563 สรุปได้ว่าการทำ FTA ไทย-อียู จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวและสร้างโอกาสส่งออกให้สินค้าไทย โดยหากอียูลดภาษีนำเข้าสินค้าไทยทุกรายการในระยะยาวจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ถึงร้อยละ 1.28 และการส่งออกจากไทยไปอียูจะสูงขึ้นร้อยละ 2.83 

 

 

1สหราชอาณาจักร จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในสิ้นปี 2563 ซึ่งสหราชอาณาจักรจะกำหนดอัตราภาษีนำเข้าใหม่และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

 

ข้อมูลอ้างอิง


1) พาณิชย์ เผย ผลฟื้นเจรจาทำ FTA ไทย-อียู ช่วยเศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาท. 23 กันยายน 2563 จาก https://workpointtoday.com/fta-3/
2) อาเซียน-อียู เคาะแผนการค้า เดินหน้าฟื้นเจรจา FTA พร้อมร่วมแก้วิกฤต ศก.โลก หลัง “โควิด”. 3 สิงหาคม 2563. จาก https://www.kaohoon.com/content/379629
3) อียูปรับแผนเจรจาเอฟทีเอกับอาเซียนเป็นรายประเทศ. 3 สิงหาคม 2563 จาก https://www.dailynews.co.th/ foreign/723798
4) 24-29 ส.ค. ถกประเทศสมาชิกอาเซียน สรุปความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ-เตรียมลงนามอาร์เซ็ป พ.ย.นี้. 22 สิงหาคม 2563 จาก https://www.khaosod.co.th/economics/news_4761102

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที