การแต่งงานในปัจจุบันนี้ คู่บ่าวสาวและครอบครัวให้ความสำคัญกับสินสอดทองหมั้นที่เป็นเงินสดและทองเป็นอย่างมาก เพราะมันเป็นเครื่องชี้วัดสถานนะและเป็นสิ่งที่ยึดถือมาตามธรรมเนียมที่ฝ่ายชายจะต้องสู่ขอฝ่ายหญิง แม้ว่าทั้งสองครอบครัวที่เกี่ยวดองกันจะมีการพูดคุยกันแล้วว่าไม่ต้องมีสินสอดก็ได้ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตามประเพณีที่ต้องจัดหาสินสอดไว้ก็เป็นเรื่องสำคัญ
เป็นความเข้าใจผิดของคนในยุคหลังว่าสินสอดนั้นเป็นธรรมเนียมในการแต่งงานมาแต่โบราณ เข้าใจผิดไปว่าสมัยก่อน ผู้หญิงจะแต่งเข้าบ้านผู้ชาย จึงไม่มีโอกาสดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเหมือนเดิม ยิ่งถ้าบ้านอยู่ไกลกันมากยิ่งกลับมาเยี่ยมไม่ได้ จึงต้องให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พ่อแม่ฝ่ายหญิงไว้ใช้ตอนแก่ หรือหากเลิกรากันไป เงินสินสอดจะเป็นเหมือนหลักประกันว่าฝ่ายหญิงจะมีอยู่มีกินต่อไปนั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิดถนัด
ในอดีต คนไทยเราแต่งงานแบบ Matrilocal หรือ การแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายหญิงครับ สิ่งที่ยืนยันได้จากประเพณีก็คือการแห่ขันหมากไปสู่ขอ และการสู่ขวัญทำบุญเรือนนั้นเกิดที่บ้านฝ่ายหญิง แม้กระทั่งการเรียกฝ่ายชายว่า “บ่าว” สะท้อนสถานภาพของชายในบ้านได้เป็นอย่างดี ในทางการศึกษาด้านวัฒนธรรมศึกษามองว่าเพราะในอดีตนั้นบ้านเราเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่ดินและเรือนเป็นทรัพย์สินสำคัญ พ่อแม่จะไม่ยอมมอบที่ดินให้คนนอกดังนั้นหาบ้านหนึ่งมีลูกสาวหลายคน เมื่อออกเรือนก็คือการย้ายจากบ้านพ่อแม่ไปสร้างเรือนใหม่ในอาณาเขตที่ดินใกล้ๆ กัน และลูกสาวคนเล็กต้องครองเรือนใหญ่เพื่อดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า เนื่องจาลูกสาวคนเล็กมักจะถึงวัยออกเรือนช้าที่สุดนั่นเอง
ดังนั้น ฝ่ายชายที่แต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิง จะได้รับการแบ่งปันมรดกที่ดิน ก็ต่อเมื่อได้ทำงานในไร่นาช่วยครอบครัว และมีความพยายามมากพอในการตัดไม้และผูกเรือนด้วยตัวเอง จึงจะปลูกเรือนใหม่ได้ ในการแต่งงานใหม่ทรัพย์สินมรดกที่ฝ่ายชายได้รับจากพ่อแม่ของตนจึงกลายเป็น “สินสอด” ที่จะนำมาอยู่กินในบ้านเรือนของฝ่ายหญิง
2.สินสอด ในสังคมเกษตรกรรม
จะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตรกรรมสิ่งสำคัญที่ที่ทำกิน อีกสิ่งคือ แรงงานและทุน ซึ่งฝ่ายชายจะมีสิ่งนี้ บ้านที่มีลูกชายและลูกผู้หญิงก็จะสงวนที่ดินให้ลูกหญิง ส่วนชายนั้นพ่อแม่มักจะมอบมรดกเป็น วัวควายหรือเงิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เป็นทุน ดังนั้นเมื่อลูกชายออกเรือน ก็จะนำมรดกเหล่านี้ไปเป็น “สินสอด” เพื่อใช้ในการทำกินในที่ดินของฝ่ายหญิง ทำให้ครอบครัวคนไทยโบราณมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายนั่นเอง
การทำงานในสมัยใหม่ทำให้ สินสอด เปลี่ยนความหมาย เพราะในช่วงที่ไทยเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ฝ่ายชายมีบทบาทในการทำงาน การเรียนมากกว่า มีโอกาสสะสมทุนและฐานะทางการเงิน ดังนั้น สินสอดที่เป็นเงินหรือทองจึงเป็นหลักประกันให้กับฝ่ายหญิงกรณีที่มีการเลิกรา เพราะการหางานทำนอกบ้านของฝ่ายหญิงนั้นทำได้ยากกว่าและเมื่อประสบปัญหาครอบครัวเช่นนี้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเกรงว่าจะกระทบการใช้ชีวิต ดังนั้น สินสอดจึงต้องเป็นเงินหรือทรัพย์สินแก่พ่อแม่ฝ่ายหญิงไว้ใช้ตอนแก่ หรือหากเลิกรากันไป เงินสินสอดจะเป็นเหมือนหลักประกันว่าฝ่ายหญิงจะมีอยู่มีกินต่อไปเช่นในปัจจุบัน
หวังว่า บทความนี้จะพอทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของ สินสอด ของคนไทยสมัยโบราณมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามยุคสมัยเปลี่ยนความหมายของสินสอดก็เปลี่ยน แต่รากฐานประเพณีที่ดีงามยังคงอยู่ให้สืบทอดต่อไป สินสอดยังคงเป็นเครื่องมือแสดงความมั่นคง มั่นใจ และสถานภาพทางสังคมที่ดี แก่สองครอบครัวเสมอมา
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที