เมื่อโลหะมีค่าราคาพุ่งสูงขึ้นบวกกับคนซื้อเครื่องประดับกันน้อยลง บริการสกัดโลหะจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020
อุตสาหกรรมเครื่องประดับทุกภาคส่วนต่างไม่อาจหลีกเลี่ยงผลสืบเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และภาคธุรกิจการสกัดโลหะก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ในช่วงที่เศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ ทุกคนต่างรู้ดีว่าโลหะมีค่าจะต้องมีราคาสูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในหมู่นักลงทุน เนื่องจากนักลงทุนจำเป็นต้องหันมาหาสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งยังคงมูลค่าเอาไว้ได้ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
แนวโน้มนี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติสาธารณสุขโลกในปัจจุบัน “ราคาโลหะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วก่อนช่วง COVID-19 การระบาดทั่วโลกนำไปสู่การทุ่มซื้อทองคำแท่งเพื่อการลงทุนซึ่งก็ส่งผลต่อราคาโลหะในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ” Chris Botha ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของ Pallion กล่าว
Peter Beck กรรมการผู้จัดการของบริษัท Peter W Beck ในแอดิเลด ซึ่งรับสกัดทอง เงิน แพลทินัม และแพลเลเดียม ระบุว่า “เราสังเกตเห็นว่าโลหะมีค่ามีราคาเพิ่มสูงในตอนนี้ อย่างไรก็ดี เราไม่แน่ใจว่าแนวโน้มนี้เกี่ยวข้องกับการระบาดของ COVID-19 โดยตรงหรือเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยรวม อันเกิดจากปัจจัยอื่นๆ” โดยหนึ่งในปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
“โลหะมีค่ามักมารับบทบาทเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่แล้ว” Richard Hayes ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ The Perth Mint กล่าว บริษัทนี้เป็นของรัฐบาลออสเตรเลียตะวันตกและทำการสกัดทองคำส่วนใหญ่ที่ขุดได้จากบนฝั่ง นอกเหนือจากเศษโลหะทองและเงิน
ในขณะเดียวกัน ข้อกำหนดด้านการค้าปลีก อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ถดถอยลงต่างมีส่วนทำให้ผู้คนลดการใช้จ่ายรายได้ส่วนที่เหลือไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย และส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับหดตัวลงด้วย เมื่อโลหะมีค่ามีราคาสูงขึ้นบวกกับความต้องการเครื่องประดับสำเร็จรูปลดต่ำลงจึงทำให้การสกัดโลหะให้บริสุทธิ์เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ขายเครื่องประดับ
Darren Sher ผู้อำนวยการของ Chemgold กล่าวว่า “แม้ผลกระทบจาก COVID-19 จะส่งผลรุนแรงต่อเราทุกคน แต่ก็ยังมีแง่บวกในอุตสาหกรรมเครื่องประดับตรงที่ว่าโลหะมีค่าที่เก็บอยู่ในคลังสินค้านั้นสามารถนำไปสกัดให้บริสุทธิ์ได้ ผู้ขายเครื่องประดับก็จะได้รับโลหะมีค่าบริสุทธิ์กลับไป หรือได้รับเงินมาเพื่อใช้ชำระหนี้ต่างๆ ได้”
เขาเสริมว่า “เนื่องจากราคาทองเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ในบางกรณีจึงอาจมีการขาดทุนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนเดิมจากการซื้อโลหะมีค่าเมื่อไม่กี่ปีก่อน” อย่างไรก็ดี ความเป็นไปได้นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะทองคำ แต่ยังใช้ได้กับโลหะมีค่าสกัดประเภทอื่นๆ ได้แก่ เงิน แพลทินัม และแพลเลเดียม
โอกาสทอง
ราคาทองคำสะท้อนปัจจัยต่างๆ มากมายนอกเหนือจากอุปสงค์และอุปทาน เนื่องจากทองคำมักใช้เป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยงทางการเงินอันเกิดจากความผันผวนของค่าเงิน ภาวะเงินเฟ้อ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนความไม่มั่นคงทางการเมือง เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นตลอดช่วงเกือบหนึ่งทศวรรษ และในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทองคำก็มีราคาเลยระดับ 1,700 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ไปแล้ว
นักวิเคราะห์บางรายคาดว่าราคาจะสูงขึ้นอีกตลอดปี 2020 โดยอาจเลยสถิติสูงสุดในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจากที่เคยทำไว้ในปี 2011
Hayes อธิบายว่า ราคาทองคำได้รับการ “ติดเทอร์โบ” เมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอีกด้วยอันเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันความต้องการทองคำจริง (physical gold) ก็หดตัวลดลงจากวิกฤติการระบาด
“ตลาดทองโลกกลับตาลปัตรเพราะไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยความต้องการในจีนและอินเดียตกต่ำลงอันเป็นผลจากการปิดเมือง ขณะที่ในประเทศตะวันตก นักลงทุนต่างพากันแห่ไปซื้อทองคำแท่งเพื่อใช้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับรับมือกับความปั่นป่วนในภาคการเงิน” รายงานจาก Reuters ระบุเมื่อไม่นานมานี้
อันที่จริง รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำในไตรมาสที่ 1 ปี 2020 ของ World Gold Council ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี และลดฮวบถึงร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019
“ตลาดเครื่องประดับทั่วโลกมีตัวเลขตกต่ำลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วโดยแทบไม่มีข้อยกเว้น เพราะผลกระทบจากโคโรนาไวรัสมาบวกกับผลลัพธ์จากราคาทองที่พุ่งสูง” รายงานระบุ ในช่วงเดียวกันนั้นความต้องการเครื่องประดับแพลทินัมลดลงร้อยละ 26 ตามรายงาน Platinum Quarterly ฉบับล่าสุดจาก World Platinum Investment Council (WPIC) และการผลิตเครื่องประดับแพลทินัมในจีนก็ลดลงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019
ในขณะเดียวกัน คาดกันว่าการผลิตเครื่องประดับเงินจะลดลงร้อยละ 7 ในปี 2020 นับเป็นการหดตัวลงมากที่สุดในรอบสี่ปี กระนั้น Hayes ชี้ว่า แม้ความต้องการในธุรกิจเครื่องประดับลดลง แต่ราคาเงินก็พุ่งขึ้นตามแนวโน้มราคาทองคำ
“ราคาเงินมีแนวโน้มคู่ขนานกับทองคำ แต่ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเงินกลับแข็งแกร่งขึ้นมากกว่าจนอัตราการเพิ่มแซงหน้าทองคำไปแล้ว” เขากล่าว
Adam Van Sambeek ผู้จัดการฝ่ายทรัพย์สินที่ Morris & Watson ในโอ๊คแลนด์ระบุว่า นอกจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากนักลงทุนแล้ว “ข้อกำหนดด้านการค้าและการผลิตก็ทำให้ปริมาณอุปทานมีจำกัดและยิ่งผลักดันให้ราคาทองคำและเงินพุ่งสูงขึ้น”
ปัจจัยเหล่านี้ ทั้งการใช้โลหะมีค่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และปริมาณอุปทานที่ลดลง ล้วนมีส่วนช่วยให้ราคาทอง เงิน แพลทินัม และแพลเลเดียมฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากความต้องการหยุดชะงักลงในช่วงแรกเพราะโคโรนาไวรัส โดยราคาได้ลดดิ่งลงในเดือนมีนาคม 2020 ขณะที่การระบาดในสหรัฐรุนแรงจนถึงจุดสูงสุด
แพลเลเดียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญร่วมกับนิกเกิลในการผลิตทองขาว มีราคาลดลงร้อยละ 43 จากจุดสูงสุดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่ 2,754 เหรียญสหรัฐ โดยเป็นผลจากความต้องการที่ลดลงอย่างหนักในอุตสาหกรรมยานยนต์จีน อย่างไรก็ดี เมื่อถึงวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาแพลเลเดียมก็ฟื้นตัวกลับมาที่ 2,011 เหรียญสหรัฐ ที่จริงแล้วแพลเลเดียมเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในช่วงสองปีที่ผ่านมาตามข้อมูลจาก Forbes โดยราคาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 85 ระหว่างเดือนสิงหาคม 2018 ถึงมีนาคม 2019
แพลทินัมได้รับผลกระทบจากโรคระบาดน้อยกว่าโลหะอื่นๆ และราคาก็ค่อนข้างคงตัว รายงานจาก WPIC ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า “เนื่องจากกลไกขับเคลื่อนของแพลทินัมมีลักษณะเฉพาะตัวและไม่เกี่ยวข้องกับการระบาด ผลกระทบทางลบโดยรวมจาก COVID-19 จึงน้อยกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้มาก”
รายงานยังได้คาดการณ์ว่าอุปสงค์และอุปทานน่าจะยังคงสมดุลอยู่ในช่วงปี 2020 โดยทั้งอุปสงค์และอุปทานต่างลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบห้าปี ปริมาณที่ลดลงนั้นมีสาเหตุหลักมาจากการปิดทำการและข้อกำหนดควบคุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นผู้ผลิตแพลทินัมรายใหญ่ที่สุด โดยในขณะที่เขียนบทความนี้ เหมืองต่างๆ ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการด้วยกำลังการผลิตเพียงร้อยละ 50 นอกจากนี้ แอฟริกาใต้ยังเป็นผู้ผลิตทองคำและแพลเลเดียมรายหลักร่วมกับรัสเซียด้วย ซึ่งเหมืองแพลเลเดียมของรัสเซียแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคเลย
Nornickel ผู้ผลิตแพลเลเดียมรายใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางในปี 2020 โดยหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ Sergey Dyachenko กล่าวว่า “เราคาดว่าปริมาณการผลิตโลหะที่ขายได้จะฟื้นกลับมาในช่วงที่เหลือของปีนี้”
กลยุทธ์ในการสกัดโลหะมีค่า
เนื่องจากโลหะมีค่ายังคงมีราคาสูงขณะที่ความต้องการเครื่องประดับลดลง ผู้ขายเครื่องประดับจึงมีโอกาสสร้างความคล่องตัวด้วยการสกัดโลหะมีค่า
“ในแง่สินค้าคงคลังสำหรับการใช้งานตามปกตินั้น การมีของมากองไว้ค่อนข้างเป็นเรื่องที่สิ้นเปลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องเสียค่าเช่าคลังเก็บด้วย ดังนั้นการส่งมันไปสกัดและเปลี่ยนให้เป็นเงินสด เพื่อที่คุณจะได้นำเงินสดนั้นกลับไปหมุนเป็นวัตถุดิบคงคลังเพื่อการผลิตเพิ่มเติม ก็น่าจะสมเหตุสมผลดี ณ จุดนี้” Hayes กล่าว
Sher จาก Chemgold ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อข้อกำหนดเกี่ยวกับ COVID-19 เริ่มมีผลบังคับใช้ “บริการสกัดโลหะของเราก็เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ขายและผู้ผลิตเครื่องประดับพากันส่งเศษโลหะและเศษเหลือจากการผลิต (lemel) มาเป็นจำนวนมากเพื่อให้แน่ใจว่าตนเองมีเงินทุนสำรองเมื่อจำเป็น
“เราพบว่ามีการส่งเศษเหลือจากการทำความสะอาด (sweeps) เข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย แต่เมื่อข้อกำหนดผ่อนคลายลง ความต้องการก็เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ” เขาเสริม
Botha จาก Pallion กล่าวว่า “โรงสกัดของเราสกัดโลหะมีค่าเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดในออสเตรเลียและยังคงทำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อสนองความต้องการของตลาดตั้งแต่ช่วงโรคระบาดเป็นต้นมา เราพบว่างานสกัดโลหะมีค่าเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์โดยมาจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับ
“ผู้ผลิตเครื่องประดับหลายรายดำเนินการโละของในช่วงวิกฤตินี้ และส่งเศษโลหะที่เหลือจากการผลิตมาสกัดเพื่อช่วยให้กิจการรับมือกับวิกฤติได้ อีกอย่างหนึ่งช่วงนี้ก็ใกล้ช่วงท้ายปีงบประมาณแล้วด้วย”
ในขณะเดียวกัน Van Sambeek ตั้งข้อสังเกตว่า “การปิดร้านชั่วคราวอันเป็นผลจาก COVID-19 ช่วยให้ลูกค้าของเรามีโอกาสเก็บกวาดคลังสินค้าอย่างที่ควรทำมานานแล้ว
“การที่ทองมีราคาสูงบวกกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจส่งผลให้ปริมาณการสกัดโลหะมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกิจการหลายแห่งจัดการโละสินค้าเก่าหรือสินค้าที่ขายออกช้าเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดหรือโลหะ”
Beck สังเกตเห็นว่าความต้องการสกัดโลหะมีค่า “เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน” ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา “เราเชื่อว่าการสกัดโลหะน่าจะทำหน้าที่เป็นแหล่งกระแสเงินสดให้แก่ผู้ขายและผู้ผลิตเครื่องประดับในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้” เขาอธิบาย
“เพราะตอนนี้โลหะมีค่ามีราคาสูงและการค้าขายยังคงติดขัดอยู่ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ขายเครื่องประดับจัดการโลหะมีค่าที่ตนเก็บไว้ ไม่ว่าจะในรูปเครื่องประดับสำเร็จรูปหรือไม่สำเร็จรูป โดยอาศัยการสกัดโลหะ”
Beck แนะนำให้ผู้ขายเครื่องประดับเริ่มต้นจากการนำสินค้าคงคลังเก่าที่เก็บไว้นานกว่าสี่ถึงห้าปีมาสกัดก่อน “เนื่องจากราคาโลหะมีค่าเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จึงเป็นไปได้ว่ามูลค่าของโลหะมีค่าอย่างเดียวอาจสร้างรายได้กลับมามากกว่าราคาซื้อเดิมของสินค้า”
ในขณะเดียวกัน Sher กล่าวว่า ผู้ขายเครื่องประดับควรส่งโลหะมีค่าไปสกัด “อย่างสม่ำเสมอ” เนื่องจากค่าธรรมเนียมมีสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับจากโลหะมีค่า
“ผมแนะนำว่าถ้าทำได้ ให้เก็บโลหะมีค่าทั้งหมดที่คุณมีอยู่แยกตามหมวดหมู่ คือ เงิน ทองคำ ทองขาว และแพลทินัม” เขาเสริม
“วิธีนี้ช่วยให้ได้ค่าสกัดโลหะที่ประหยัดกว่าเนื่องจากการสกัดโลหะสองชนิด (ทอง/เงิน) นั้นถูกกว่าการสกัดโลหะสี่ชนิด (ทอง/เงิน/แพลทินัม/แพลเลเดียม) และการสกัดเฉพาะแพลทินัม เรากำหนดแนวทางไว้ให้ว่าควรแยกโลหะอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าค่าธรรมเนียมต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้”
Van Sambeek ให้คำแนะนำว่า “เนื่องจากทองคำและแพลเลเดียมมีราคาสูง โลหะสีขาวกะรัตสูงซึ่งมีแพลทินัมและแพลเลเดียมจึงควรได้รับการสกัดก่อน”
“แต่เพราะโลหะส่วนใหญ่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น การสกัดไม่ว่าแบบใดก็จะช่วยให้คุณได้เงินทุนกลับมาอย่างรวดเร็วในเวลานี้” เขาเสริม
ส่วนการเลือกบริษัทสกัดโลหะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ไม่แน่นอนนั้น Hayes แนะนำให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยชี้ว่าผู้สกัดในสหรัฐหลายรายถูกประกาศล้มละลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้โลหะของลูกค้าต้องมาตกอยู่ในกองทรัพย์สินรวมของเจ้าหนี้
“คุณควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีประเด็นเรื่องหนี้สินอยู่” เขาแนะนำ
Botha เสริมว่า “มี ‘ผู้สกัด’ ของแท้อยู่น้อยรายในออสเตรเลีย มีหลายรายที่อ้างว่าเป็นผู้สกัดแต่แท้จริงแล้วเป็นผู้รวบรวมเท่านั้น ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้ส่งงานสกัดไปให้กิจการที่ทำการสกัดจริงๆ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่คุณทำก็คือการจ่ายเงินให้คนกลาง เราเป็นโรงสกัดอิสระเพียงแห่งเดียวในออสเตรเลียที่ได้รับการรับรองจาก London Bullion Market Association (LBMA) และ Shanghai Gold Exchange (SGE) และคุณสามารถชมทัวร์โรงงานสกัดของเราได้ทางออนไลน์บน YouTube”
ที่จริงแล้ว การจัดการสินค้าคงคลังนั้นเป็นองค์ประกอบอันสำคัญยิ่งในธุรกิจค้าปลีกแม้กระทั่งในเวลาที่ธุรกิจเติบโต แต่ความสำคัญของการสร้างเงินสดหมุนเวียนโดยอาศัยการสกัดโลหะมีค่าในช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในภาวะวิกฤติปัจจุบัน เมื่อผู้ขายเครื่องประดับเริ่มกลับมาเปิดร้านและผู้บริโภคใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 กลยุทธ์การสกัดโลหะที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กิจการเครื่องประดับ ตลอดจนช่วยให้กิจการมีโอกาสรอดและโอกาสที่จะประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มิถุนายน 2563
------------------------------------------
ที่มา: “Liquid gold opportunity: refining stock during COVID-19.” by Arabella Roden. JEWELLER. Retrieved June 3, 2020 from https://www.jewellermagazine.com/Article/8906/Liquid-gold-opportunity-refining-stock-during-COVID-19.
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที