ตามรายงาน Platinum Jewellery Business Review ประจำปี 2020 จัดทำขึ้นโดยการสนับสนุนของ Platinum Guild International (PGI®) จากการสำรวจผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกกว่า 1,000 รายและผู้บริโภคกว่า 4,000 รายในตลาดหลักสี่แห่งของเครื่องประดับแพลทินัม อันได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ และอินเดีย เพื่อทำการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2019 และอาจช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับฟื้นตัวในปี 2020 รวมถึงศึกษาผลกระทบจาก Covid-19 ต่อทัศนคติและสภาพอารมณ์ของผู้บริโภค
จากรายงานกล่าวสรุปว่า โครงการทางการตลาดต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจเครื่องประดับแพลทินัมในปี 2019 นั้นอาศัยประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงเครื่องประดับ และสถานการณ์ Covid-19 ก็ยิ่งช่วยเร่งให้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดเร็วยิ่งขึ้น ดังที่พบเห็นได้อย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ การเว้นระยะห่างทางสังคมผลักดันให้การซื้อสินค้าทางดิจิทัลพุ่งสูงขึ้นมาก แต่ระบบการซื้อขายทางดิจิทัลนั้นจะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อประสานเข้ากับกลยุทธ์ที่ดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมผ่านช่องทางหลากหลายที่เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างราบรื่น
ทั้งนี้ ธุรกิจเครื่องประดับยังคงติดอยู่กับแนวทางเดิมๆ มากเกินไป จึงจำเป็นต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาเติมเต็มความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองของผู้บริโภคให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างสรรค์เรื่องราวของ
แบรนด์ให้โดดเด่นและแตกต่าง ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมเครื่องประดับต้องเลือกแนวทางที่ชัดเจนและก้าวสู่อาณาเขตที่ไกลออกไปจากเดิม โดยพิจารณาเทรนด์กระแสใหม่ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบัน และอาจประยุกต์แนวคิดทางการตลาดของธุรกิจเครื่องประดับแพลทินัมมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดในธุรกิจตน
เทรนด์ 1: การสร้างความแข็งแกร่งทางดิจิทัล
ผู้บริโภคหันมาซื้อเครื่องประดับผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น การเพิ่มช่องทางและส่งเสริมการขายผ่านทางดิจิทัลจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง PGI® ได้เปิดตัวโครงการ Reboot Campaign ใน 5 เมืองของมณฑลกวางตุ้งเมื่อปี 2019 โดยตั้งเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีโอกาสเป็นลูกค้าราว 30 ล้านราย โครงการดังกล่าวใช้ยุทธวิธีการตลาดทางดิจิทัลที่เน้นการเจาะกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคซึ่งมีแนวโน้มว่ากำลังเลือกซื้อเครื่องประดับ แนวทางนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายเครื่องประดับแพลทินัมของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ขายด้วย และขณะนี้มีการนำแผนการดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้งระหว่างที่ธุรกิจค้าปลีกในจีนค่อยๆ กลับมาเปิดทำการ
เทรนด์ 2: การสร้างแบรนด์และการเล่าเรื่อง
การสำรวจพฤติกรรมการซื้อหลังเกิดโรคระบาดพบว่า แบรนด์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจมีโอกาสสูงมากที่จะฟื้นตัวกลับมาได้รวดเร็วกว่า แบรนด์อื่นๆ อีกทั้งกลุ่มสินค้าสำหรับ “ซื้อให้ตนเอง” กำลังเติบโตด้วยแรงสนับสนุนจากหญิงชาวจีนซึ่งมีสถานะทางสังคมสูงและมีรายได้ส่วนเหลือให้ใช้จ่าย ลูกค้ากลุ่มนี้มองหาเครื่องประดับที่สะท้อนพลังของผู้หญิง การตอบสนองความต้องการของตนเอง และบุคลิกเฉพาะตัว เพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์ ความมั่นใจ และการมีรสนิยมที่ดี
PGI® รองรับกลุ่มลูกค้าที่กำลังเติบโตกลุ่มนี้ด้วยการเปิดตัวชุดเครื่องประดับ Platinum Moment Collection ในเดือนสิงหาคม 2019 โดยนำเสนอเครื่องประดับที่ตอบสนองความต้องการของผู้หญิงยุคใหม่ในแง่งานออกแบบและคุณภาพระดับสูง ตลอดจนความต้องการของพันธมิตรผู้ขายของ PGI ซึ่งสนใจงานออกแบบที่มีเอกลักษณ์ มีความคุ้มค่า และให้อัตรากำไรสูง โดย Platinum Moment Collection วางขายในร้านค้ากว่า 500 แห่งที่ดำเนินงานโดยพันธมิตรผู้ขาย 35 รายของ PGI® ซึ่งต่างก็รายงานว่ายอดขายเครื่องประดับแพลทินัมเพิ่มสูงขึ้น
เทรนด์ 3: จุดสิ้นสุดของตลาดระดับกลาง
การค้นหาและรักษาอาณาเขตทางธุรกิจที่เหมาะสมด้วยรูปแบบธุรกิจที่สอดคล้องกลายเป็นสิ่งจำเป็นในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้น เมื่อจำนวนคนเข้าร้านลดลง ผู้ขายเครื่องประดับจึงจำเป็นต้องกระตุ้นยอดขายที่ให้อัตรากำไรสูงด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง เจาะตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง
สถานการณ์การระบาดระดับโลกส่งผลให้ธุรกิจเครื่องประดับทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง แต่ขณะเดียวกันก็ได้สร้างโอกาสให้เกิดขึ้นด้วย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ได้รับการสำรวจในญี่ปุ่น จีน สหรัฐ และอินเดีย กำลังทบทวนลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิต และยินดีจ่ายเงินซื้อเครื่องประดับในระดับเดิมหรือมากกว่าก่อนช่วง Covid-19 ไม่ว่าจะเพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ ให้ตนเอง หรือเพื่อแสดงความขอบคุณแก่ผู้เป็นที่รักในช่วงเวลาที่ท้าทาย ผู้ขายเครื่องประดับที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มนี้ เพราะเครื่องประดับมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้สึกดังกล่าวโดยสัมพันธ์กับการแสดงความรักและสื่อความหมาย
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2563
------------------------------------------
ที่มา: “Tectonic shifts: Covid-19 to accelerate changes in jewellery industry.” JNA. (July/August 2020: pp. 9-10)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที