GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 25 ก.ย. 2020 14.06 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1509 ครั้ง

เครื่องประดับที่เป็นที่นิยมมาอย่างยาวนาน ที่เริ่มต้นที่มากกว่าแค่ความสวยงาม แต่เน้นเพื่อประโยชน์การใช้สอยเป็นหลัก แต่เมื่อผ่านกาลเวลา และวิวัฒนาการในแต่ละยุคสมัยการออกแบบของเข็มกลัดที่เปลี่ยนไป และมีความสวยงามยิ่งขึ้น...การเดินทางและเข็มกลัดในแต่ละยุคสมัยนั้นมีอะไรบ้าง สามารถติดตามได้จากที่นี่


ความเป็นมาของเข็มกลัด

            ‘เข็มกลัด’ คือหนึ่งในเครื่องประดับซึ่งอยู่คู่กับวิถีชีวิตของผู้คนและเป็นที่นิยมมาอย่างยาวนาน มันไม่ได้เริ่มต้นจากการถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความสวยงาม หากแต่เพื่อประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก มีบันทึกถึงเข็มกลัดชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบซึ่งระบุว่ามันทำมาจากหินที่ฝนจนเป็นแท่งอย่างง่ายๆ สำหรับเข็มกลัดที่ทำจากโลหะชิ้นแรกเกิดขึ้นในยุคสำริด (Bronze Age) เมื่อราว 2,500 -4,000 ปีที่ผ่านมา และจากจุดนั้นเข็มกลัดได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องประโยชน์ใช้สอย รูปทรง และดีไซน์

            กระทั่งในยุคไบเซนไทน์ (Byzantine Era) หรือราว ค.ศ. 330 เข็มกลัดเริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งยังถูกพัฒนารูปลักษณ์ ทั้งการประดับอัญมณี และการลงยาสีสันต่างๆ หากแต่ยังคงมีวัตถุประสงค์ด้านการใช้งานเป็นสำคัญ สาเหตุเนื่องมาจากในยุคสมัยนั้นกระบวนการตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มยังไม่พัฒนาและประณีตนัก เข็มกลัดจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องยึดตรึงเครื่องแต่งกายให้เข้าที่เรียบร้อย

            เข็มกลัดเดินทางผ่านกาลเวลา วิวัฒนาการมาจนกระทั่งมีการออกแบบที่สวยงามซับซ้อนมากขึ้น มีความหลากหลายของรูปแบบมากขึ้น ทำจากโลหะมีค่าและตกแต่งด้วยอัญมณีมีค่าราคาแพง จนในที่สุดแล้วมันได้กลายเป็นเครื่องประดับเช่นในปัจจุบัน ในบทความเรื่องนี้ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับจะนำท่านผู้อ่านเพลิดเพลินไปกับความสวยงามและรูปแบบที่หลากหลายของเข็มกลัดไปด้วยกัน

เข็มกลัดเซลติก หรือเข็มกลัดไวกิ้ง (Celtic / Viking Brooches) 

            เข็มกลัดเซลติกหรือเข็มกลัดไวกิ้งถูกพบครั้งแรกช่วงยุคกลางในประเทศไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร มีรูปร่างลักษณะเป็นห่วงวงแหวนโลหะที่ถูกเหน็บด้วยแท่งโลหะแหลมเล็ก มันถูกทำขึ้นเพื่อใช้ตรึงเสื้อผ้าและผ้าคลุมของชาวเคลต์และชาวไวกิ้งเพื่อเพิ่มความแน่นกระชับ 

เข็มกลัดเซลติก หรือเข็มกลัดไวกิ้ง(Celtic / Viking Brooch)

ภาพจาก: British Museum

 

เข็มกลัดไว้ทุกข์ (Mourning Brooches)

            เข็มกลัดไว้ทุกข์ คือหนึ่งในบรรดาเครื่องประดับไว้ทุกข์ (Mourning Jewelry) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในยุควิคตอเรีย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ระลึกถึงสมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลอันเป็นที่รักผู้ล่วงลับ เครื่องประดับและเข็มกลัดไว้ทุกข์ซึ่งได้รับความนิยมในยุคสมัยนั้นมักออกแบบให้สื่อถึงความตายหรือเชื่อมโยงกับผู้ตาย โดยอาจเป็นภาพวาด หรือการลงยาในโทนสีขาว-ดำ รวมถึงตกแต่งด้วยรูปและเส้นผมจำนวนหนึ่งของผู้ตาย เป็นต้น 

เข็มกลัดไว้ทุกข์ (Mourning Brooch) ออกแบบเป็นภาพวาด รูปหลุมศพ โดยนำเส้นผมของผู้ตายมาเรียงเป็นต้นไม้

ภาพจาก: Pinterest

 

En Tremblant Brooches

            ‘En Tremblant’ เป็นคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า สั่น สะเทือน เข็มกลัดรูปแบบนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในช่วงศตวรรษที่ 18-19 มักได้รับการออกแบบให้เป็นช่อดอกไม้ โดยความน่าสนใจของมันอยู่ที่การซ่อนกลไกหรือสปริงที่ช่วยให้เข็มกลัดเกิดการเคลื่อนไหวได้ขณะที่สวมใส่

En Tremblant Brooches และภาพระยะใกล้ ซึ่งเผยให้เห็นสปริงที่ช่วยให้สามารถขยับได้ขณะสวมใส่

ภาพโดย: Jewellery Discovery

 

เข็มกลัดคามิโอ (Cameo Brooches)

‘คามิโอ’ (Cameo) คือการแกะสลักภาพนูนต่ำลงบนวัตถุชนิดต่างๆ เข็มกลัดและเครื่องประดับคามิโอเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณและได้แพร่หลายเข้าสู่วัฒนธรรมกรีกและโรมัน โดยมันได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร 

เข็มกลัด Cameo

ภาพจาก: Pinterest

 

เข็มกลัดหวานใจ (Sweetheart Brooches) หรือเข็มกลัดแห่งรัก (Love Brooches)

            เข็มกลัดหวานใจเป็นที่รู้จักครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อบรรดาชายชาติทหารได้มอบมันให้เป็นของขวัญหรือของที่ระลึกแก่หญิงผู้เป็นที่รักก่อนตบเท้าเข้ากรมทหารเพื่อรับใช้ชาติ และกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข็มกลัดชนิดนี้ทำจากแผ่นโลหะเงินที่ถูกสลักให้เป็นลวดลายหรือข้อความที่สื่อและสะท้อนถึงความรักที่เขามีให้เธอ อาทิ รูปหัวใจ ดอกไม้ และนก Love Bird เป็นต้น

            ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเข็มกลัดรูปแบบต่างๆ ซึ่งเคยเป็นที่นิยมเมื่อในอดีต ปัจจุบันโฉมหน้าของเข็มกลัดได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบ วัสดุที่ใช้ รวมถึงวัตถุประสงค์หลักในการใช้งาน มันกลายเป็นเรื่องของสไตล์การแต่งกายมากกว่าประโยชน์ใช้สอย และในบางครั้งมันก็ถูกใช้เพื่อแสดงออกซึ่งตัวตนหรือเอกลักษณ์ของผู้ใช้อีกด้วย 

Sweetheart Brooches

ภาพจาก: Pinterest

 

 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

--------------------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. The Jewellery Editor. (9 October 2016). A history of brooches: the evolution of style. Retrieved on 3 July 2020 from http://www.thejewelleryeditor.com/jewellery/vintage/know-how/history-of-brooches-evolution-of-style/
  2. RAU. (13 December 2017). The comeback Kid: The Evolution of the Brooch. Retrieved on 3 July 2020 from https://rauantiques.com/blogs/canvases-carats-and-curiosities/a-brief-history-of-the-brooch
  3. Encyclopedia Britannica. Brooch. Retrieved on 3 July 2020 from https://www.britannica.com/art/brooch

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที