เครื่องประดับเทียม (Costume Jewellery หรือ Fashion Jewellery) ถือเป็นสินค้าแฟชั่นซึ่งจัดว่าเป็นสินค้าทางเลือกที่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้บริโภค และมักเป็นที่นิยมในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง จึงระมัดระมัดการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูง รวมถึงราคาโลหะมีค่าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อเครื่องประดับเทียมมากขึ้น
www.amazon.com
จากรายงานของ Alliedmarketresearch ระบุว่า ในปี 2019 ตลาดเครื่องประดับเทียมของโลกมีมูลค่า 32.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งผู้หญิงมีส่วนแบ่งกว่าครึ่งหนึ่งของการบริโภคเครื่องประดับเทียมทั้งหมด และคาดว่ามูลค่าเครื่องประดับเทียมของโลกจะเพิ่มเป็น 59.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2027 โดยระหว่างปี 2020-2027 เครื่องประดับเทียมจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.8%
ในปี 2019 สร้อยคอและสร้อยข้อมือมีสัดส่วนการบริโภครวมกันราว 41.4% และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อีกทั้งยังคาดว่าแหวนจะเป็นสินค้าที่เติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มเครื่องประดับเทียม โดยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.9% ในระหว่างปี 2020-2027
สำหรับตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับเทียมสำคัญของโลก ได้แก่ ตลาดหลักเดิมอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเยอรมนี เป็นต้น หรือตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อาทิ จีน บราซิล และอินเดีย ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ และผู้หญิงทำงาน (Working Woman)
นอกจากภาวะเศรษฐกิจและราคาโลหะมีค่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อเครื่องประดับเทียมแล้ว เหล่าเซเล็บคนดัง influencers (ผู้มีอิทธิพล) หรือนักแสดงดังจากฮอลลีวูดและบอลลีวูด ก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องประดับเทียมของคนทั่วไปเป็นอย่างมาก จากผลการสำรวจผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกากว่า 14,000 คน พบว่า Influencers มีประสิทธิภาพในการสร้างยอดขาย อีกทั้งยังเพิ่มแนวโน้มในการตัดสินใจของผู้บริโภคถึง 30% และข้อมูลจาก Fast Company กล่าวไว้ว่าความสามารถในการส่งต่อข้อมูลจาก Influencers ไปยังผู้บริโภคเพศหญิงมีอิทธิพลค่อนข้างสูง ในการสำรวจผู้หญิงเกือบ 1,500 คน พบว่า กว่า 86% ให้ความไว้วางใจแก่ Influencers ที่มีตัวตนและคิดว่าสามารถจับต้องได้จริง
ภาพ: https://www.harpersbazaar.com/uk/fashion/what-to-wear/g21743529/ affordable-jewellery-brands/
ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเทียมใน 10 อันดับแรกของโลกมานานนับทศวรรษ และล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกในอันดับที่ 4 ของโลก ด้วยสัดส่วนราว 5.61% ของมูลค่าส่งออกเครื่องประดับเทียมในตลาดโลก หรือมีมูลค่าส่งออก 147 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1.22% ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม สำหรับตลาดส่งออกหลักใน 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และฮ่องกง ในสัดส่วน 29.89%, 12.43%, 11.15%, 7.85% และ 7.84% ตามลำดับ
จากแนวโน้มความต้องการเครื่องประดับเทียมที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับเทียมในตลาดโลกมากขึ้น อย่างไรก็ดี คู่แข่งของไทยอย่างจีนหรืออินเดียมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ฉะนั้น ไทยจะต้องไม่แข่งขันด้านราคา แต่ควรเลือกเจาะตลาดผู้บริโภคระดับกลางถึงบน เพื่อให้เกิดความแตกต่างด้านคุณภาพและการออกแบบ รวมถึงศึกษาทำความเข้าใจสภาพตลาดของประเทศคู่ค้า เพื่อจะได้ผลิตสินค้าที่ตรงใจและครองใจผู้บริโภคได้อย่างยืนยาว
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กันยายน 2563
---------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
Costume Jewelry Market, Retrieved August 31, 2020, from https://www.alliedmarketresearch.com/costume-jewelry-market
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที