สืบเนื่องจากวันที่ 14 กรกฎาคม 2020 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารยุติการให้สถานะพิเศษแก่ฮ่องกง เพื่อตอบโต้การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีต่อฮ่องกงซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ฮ่องกงจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ รวมทั้งสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจ การยกเลิกการส่งออกเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหวให้แก่ฮ่องกง รวมทั้งฮ่องกงอาจต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างฮ่องกงกับสหรัฐอเมริกา ทั้งยังสั่นคลอนต่อสถานะศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนที่สำคัญของโลกอีกด้วย
สิทธิพิเศษของฮ่องกง
เมืองท่าศูนย์กลางการค้าของโลกแห่งนี้ นอกจากเป็นเมืองท่าปลอดภาษีแล้ว สหรัฐฯ ยังมอบสถานะพิเศษทางการค้าและเศรษฐกิจภายใต้กฎหมาย United States-Hong Kong Policy Act ในปี 1992 แม้ภายหลังจากที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงให้กับจีนในปี 1997 สหรัฐฯ ก็ยังคงกฎหมายดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่า มีการปฏิบัติกับฮ่องกงแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ ภายใต้สถานะพิเศษนี้ เงินดอลล่าร์สหรัฐสามารถแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์ฮ่องกงได้อย่างเสรี มีการแลกเปลี่ยนด้านสังคม วัฒนธรรม และการส่งเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหวระหว่างกัน รวมทั้งฮ่องกงและสหรัฐฯ มีข้อตกลงทางการค้าปลอดภาษีในหมวดเครื่องบิน (ยกเว้นเครื่องบินทางทหาร) ยาและเวชภัณฑ์ สารเคมีสำหรับการย้อมสี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นจุดดึงดูดให้บริษัทสหรัฐฯ เข้ามาทำธุรกิจในฮ่องกง รวมทั้งชาติตะวันตกอื่นๆ ยังนิยมมาตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในฮ่องกงด้วย ปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติดำเนินกิจการในฮ่องกงมากกว่า 9,000 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน 1,300 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจบริการทางการเงิน เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ มีชาวอเมริกันอาศัยอยู่ในฮ่องกงราว 85,000 คน
การค้าระหว่างสหรัฐฯ และฮ่องกง
ในปี 2019 ตลาดส่งออกหลักของฮ่องกงใน 5 ลำดับแรกคือ จีน สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน โดยคิดเป็นสัดส่วน 55.26%, 7.30%, 2.89%, 2.89% และ 2.17% ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักของฮ่องกง 5 รายการแรก คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และพลาสติก คิดเป็นสัดส่วน 56%, 13%, 10%, 3.3% และ 1.7% ตามลำดับ ขณะที่ฮ่องกงเป็นประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ เกินดุลการค้าสูงที่สุดด้วยมูลค่ากว่า 26,048 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองมาได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย และเบลเยี่ยม โดยสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากฮ่องกง 5 รายการแรกคิดเป็นสัดส่วน 71.21% รายละเอียดดังตาราง
ที่มา : https://www.census.gov/foreign-trade/statistics/product/enduse/imports/c5820.html
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในอันดับแรกของฮ่องกง รองมาคือ จีน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 25.20%, 15.99%, 15.62%, 10.94% และ 5.82% ตามลำดับ
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สำหรับสินค้าส่งออกรายการที่น่าสนใจของฮ่องกง คือ เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง รัตนชาติและกึ่งรัตนชาติ และเครื่องประดับเทียม มีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ดังรูป
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ของฮ่องกงไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน คิดเป็นสัดส่วน 42.62%, 29.12%, 7.20%, 3.51%, และ 2.03% ตามลำดับ
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของฮ่องกงเป็นที่ขึ้นชื่อและยอมรับทั่วโลก เครื่องประดับหรูของฮ่องกงมีราคาตั้งแต่ปานกลางถึงระดับสูง สินค้าที่นิยมคือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับทองตกแต่งอัญมณี เช่น เครื่องประดับแพลทินัมและเครื่องประดับทอง 14 กะรัต หรือ 18 กะรัต ตกแต่งด้วยเพชร ซึ่งทักษะฝีมือและการออกแบบของช่างฮ่องกงเป็นที่ยอมรับในระดับโลกเทียบเท่าฝีมือช่างในยุโรป ในอีกด้านหนึ่งฮ่องกงถือเป็นประตูทางการค้าของจีนในการส่งผ่านและ/หรือกระจายสินค้าของอัญมณีและเครื่องประดับไปยังส่วนต่างๆ ของโลก รวมถึงเป็นฐานในกระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เครื่องประดับเพื่ออาศัยสิทธิในการเป็นแหล่งกำเนิดสินค้า ขณะที่กระบวนการผลิตจีนย้ายไปใช้เซินเจิ้นและปันหยูเป็นฐานการผลิตหลัก
ผลกระทบหลังยกเลิกสิทธิพิเศษ
เมื่อสหรัฐฯ ยกเลิกสิทธิพิเศษแก่ฮ่องกงแล้ว หมายความว่า ต่อจากนี้ฮ่องกงจะถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ และจีน มีการทำสงครามทางการค้าระหว่างกันจึงเป็นเรื่องที่ฮ่องกงอาจต้องรับผลกระทบตามไปด้วย โดยสามารถแยกผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ดังนี้
1. ผลกระทบด้านการลงทุน ข้อมูลจาก UNCTAD ระบุว่า ในปี 2019 การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ของฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก มีมูลค่าลดต่ำลงจาก 104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดต่ำลงถึง 48% สืบเนื่องจากเหตุการณ์ประท้วงที่มีความยืดเยื้อต่อเนื่องในหลายเขตของฮ่องกง ตรงข้ามกับคู่แข่งศูนย์กลางการเงินอีกแห่งหนึ่งอย่างสิงคโปร์ที่มี FDI ในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 42% จึงมีความเป็นไปได้ว่า บริษัทต่างชาติจะถอนการลงทุนในฮ่องกงเพิ่มขึ้น โดยมองหาการลงทุนในประเทศอื่นแทน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งตามการจัดอันดับประเทศที่มี FDI เข้าประเทศมากที่สุดในปี 2019 ของ UNCTAD 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์
2. ผลกระทบด้านการกีดกันทางการค้า การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมา จะทำให้ฮ่องกงพลอยได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วยในการส่งออกไปสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับการตั้งกำแพงภาษี การจำกัดการนำเข้า หรือควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหวมายังฮ่องกง ในแบบเดียวกับที่สหรัฐฯ จำกัดไม่ให้จีนเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ รวมทั้งข้อตกลงในการทางการค้าที่มีอาจถูกยกเลิกได้
ก่อนที่จะมีการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน นั้น จีนและฮ่องกงสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯโดยมีภาษีแบบ MFN Rate ต่อมาด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 301 (Section 301) ของสหรัฐฯ ต่อจีน โดยอ้างความไม่เป็นธรรมทางการค้า ทำให้สหรัฐฯ ปรับอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการในเดือนกันยายนปี 2019 ก่อนที่จะปรับลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ภายหลังการบรรลุข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟสแรก ปัจจุบันในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับจากจีน มีอัตราภาษีนำเข้าไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 0-32.9%
3. ฉลากระบุถิ่นกำเนิดสินค้า หากสหรัฐฯ ปฏิเสธเอกสารที่มีการระบุถิ่นกำเนิดสินค้าจากฮ่องกงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า โดยถือว่ามีถิ่นกำเนิดเช่นเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ จะทำให้ต้นทุนการส่งออกของฮ่องกงปรับตัวสูงขึ้นได้
4. ผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยน แต่เดิมนั้นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐสามารถแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์ฮ่องกงได้อย่างเสรี ภายใต้กฎหมาย United States-Hong Kong Policy Act แต่เมื่อมีการยุติการให้สถานะพิเศษแก่ฮ่องกงอาจทำให้เงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลเข้าน้อยลง ทำให้เงินดอลลาร์ฮ่องกงอ่อนค่าลง
5. ผลกระทบการเดินทางและการขอวีซ่า เดิมทีชาวฮ่องกงสามารถเดินทางไปสหรัฐฯ ด้วยพาสปอร์ตฮ่องกงหรือของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยไม่ต้องขอวีซ่า การยกเลิกสิทธิ์ดังกล่าวของสหรัฐฯ จะทำให้คนฮ่องกงมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากขึ้นในการเดินทางไปสหรัฐฯ
โอกาสต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทย
สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ส่งออกจากฮ่องกงนั้นจำนวนไม่น้อยเป็นสินค้ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่ส่งผ่านมายังฮ่องกง ในฐานะที่เป็นตัวเชื่อมต่อไปยังตลาดอื่นๆ ของโลก โดยใช้สิทธิพิเศษของฮ่องกงเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน การเสียสิทธิพิเศษนี้อาจส่งผลให้มีการปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ โดยอัตราภาษีหมวดอัญมณีและเครื่องประดับปัจจุบันอยู่ที่ 0-13.5% และหากสหรัฐฯ กดดันให้ประเทศคู่ค้าอื่นโดยเฉพาะอียูและญี่ปุ่น ใช้มาตรการเดียวกัน ย่อมส่งผลกระทบให้ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกสั่นคลอน รวมทั้งจีนก็มีแนวโน้มลดการพึ่งพาฮ่องกงมากขึ้น โดยมีการผลักดันเมืองใหญ่หลายเมืองขึ้นมาแทนที่ ภายใต้แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ Greater Bay Area ซึ่งนอกจากฮ่องกง ยังมีมาเก๊า เซินเจิ้น และอีก 8 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือ การย้ายฐานการผลิตของจีนในขั้นตอนการเพิ่มมูลค่าและการใช้เป็นฐานส่งออกเพื่อใช้สิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าในการหลีกเลี่ยงนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งความใกล้ชิดของอาเซียนและจีนภายใต้ข้อตกลงทางการค้าที่มีต่อกัน มีส่วนเกื้อหนุนให้จีนขยายเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมาที่อาเซียน ซึ่งผูกพันกับภาคการผลิตของจีนอย่างมาก รวมถึงมีจีนเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้าหลายรายการ โดยไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจด้วยการมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี ภูมิประเทศเชื่อมโยงหลายประเทศในอาเซียน ตลอดจนมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงภูมิภาค และนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ฝีมือช่างเจียระไนเพชรพลอยของไทยเป็นที่รู้จักขึ้นชื่อในระดับโลก การใช้ไทยเป็นฐานการผลิตการสร้างมูลค่าเพิ่มและฐานในการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจึงเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ไทยยังสามารถใช้โอกาสนี้ขยายการส่งออกไปยังสหรัฐฯ แทนฮ่องกง ซึ่งสินค้าสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะในหมวดสินค้าที่ไทยมีความโดดเด่น เช่น เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่ไทยส่งไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วน 38.87%, 27.11%, 13.30%, 7.39% และ 6.01% ตามลำดับ อีกทั้งในรายการเครื่องประดับเงินและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนยังเป็นรายการที่ไทยยังไม่ถูกตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ ทำให้ได้เปรียบจีนและฮ่องกง ด้วยอัตราภาษี 0% ซึ่งมีตารางแสดงรายละเอียดอัตราอากรขาเข้าของสหรัฐฯ ที่จัดเก็บต่อจีน ฮ่องกง และไทย ดังนี้
ที่มา: www.worldtariff.com (August 2020)
เหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงย้ายฐานการผลิต การลงทุน จากฮ่องกงมายังภูมิภาคอาเซียนได้ การเตรียมความพร้อมเพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพที่น่าสนใจย่อมดึงดูดการค้าการลงทุนจากประเทศคู่ค้าสำคัญได้ไม่ยากนัก หากเราใช้เหตุนี้ในการสร้างโอกาสพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกได้ ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2563
-----------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที