อุปสงค์เครื่องประดับทองในช่วงครึ่งปีแรกนี้ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองในหลายภูมิภาคที่เป็นตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ รวมถึงการที่ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสกุลเงินต่างๆ
• ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกในช่วงครึ่งปีแรกนี้ลดลงเกือบครึ่งที่อัตราร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 572 ตัน ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดตามรายงานข้อมูลของ World Gold Council
• ความต้องการช่วงไตรมาสที่สองเป็นความต้องการรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยอยู่ที่ 251 ตัน (ลดลงร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมา
• จีนเป็นตลาดแห่งแรกที่กลับมาเปิดใหม่หลังปิดเมือง จึงเป็นตลาดแห่งเดียวที่มีการฟื้นตัวเมื่อคิดเป็นรายไตรมาสจากเดิมที่ความต้องการลดต่ำลงมากในไตรมาสที่หนึ่ง
สถานการณ์ตลาดโลกในไตรมาสที่สองของปีนี้ยังคงส่งผลรุนแรงต่อความต้องการเครื่องประดับทอง การปิดเมืองทำให้ตลาดหลายแห่งต้องปิดทำการลง และผู้บริโภคก็ต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในช่วงเวลาที่ราคาทองพุ่งสูงขึ้นทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องจนผู้บริโภคหลายรายมองว่าเกินกำลังที่จะซื้อหาได้
ที่มา: World Gold Council
ความต้องการเครื่องประดับทองในช่วงครึ่งปีแรกนี้เหลือเพียง 572 ตัน คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 1,106 ตัน ความต้องการเครื่องประดับทองเมื่อคิดตามมูลค่าก็ลดต่ำลงเช่นกัน แม้ว่าราคาทองจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวก็ตาม มูลค่าความต้องการเครื่องประดับทองในช่วงครึ่งปีแรกนี้อยู่ที่ 30,100 ล้านเหรียญสหรัฐนับว่าเป็นมูลค่าที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ซึ่งในเวลานั้นทองคำมีราคาในหน่วยเหรียญสหรัฐเพียงราวร้อยละ 50 ของระดับราคาปัจจุบัน
ที่มา: https://www.chinadailyhk.com/articles/194/237/91/1529390948666.html
จีนและอินเดียมีส่วนสำคัญมากที่สุดที่ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองในครึ่งปีแรกนี้ลดต่ำลง เนื่องจากตลาดทั้งสองแห่งมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับตลาดเครื่องประดับทองอื่นๆ ดังนั้นเมื่อความต้องการในทั้งสองประเทศนี้ลดต่ำลงจึงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความต้องการทั่วโลก
ปริมาณความต้องการเครื่องประดับทั่วโลกในครึ่งปีแรกลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์
ขณะที่มูลค่าความต้องการเทียบเท่ากับปี 2008
จีน
ความต้องการเครื่องประดับทองของจีนในไตรมาสที่สองของปีนี้ลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 90.9 ตัน ส่งผลให้ความต้องการในช่วงครึ่งปีแรกนี้อยู่ที่ 152.2 ตัน หรือลดลงร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2007 เป็นต้นมา ทั้งนี้เนื่องจาก COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี ความต้องการเครื่องประดับทองของจีนในไตรมาสที่สองของปีนี้ก็กระเตื้องขึ้นจากไตรมาสก่อนอยู่พอสมควร เมื่อจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ไวรัสได้แล้ว ตลาดก็กลับมาเปิดในเดือนมีนาคม ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช่วยผ่อนคลายความกดดันด้านรายได้ของผู้บริโภคลงไปได้บ้าง อย่างไรก็ดี ความต้องการในช่วงครึ่งปีแรกนี้ยังคงได้รับความเสียหายอย่างหนัก ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่มองว่าที่ความต้องการเครื่องประดับทองอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นผลจากการที่ทองคำมีราคาสูงและราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายได้สุทธิของผู้บริโภคลดต่ำลง และผู้คนหันมานิยมเครื่องประดับทองที่มีน้ำหนักเบากันมากขึ้น
ราคาทองคำในหน่วยหยวนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9 ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้จนมาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 403 หยวนต่อกรัมในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานก็เพิ่มขึ้นในเมืองหลักๆ ของจีนรวม 31 เมือง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคตของผู้บริโภคก็ลดลงมาอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบหลายปี และข้อมูลจากสำนักสถิติจีน (Bureau of Statistics) ระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการของผู้บริโภคลดลงร้อยละ 36 ในช่วงครึ่งปีแรกนี้
ผลิตภัณฑ์ทองคำ 24 กะรัตซึ่งมีน้ำหนักเบา มีความแปลกใหม่ และออกแบบอย่างละเอียดประณีตนั้นยังคงดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้ในไตรมาสที่สองของปีนี้ มีปัจจัยหลายประการที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเครื่องประดับน้ำหนักเบา ประการแรก ผู้บริโภครุ่นใหม่มีรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่นิยมเครื่องประดับทองคำแท้ขนาดใหญ่หันมาหาเครื่องประดับที่มีน้ำหนักเบา มีการออกแบบที่ทันสมัย และราคาที่เอื้อมถึงได้มากขึ้น ประการที่สอง เนื่องจากผู้บริโภคต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนสินค้าที่ไม่จำเป็นระหว่างที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงประสบปัญหาอยู่ เครื่องประดับน้ำหนักเบาจึงเป็นตัวเลือกที่ช่วยประหยัดงบประมาณ ยิ่งเมื่อราคาทองในประเทศพุ่งสูงขึ้นด้วย และประการที่สาม ร้านค้าพร้อมที่จะนำเสนอสินค้ากลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ทำอัตรากำไรได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าเครื่องประดับทอง 24 กะรัตแบบดั้งเดิม
ตามข้อมูลจากพันธมิตรทางการค้าในอุตสาหกรรมนี้ ความต้องการเครื่องประดับแต่งงานอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ตลาดเครื่องประดับทองของจีนฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คู่แต่งงานหลายคู่ในจีนได้เลื่อนแผนการแต่งงานไปยังครึ่งหลังของปี 2020 เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกมีข้อห้ามอันเข้มงวดไม่ให้จัดงานชุมนุมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เดือนตุลาคมและเดือนธันวาคมยังเป็นเดือนที่มีจำนวนการแต่งงานสูงสุดอยู่แล้วด้วย ดังนั้นผู้ขายเครื่องประดับส่วนใหญ่จึงคาดว่าจะมีการจัดงานแต่งงานเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน
อินเดีย
ความต้องการเครื่องประดับทองในอินเดียลดฮวบลงในไตรมาสที่สองของปีนี้ด้วยสาเหตุจากการปิดเมืองทั่วทั้งประเทศ ความต้องการที่หายไปในช่วงเทศกาลสำคัญ ตลอดจนราคาทองที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองในอินเดียลดลงร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 44 ตัน ซึ่งนับว่าเป็นความต้องการรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดเท่าที่เก็บข้อมูลมาในช่วงหลายปี ขณะที่ความต้องการในช่วงครึ่งปีแรกนี้ลดลงร้อยละ 60 มาอยู่ที่ 117.8 ตัน ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมาตามข้อมูลของ World Gold Council
การปิดเมืองอย่างเข้มงวดในช่วงปลายเดือนมีนาคมมาจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2020 นั้นครอบคลุมช่วงเทศกาลซื้อทองที่สำคัญอย่าง Akshaya Tritiya อันถือเป็นเทศกาลมงคลที่เหมาะแก่การซื้อทองคำมากเป็นอันดับต้นๆ ในอินเดีย ทว่าในปีนี้การปิดเมืองต่างๆ ทั่วทั้งประเทศทำให้ลูกค้าไม่สามารถซื้อทองจากที่ร้านได้ และต้องไปซื้อจากผู้ขายทางออนไลน์เท่านั้น ยอดขายจึงลดน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน
เมื่อมาตรการเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงกลางไตรมาส กิจกรรมการซื้อขายจึงเริ่มฟื้นตัวกลับมาในบางภูมิภาค ธุรกิจฟื้นตัวมากขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเมื่อมีการระบายความต้องการที่ตกค้างจากช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากไม่มีงานแต่งงานและวันมงคลในช่วงเดือนดังกล่าว อีกทั้งบางพื้นที่ก็ต้องกลับมาปิดเมืองใหม่ และราคาทองคำก็เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้ความต้องการยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก
การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกับเครื่องประดับทองหดตัวลงเนื่องจากผู้บริโภคกังวลเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ในอนาคต และราคาทองคำที่สูงขึ้น GDP ของอินเดียมีแนวโน้มการเติบโตลดลงมาตั้งแต่ไตรมาสที่หนึ่งของปี 2019 และยิ่งลดต่ำลงอีกเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การตกงาน และข้อจำกัดต่างๆ ในการเปิดร้าน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังมากขึ้นในการใช้จ่ายเพื่อซื้อทองคำ ตามข้อมูลจากการสำรวจของ Reserve Bank of India (RBI) ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงจาก 85.6 ในเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ 63.7 ในเดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และดัชนีความเชื่อมั่นล่วงหน้าหนึ่งปีก็ลดลงอย่างหนักเช่นกัน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อซื้อเครื่องประดับทองถูกยับยั้งด้วยราคาทองภายในประเทศ โดยราคาเฉลี่ยในอินเดียระหว่างไตรมาสที่สองของปีนี้อยู่ที่ 46,381 รูปีต่อ 10 กรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
Shubh Jewellers
ผู้ขายเครื่องประดับหันมาใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อกระตุ้นยอดขาย การระบาดทำให้ธุรกิจร้านขายทองรูปแบบดั้งเดิมในอินเดียต้องหยุดชะงักลง และกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ขายใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อกระตุ้นยอดขาย แม้ว่าการขายผ่านช่องทางดิจิทัลจะยังคงเป็นเรื่องใหม่ ผู้ขายเครื่องประดับก็ได้หันมาใช้กลยุทธ์การขายหลายช่องทาง โดยนำช่องทางทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์มาผสมผสานกันเพื่อกระตุ้นยอดขาย
ประเทศตะวันออกกลางและตุรกี
ความต้องการเครื่องประดับทองในตุรกีร่วงลงร้อยละ 69 ในไตรมาสที่สองเหลือเพียง 3 ตัน ซึ่งนับเป็นความต้องการรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในฐานข้อมูลของ World Gold Council การที่ร้านขายเครื่องประดับต้องปิดร้านในช่วงโรคระบาด บวกกับราคาทองในประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ความต้องการในเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมาแทบจะหยุดชะงักลงโดยสิ้นเชิง เมื่อร้านกลับมาเปิดในช่วงเดือนมิถุนายน ความต้องการที่ตกค้างก็ได้ระบายออกมาบ้าง แต่การฟื้นตัวนั้นเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ เนื่องจากราคาทองได้ไต่สูงขึ้นไปอีก
ความเสียหายอย่างรุนแรงทั่วตลาดตะวันออกกลางส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับทองในภูมิภาคนี้ลดลงร้อยละ 69 ในไตรมาสที่สองของปีนี้ มาอยู่ที่ 13.6 ตัน สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์มีความต้องการลดต่ำลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว กล่าวคือลดลงร้อยละ 86 มาอยู่ที่ 1.3 ตัน ทั้งนี้เนื่องจากการปิดเมืองส่งผลให้การซื้อจากนักท่องเที่ยวหายไปโดยสิ้นเชิง ขณะที่ความต้องการในประเทศก็ชะลอตัวลงเพราะทองคำมีราคาสูง คนตกงานเพิ่มขึ้น และสภาพเศรษกิจโดยรวมก็ชะลอตัวลง
ความต้องการเครื่องประดับทองในอิหร่านยังคงลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเงินเรียลอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ และสถานการณ์โรคระบาดยิ่งเพิ่มความท้าทายทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรอยู่แล้ว โดยความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสที่สองของปีนี้ลดลงร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จึงส่งผลให้ความต้องการในช่วงครึ่งปีแรกนี้ลดลงร้อยละ 40 มาอยู่ที่ 10.2 ตัน
ประเทศตะวันตก
ความต้องการเครื่องประดับทองในสหรัฐไม่สามารถรักษาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอาไว้ได้ โดยลดลงมากถึงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 19.1 ตัน ซึ่งเป็นไตรมาสที่มีความต้องการต่ำที่สุด ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองช่วงครึ่งปีแรกนี้ลดลงร้อยละ 21 มาอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบแปดปีที่ 41.9 ตัน การปิดร้านเนื่องจาก COVID-19 เป็นเหตุผลที่เห็นได้ชัดเจน และยิ่งส่งผลรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเมื่อการปิดเมืองครอบคลุมช่วงเทศกาลอีสเตอร์และวันแม่ด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วทั้งสองเทศกาลนี้จะช่วยให้มีคนเข้าร้านเครื่องประดับเพิ่มขึ้นได้มาก ความต้องการตกต่ำลงในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ก่อนที่จะฟื้นตัวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเมื่อร้านเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง การฟื้นตัวนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยด้วย
เช่นเดียวกับในตลาดอื่นๆ การขายสินค้าทางออนไลน์ได้เข้ามาช่วยชดเชยยอดขายที่ขาดหายไปจากร้านค้าแบบดั้งเดิมได้เป็นบางส่วน
ความต้องการเครื่องประดับทองในยุโรปก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน กล่าวคือ ความต้องการในไตรมาสที่สองนั้นลดลงร้อยละ 42 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 8.2 ตัน ส่งผลให้ความต้องการช่วงครึ่งปีแรกนี้มาอยู่ที่ 19 ตัน ลดลงร้อยละ 29 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และที่อาจไม่น่าแปลกใจก็คือ เนื่องจากมีการการระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรงในอิตาลีและอังกฤษ ตลาดทั้งสองแห่งจึงมีความต้องการลดต่ำลงมาก โดยต่างมีความต้องการเครื่องประดับทองลดลงร้อยละ 45 ในไตรมาสที่สองของปีนี้
พัฒนาการการระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อแนวโน้มความต้องการเครื่องประดับทองในปี 2020
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ประเทศอื่นในเอเชีย
ผลกระทบจาก COVID-19 และการปิดเมืองที่ตามมา ตลอดจนราคาทองที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในตลาดเอเชียตะวันออกที่มีขนาดรองลงมานั้นเกิดความเสียหายโดยทั่วหน้ากัน อินโดนีเซียและไทยมีความต้องการเครื่องประดับทองลดลงมากที่สุดในไตรมาสที่สองและครึ่งปีแรกนี้ เนื่องจากทั้งสองตลาดต้องรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโคโรนาไวรัสบวกกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ก่อนแล้ว
ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกลดลงเป็นอัตราสองหลักในครึ่งปีแรกด้วยผลจาก COVID-19
ความต้องการในญี่ปุ่นนั้นแม้ว่าจะอ่อนตัวลงแต่ก็ได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสที่สองของปีนี้ลดลงร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 2.5 ตัน ส่งผลให้ความต้องการในครึ่งปีแรกนี้ลดลงร้อยละ 27 เป็น 5.6 ตัน โดยความต้องการสร้อยทองน้ำหนักสูงซึ่งน่าจะมีจุดประสงค์เพื่อการลงทุนด้วยนั้นได้รับประโยชน์จากราคาทองที่เพิ่มสูงขึ้น
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2563
------------------------------------------
ที่มา: “Gold Demand Trends: Q2 and H1 2020.” by World Gold Council. (July 30, 2020: pp. 2-5)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที