kataynoi

ผู้เขียน : kataynoi

อัพเดท: 24 ก.ค. 2020 16.58 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1103 ครั้ง

เพร็พ ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเอชไอวี โดย PrEP เป็นการใช้ยาต้านไวรัส ในผู้ที่มีความเสี่ยงก่อนจะมีการสัมผัสเชื้อหรือก่อนจะมีความเสี่ยง เพื่อให้ร่างกายมีระดับยาที่เพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ยาเพร็พ หรือ PrEP (Pre-exposure prophylaxis) คือยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อ ใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มชายรักชาย สาวประเภทสอง หรือผู้ที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย คู่นอนมีเชื้อเอชไอวี เป็นต้น โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่าการใช้ยาเพร็พ PrEP สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่า 90%


ยาเพร็พ PrEP คืออะไร

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาต้านเอชไอวีสำหรับการป้องกันหรือเพร็พ

ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคเอดส์สะสมประมาณ 1 ล้าน 2 แสนคน โดยในจำนวนดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว 7 แสน 7 หมื่นคน ถือเป็นสถิติที่ยังคงน่าเป็นห่วง ทำให้มีการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการมีคู่นอนคนเดียว การใช้ถุงยางอนามัย การไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน รวมถึงการใช้ยาต้านเอชไอวี ที่มีผู้สนใจจำนวนไม่น้อย แต่พบว่าในหลายคนยังขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาต้านเอชไอวี แต่มาใช้เป็นยาที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ

การใช้ยาต้านเอชไอวีสำหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีหรือยาเพร็บ (PrEP) เป็นการป้องกันวิธีหนึ่ง ที่ใช้ร่วมกับการป้องกันการติดเชื้อวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย และการมีคู่นอนคนเดียว เป็นต้น โดยชนิดของยาก็จะเป็นชนิดเดียวกับยาที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่จะใช้ยาเพียง 2 ชนิด เม็ดเดียว ในขณะที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องกินยา 3 ชนิดร่วมกัน เมื่อกินยาเข้าไปแล้วตัวยาจะอยู่ในกระแสเลือด และช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย

เพร็พ เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเช่น ผู้มีคู่ผลเลือดบวกและคู่กำลังรอเริ่มยาต้านเอชไอวีอยู่หรือคู่ได้ยาต้านเอชไอวีแล้วแต่ยังตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือดอยู่ ผู้ที่มีคู่ผลเลือดบวกที่ไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มักมาขอรับบริการการป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อหรือเพ็พ (PEP) เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงได้หลังได้รับคำปรึกษาแนะนำ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ชายหรือหญิงที่ทำงานบริการทางเพศ ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดที่กำลังฉีดอยู่หรือฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 3 เดือน ผู้ต้องขังที่เป็นผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด และผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

ก่อนจะเริ่มเพร็พ จะต้องมีการตรวจเลือดก่อนว่าไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อน และมีการตรวจอื่น ๆ ได้แก่ การทำงานของไต การตั้งครรภ์ (ในเพศหญิง) ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หลังจากที่เริ่มต้นกินยาแล้วจะต้องให้มีระดับยาคงที่ก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7 วัน จนกระทั่งระดับยาสูงเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ที่สำคัญคือต้องกินยาต่อเนื่องทุกวัน จากข้อมูลการศึกษาในขณะนี้ และการกินยาต้านเอชไอวีสำหรับการป้องกันยังต้องอยู่ในความดูแลและควบคุมของแพทย์ เนื่องจากยามีผลข้างเคียงคือ เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง และมึนหัว ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายไปเองในเวลาไม่นาน ในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อกระดูกและไตได้ ซึ่งต้องติดตามผลการศึกษาในระยะยาวต่อไป โดยจะต้องมีการตรวจติดตามว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ทุก ๆ 3 เดือน ตรวจการทำงานของไตทุก ๆ 6 เดือน  และคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะซิฟิลิส

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที