Sukhum Rattanasereekiat

ผู้เขียน : Sukhum Rattanasereekiat

อัพเดท: 14 ต.ค. 2020 14.35 น. บทความนี้มีผู้ชม: 29937 ครั้ง

ตัวอย่างและรายละเอียดการเขียน Job Description


JD (Job Description) คืออะไร

JD (Job Description) คืออะไร

JD (Job Description) ภาษาไทยเรียกว่า ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบงานตำแหน่งงาน หรือ คำบรรยายลักษณะงาน / ใบพรรณนาหน้าที่งาน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบรรยายลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งงาน รวมถึงคุณสมบัติของคนที่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่กำหนด

 

ส่วนประกอบที่อยู่ใน JD

– ข้อมูลทั่วไป (Job Title): ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วย ชื่อตำแหน่งงาน แผนก ฝ่าย ผู้บังคับบัญชา ระดับตำแหน่งเป็นต้น

– วัตถุประสงค์ของตำแหน่งงาน หรือ ที่เรียกว่า Job Purpose

– ความรับผิดชอบหลัก (Key Responsibilities) ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ เพราะเป็นส่วนที่บรรยายลักษณะงานหลักที่จะต้องทำหรือหน้าที่ความรับผิดชอบที่ดำเนินงาน ซึ่งในบ้างกรณีก็อาจจะแบ่งส่วนงานนี้ออกเป็น 3 ส่วนคือ

1.      ความรับผิดชอบหลัก (Key Responsibilities),

2.      Key Activities คือกิจกรรมหลักที่ต้องทำ ซึ่งบางองค์กรที่มีการทำ Competency จะต้องมีการกำหนด KA ให้ชัดเจน เพื่อจะนำมาใช้ในการประเมิน Competency.  

3.      ผลที่บริษัทคาดหวัง  (Key Expect Results)  ผลลัพธ์ที่คาดหวังที่จะได้รับออกมาจากในแต่ละกิจกรรมหลัก

– ความยากของงาน (Major Challenge): ซึ่งเป็นงานที่จะต้องทำที่อาจจะต้องใช้ความรู้ทักษะในการดำเนินงานหรือ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

– ขอบเขตงานของผู้ใต้บังคับบัญชา (Subordinate's Responsibilities) ในส่วนนี้จะทำให้ทราบว่าจะมีลูกน้องที่อยู่ใต้บังคับบัญชากี่คน รวมถึง ลูกน้องที่อยู่ภายใต้การดูแลมีตำแหน่งอะไรบ้าง

– การทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น (Working Relationship) การกำหนดหน่วยงานที่จะต้องทำงานร่วมด้วย และงานที่ต้องติดต่อ หรือความถี่ที่ต้องติดต่อหรือทำงานด้วย

– คุณสมบัติประจำตำแหน่ง (Job Specification) ซึ่งเป็นรายละเอียดของคุณสมบัติที่จะต้องมีสำหรับผู้ปฎิบัติในตำแหน่งนี้ เพื่อเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมารับผิดชอบให้สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลหรือแก้ไขปัญหา

ซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้มีความสำคัญสำหรับที่ใช้ในกระบวนสรรหาพนักงานอีกด้วย ซึ่งใน Job Specification อาจจจะมีส่วนประกอบดังนี้

- วุฒิการศึกษา (Education Background)

- ประสบการณ์ทำงาน (Professional Experiences)

-ความสามารถประจำตำแหน่ง (Key Competencies)

-คุณสมบัติอื่น ๆ (Other)

-อบรม,สัมนา (Training)

 

ใครมีหน้าที่เขียน JD

สำหรับการเขียนในบางองค์กรให้ทาง   HR  เขียน  JD  แต่คนที่รู้ลักษณะงานดีที่สุดในตำแหน่งนั้นๆ คงจะไม่ใช่  HR  ดังนั้น HR อาจเป็นคนเตรียมการและติดตาม  (Facilitator) คือ เตรียมเอกสาร ทำตัวอย่างอธิบายรายละเอียดที่ควรจะกรอกข้อมูลในแต่ละช่อง หลังจากนั้นให้ผู้รับผิดชอบในแต่ละแผนกดำเนินการ

แต่ละหน่วยงานเป็นคนเขียน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นหัวหน้างานเขียนรายละเอียดให้กับตำแหน่งของลูกน้อง  หรือ บางองค์กรอาจจะให้ทางตำแหน่งงานนั้นๆเขียนหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่ หลังจากนั้นทบทวนโดยหัวหน้าอีกครั้งหนึ่ง

 

การเขียน  JD ที่ดี

1.            เขียน JD โดยนึกถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ ของผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นๆ

2.            JD ที่เขียนต้องให้สอดคล้องกับตำแหน่งที่มีอยู่ในผังองค์กร  (Organization chart)

3.            JD เมื่ออ่านแล้ว ผู้อ่านสามารถเข้าใจเหมือนกันหรือเข้าใจตรงกันกับเนื้อหาที่เขียน

4.            ใช้คำกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ตรงประเด็น เข้าใจง่าย

5.            กรณีที่ใช้คำศัพท์เทคนิค ตัวย่อ ควรมีคำอธิบายเพิ่มเติม หรือ วงเล็บคำอธิบายให้ชัดเจน

 

ประโยชน์ของ  JD

•             ช่วยในการสรรหา และคัดเลือกพนักงาน เพราะมีรายละเอียดของคุณสมบัติของคนที่จะรับอยู่ใน ส่วนของ  Job Specification ในบางองค์กรจะต้องมีการแนบ JD มาพร้อมกับใบขอคน

•             เป็นเครื่องมือมอบหมายงานให้กับพนักงานใหม่ เพื่อให้พนักงานใหม่ทราบขอบเขตงานหรือกิจกรรมที่จะต้องทำหลังจากเริ่มงานใหม่

 

•             ช่วยกำหนด Competency ของตำแหน่งงานนั้นๆ ในบางองค์กรมีการกำหนด KA (Key Activity), รวมถึง Knowledge ความรู้, Skill ทักษะ, Attribute คุณลักษณะลงใน JD อีกด้วย

•             สามารถนำไปใช้ในการประเมินค่างาน/ใช้ในการประเมินและวัดผลงาน

•             นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำสำรวจค่าจ้างเงินเดือน ช่วยเปรียบเทียบในการตัดสินใจด้านค่าตอบแทนพนักงาน

 

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำ JD

•             คนที่เขียน JD เป็นผู้ที่ไม่ได้เข้าใจหรือทำงานในตำแหน่งนั้น แต่ได้รับมอบหมายให้มาเขียน JD

•             เมื่อมีตำแหน่งเพิ่มเติมจากผังองค์กร แต่ไม่มีการเขียน JD   เพิ่มในตำแหน่งใหม่

•             จัดทำ JD แต่ไม่มีการทบทวน หรือ ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการทำงานปัจจุบัน

•             การทำ JD กว้างๆ ไม่ละเอียดเพียงพอ อ่านแล้วอาจจะยังไม่เข้าใจว่าเนื้อหางานหรือ Key Activity ที่จะต้องทำจริงๆคืออะไร

•             เขียนหน้าที่งานเหมือนกันหมดตั้งแต่ระดับปฎิบัติการไปถึงผู้จัดการ ซึ่งในแต่ละระดับหน้าที่ความรับผิดชอบควรที่จะต้องแตกต่างกัน

•             ทำไว้เพื่อให้ผู้ตรวจสอบ (Audit) ตรวจสอบว่ามี เพราะถูกบังคับจากข้อกำหนดของระบบคุณภาพ ทำไว้ให้ตรวจเท่านั้นไม่ได้เอามาใช้งานจริง หรือทบทวนอยู่เสมอ

 

ข้อกำหนดสำหรับระบบ  ISO9001  มีข้อกำหนดข้อไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับ  JD

ข้อกำหนดหลักที่เกี่ยวข้อง คือ ข้อกำหนด 5.3 บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ในองค์กร

ผู้บริหารสูงสุดต้องมอบหมายความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่เพื่อให้

a) มั่นใจว่า QMS  เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐาน

b) ทำให้มั่นใจว่ากระบวนการได้ส่งมอบผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง

c) รายงานสมรรถนะของ QMS และโอกาสในการปรับปรุงโดยเฉพาะต่อผู้บริหารสูงสุด

d)สร้างความตระหนักในการให้ความสำคัญกับลูกค้า

e) ทำให้มั่นใจว่า QMS ยังสมบูรณ์ระหว่างการวางแผนการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลง QMS

ดังนั้นการที่องค์กรมีการกำหนด  JD   ก็เป็นการกำหนดความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่นั้นเอง

 

ผู้เขียน

สุขุม รัตนเสรีเกียรติ

 ที่ปรึกษาระบบบริหารงานคุณภาพบริษัท PMC Expert Co., Ltd.

  Certified Lead Auditor: ISO9001, IATF16949.

 

www.pmcexpert.com

https://www.facebook.com/rattanasereekiatsukhum/


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที