ปัจจุบัน ในหลายประเทศประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นคืนกลับมา สร้างความหนักใจแก่นานาประเทศในการแก้ไขปัญหา ต่างเข็นมาตรการต่างๆ ออกมาเยียวยา ประคับประคองลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการระยะสั้นหรือระยะยาวในหลากหลายวิธีเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการเคลื่อนไหวและมีเงินหมุนเวียนในระบบ อีกหนึ่งวิธีการที่เกิดขึ้นคือ Travel Bubble หรือระเบียงท่องเที่ยว (Travel Corridor) ซึ่งหมายถึง การร่วมมือกันของกลุ่มประเทศสมาชิกหรือประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกันที่มีความปลอดภัยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ โดยแต่ละประเทศอนุญาตให้สิทธิการเดินทางเข้าออกระหว่างกันโดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกัน COVID-19 อย่างเข้มงวด ประเด็นนี้มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในนานาประเทศ แต่กลุ่มประเทศนำร่องที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ Estonia, Latvia และ Lithuania ส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แม้ทั้งสองประเทศจะผ่านการตกลงเจรจาเรียบร้อยแล้ว จำเป็นต้องเลื่อนการใช้ Travel Bubble ออกไป หลังจากพบการแพร่ระบาดในรัฐ Victoria ของออสเตรเลีย ขณะที่ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาทำข้อตกลงหรือเป็นข้อเสนอฝ่ายเดียวจากประเทศที่ต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก https://www.endcoronavirus.org (ณ วันที่ 22 กันยายน 2563) ชี้ว่า มี 31 ประเทศ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีที่สุด ได้แก่ บาร์เบโดส ภูฏาน บรูไน บูร์กินาฟาโซ กัมพูชา ไซปรัส จิบูตี โดมินิกา ฟิจิ เฮติ นครรัฐวาติกัน ไอซ์แลนด์ คอซอวอ ลาว ลัตเวีย ลิกเตนสไตน์ มาลี มอริเชียส โมนาโก มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ไนเจอร์ เซนต์คิตส์และเนวิส ซานมารีโน โซมาเลีย ศรีลังกา ซูดาน ไต้หวัน ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม
กราฟแสดงจำนวนและสัดส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 แยกรายประเทศ (วันที่ 22 กันยายน 2563)
ข้อมูลจาก https://www.worldometers.info
อาจกล่าวได้ว่า ระเบียงท่องเที่ยวอาจเป็นความหวังในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและภาคเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยระหว่างกันของนักท่องเที่ยวในประเทศความร่วมมือ ขณะที่ไทยมีการเห็นชอบในหลักการข้อเสนอ Travel Bubble โดยกำหนดแนวทางคัดเลือกไว้ดังนี้
1. ผู้เดินทางจะต้องมีการซื้อประกันสุขภาพ และใบรับรองสุขภาพอย่างละเอียด
2. เมื่อเดินทางมาถึงแล้วจะไม่ต้องมีการกักตัว แต่จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น
3. กลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามา จะต้องเป็นกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ หรือเมดิคัลทัวร์ลิสต์ ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวและมีความจำเป็นต้องเดินทางมา
4. กลุ่มนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว ที่ได้รับอนุญาตจะมีระบบติดตามตัว
จากแนวคิดดังกล่าวนั้น ล่าสุดมีความเป็นไปได้ที่อาจนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งมีชื่อเรียกว่า สุวรรณภูมิบับเบิล โดยข้อเสนอดังกล่าวมาจากหอการค้าจังหวัดจันทบุรีและสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้ยื่นหนังสือให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ในการพิจารณามาตรการสุวรรณภูมิบับเบิล โดยร้องขอให้
1. อนุญาตให้นักธุรกิจจากประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน ไต้หวัน และอินเดีย ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มหลักเดินทางเข้ามาซื้ออัญมณีในจันทบุรีโดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน แต่ต้องผ่านการตรวจโควิด-19 จากประเทศต้นทางก่อน และเมื่อมาถึงไทยต้องอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐบาลจัดไว้ให้ รวมทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด
2. การซื้อขาย ผู้ประกอบการในจันทบุรีจะนำพลอยมาซื้อขายในสถานที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาทำการซื้อขายที่แน่นอนประมาณ 5 วัน โดยผู้ประกอบการเสนอจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า หากมีลูกค้าหลักจากต่างประเทศจากจีน ไต้หวัน และอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักประมาณ 70% เดินทางเข้ามาซื้ออัญมณีในไทยได้เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน หรือประมาณเดือนละ 100 คน ภายใน 1 เดือนจะสามารถสร้างมูลค่าการค้าได้ถึง 1,000 ล้านบาท
โดยความคืบหน้าล่าสุดจากการสอบถามข้อมูลคุณชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรีและอุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี พบว่า ศบค. ให้การสนับสนุนตามแนวทางที่นำเสนอไป โดยทางสมาคมฯ อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อสมาชิกผู้ค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพื่อให้ทราบจำนวนที่แน่นอนเพื่อสามารถนำไปหารือในขั้นตอนต่อไปได้ นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้วการจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2020 ระหว่างวันที่ 18-22 ธันวาคม 2563 จะมีการใช้ Virtual Exhibition มาช่วยผู้ประกอบการให้เข้าถึงผู้ซื้อในต่างประเทศด้วย ซึ่งจะช่วยทำการตลาดได้ในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ราคาไม่สูงนัก ขณะที่สินค้าที่มีราคาสูงผู้ซื้อมีความต้องการเห็นสินค้าจริงเพื่อใช้ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อ
ดังนั้น สุวรรณภูมิบับเบิลจึงเป็นข้อเสนอที่เป็นทางเลือกในช่วงเวลานี้ที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยเติบโตทวนกระแสโควิด-19 แต่ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการใดๆ ควรจะต้องประเมินความเสี่ยงที่ดีเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กันยายน 2563
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที