อาหารภาคเหนือ อาหารเหนือ เป็นอย่างไร
ภาคเหนือ จะมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีอากาศหนาว พันธุ์ไม้เมืองหนาวต่าง ๆ มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งในอดีต มีศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างไปจากภาคอื่น ๆ อาหารของคนภาคเหนือในปัจจุบันยังมีพืชผักตามป่าเขา และพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมาใช้ในการปรุงอาหารเป็นส่วนใหญ่จะใส่ในโก๊ะข้าวหรือขันโตก ทำด้วยไม้รูปทรงกลม ที่จะนั่งร่วมวงและหยิบอาหารได้อย่างสะดวก ชาวบ้านภาคเหนือมักจะจัดอาหารใส่ถ้วยวางบนโก๊ะข้าวหรือขันโตกนั่งร่วมวงรับประทานร่วมกัน คนภาคเหนือจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก
อาหารภาคเหนือ ส่วนใหญ่รสชาติไม่จัด รสชาติจะออกไปทางเค็มและเผ็ด แต่ไม่เผ็ดจัด ส่วนรสหวานจะไม่นิยมใส่น้ำตาล ความหวานจะได้จากส่วนผสมที่นำมาทำอาหาร เช่น ความหวานจากผักต่าง ๆ จากปลา จากเนื้อสัตว์อื่น ๆ ส่วนรสเปรี้ยวจะไม่นิยมเปรี้ยวมากมัก จะใช้มะเขือส้ม มะกอก รสเค็มนิยมใช้ปลาร้า
นอกจากนี้สิ่งที่นิยมผสมลงในเครื่องปรุงอาหารภาคเหนืออีกอย่าง คือ กะปิหรือถั่วเน่า การปรุงอาหารภาคเหนือมักจะทำให้สุกมาก ๆ เช่น ผัดจะผัดจนผักต่าง ๆ นุ่ม ผักต้มก็จะต้มจนนุ่ม อาหารส่วนใหญ่มักใช้ผัดกับน้ำมัน เช่น ตำขนุน เมื่อตำเสร็จจะนำไปผัดจนนุ่มก่อนจึงจะรับประทาน เครื่องจิ้มก็เป็นน้ำพริกต่าง ๆ ที่ค่อนข้างแห้ง ผักจิ้มส่วนใหญ่เป็นผักนึ่งสุก อาหารประเภทแกงต่าง ๆ มักนิยมทำแบบที่มีน้ำน้อย ๆ เพราะชาวเหนือจะรับประทานโดยปั้นข้าวเหนียวแล้วจิ้มกินกับกับข้าว เพื่อสะดวกในการรับประทาน วิธีการหุงต้มอาหารภาคเหนือ คือวิธีการแกง ต้ม นึ่ง ปิ้ง จี่ แอ๊บ ตำ ยำ เป็นต้น อาหารภาคเหนือที่รู้จักกัน ได้แก่ แกงฮังเล แกงโฮะ ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม ขนมจีนน้ำเงี้ยว เป็นต้น ผักที่คนภาคเหนือนิยมรับประทานทั่ว ๆ ไป ได้แก่ ผักปู่ย่า เห็ดเผาะ เห็ดถอบ ผักขี้หูด หยวกกล้วย มะรุม บ่าริดไม้ (ลิ้นหมา) บ่าหนุน (ขนุนอ่อน) ดอกงิ้ว พริกหนุ่ม ดอกลิงแลว ตูน ผักหระ (ชะอม) หัวปลี ดอกแค หน่อไม้ไร่ มะเขือส้ม
ในอดีตบริเวณภาคเหนือของไทยเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน ช่วงที่อาณาจักรแห่งนี้เรืองอำนาจ ได้แผ่ขยายอาณาเขตเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และมีผู้คนจากดินแดน ต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งนี้ จึงได้รับวัฒนธรรมหลากหลายจากชนชาติต่าง ๆ เข้ามา ในชีวิตประจำวันรวมทั้งอาหารการกินด้วย
อาหารเหนือ ประกอบด้วยข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก มีน้ำพริกชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง มีแกงหลายชนิด เช่น แกงโฮะ แกงแค นอกจากนั้นยังมีแหนม ไส้อั่ว แคบหมู และผักต่าง ๆ สภาพอากาศก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้อาหารพื้นบ้านภาคเหนือแตกต่างจากภาคอื่น นั่นคือ การที่อากาศหนาวเย็นเป็นเหตุผลให้อาหารส่วนใหญ่มีไขมันมาก เช่น น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล ไส้อั่ว เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น อีกทั้งการที่อาศัยอยู่ในหุบเขาและบนที่สูงอยู่ใกล้กับป่า จึงนิยมนำ
พืชพันธุ์ในป่ามาปรุงเป็นอาหาร เช่น ผักแค บอน หยวกกล้วย ผักหวาน ทำให้เกิดอาหารพื้นบ้าน ชื่อต่าง ๆ เช่น แกงแค แกงหยวกกล้วย แกงบอน อาหารพื้นบ้านภาคเหนือมีความพิเศษตรงที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมการกินจากหลายกลุ่มชน เช่น ไทใหญ่ จีนฮ่อ ไทลื้อ และคนพื้นเมือง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที