GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 02 มิ.ย. 2020 15.21 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1364 ครั้ง

ผลกระทบจากไวรัสโควิด -19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ทำให้ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2563 ไม่รวมทองคำลดลงมากถึง 25.31% หรือมีมูลค่า 1,774.74 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากรวมทองคำแล้ว ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น 1.14 เท่า หรือมีมูลค่า 8,147.46 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งออกทองคำฯ ซึ่งเป็นสินค้าหลักได้เพิ่มสูงกว่า 3.50 เท่า เพราะราคาทองคำทำสถิติพุ่งสูงขึ้นในรอบ 8 ปี ส่วนการส่งออกสินค้าสำคัญทั้งวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบก็ลดลงมาก และลดลงในเกือบทุกตลาด แต่ตลาดที่ยังโตได้ดีคือ อาเซียน และตลาดที่เป็นโอกาสของไทย คือ จีน ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ผู้คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ดี จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ที่กลายเป็น New Normal โดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ เสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดียและ Chat App ฉะนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วงชิงโอกาสความอยู่รอด


สถานการณ์นำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2563

            การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2563 มีมูลค่า 2,897.14 ล้านเหรียญสหรัฐ (89,913.26 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 22.03 (ร้อยละ 24.34 ในหน่วยของเงินบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้าลดลง ผู้นำเข้าไทยชะลอการนำเข้าทั้งสินค้ากึ่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปลดลง โดยการนำเข้าทองคำฯ ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนกว่าร้อยละ 62 ลดลงร้อยละ 21.35 อีกทั้งสินค้าสำคัญรายการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเพชรเจียระไน พลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเศษโลหะมีค่า มีมูลค่านำเข้าหดตัวลงต่อเนื่อง

            การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2563 เพิ่มขึ้น 1.14 เท่า (1.11 เท่า ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 8,147.46 ล้านเหรียญสหรัฐ (252,714.18 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 3,792.34 ล้านเหรียญสหรัฐ (119,578.99 ล้านบาท) ขยับขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.98 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย โดยเป็นผลจากการส่งออกทองคำฯ ในสัดส่วนราว
ร้อยละ 78 ได้เพิ่มสูงกว่า 3.50 เท่า อันเนื่องมาจากการทำกำไรจากส่วนต่างของราคา ในจังหวะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อหักทองคำฯ ออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 1,774.74 ล้านเหรียญสหรัฐ (54,218.88 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 25.31 (ร้อยละ 27.65 ในหน่วยของเงินบาท) ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2563

รายการ

มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)

สัดส่วน (ร้อยละ)

เปลี่ยนแปลง

(ร้อยละ)

ม.ค.-เม.ย. 62

ม.ค.-เม.ย. 63

ม.ค.-เม.ย. 62

ม.ค.-เม.ย. 63

มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด

3,792.34

8,147.46

100.00

100.00

114.84

หัก มูลค่าส่งออกทองคำฯ

1,416.14

6,372.72

37.34

78.22

350.01

คงเหลือมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำฯ

2,376.20

1,774.74

62.66

21.78

-25.31

หัก มูลค่าสินค้าส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และอื่นๆ

210.32

121.86

5.55

1.50

-42.06

คงเหลือมูลค่าส่งออกสุทธิ

2,165.88

1,652.88

57.11

20.29

-23.69

 

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า

  1. สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับแพลทินัม ลดลงร้อยละ 6.41, ร้อยละ 34.19, ร้อยละ 29.09 และร้อยละ 16.90 ตามลำดับ
  2. สินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 34.77,
    ร้อยละ 49.11 และร้อยละ 34.71 ตามลำดับ

            จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงัก ผู้บริโภคก็ใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น ทำให้ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังตลาดโลกได้ลดลง โดยตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) (ดังตารางที่ 2)  ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 คือ สหภาพยุโรป ตลาดหลักอันดับแรกของไทยที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 12.28 ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงพุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มีผลให้ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลง โดยเฉพาะเบลเยียม อิตาลี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ตลาดที่อยู่ในอันดับ 2, 3, 4 และ 5 โดยสินค้าหลักส่งออกไปยังเบลเยียมเป็นเพชรเจียระไน ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังอิตาลี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส เป็นเครื่องประดับทอง ที่ล้วนปรับตัวลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1 อย่างเยอรมนี เติบโตได้ร้อยละ 18.50 เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 20

            การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา อีกหนึ่งตลาดหลักของไทยหดตัวลงร้อยละ 3.42 โดยไทยส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทองและพลอยเนื้อแข็งเจียระไนได้ลดลง ส่วนการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักก็เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.54 เนื่องจากกำลังซื้อในสหรัฐฯ ลดลงมากจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ มียอดผู้ป่วยสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลง ส่งผลให้มีผู้ว่างงานมากขึ้น โดยจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

            มูลค่าการส่งออกไปยังฮ่องกงลดลงร้อยละ 53.58 เนื่องมาจากมูลค่าส่งออกสะสมไตรมาสแรกที่ลดลงกว่าร้อยละ 50 ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อันสืบเนื่องมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ความต้องการบริโภคในประเทศและจากประเทศคู่ค้าต่อสินค้าฟุ่มเฟือยอัญมณีและเครื่องประดับลดลงมาก มีผลให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการไปฮ่องกงได้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน และสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ที่ต่างมีมูลค่าลดลงมาก

            ส่วนตลาดสำคัญอื่นๆ ที่มีมูลค่าหดตัวลง อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 28.22 ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจของประเทศตะวันออกกลาง ทำให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก และการที่ไวรัสกระจายไปทั่วโลกทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลงอย่างมาก ซึ่งก็ทำให้รายได้ของประเทศตะวันออกกลางหดหายลงไปด้วยเพราะน้ำมันเป็นสินค้าหลักจากภูมิภาคนี้ กำลังซื้อของชาวตะวันออกกลางจึงลดลง มีผลให้ไทยส่งออกไปยังกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล ตลาดหลักใน 3 อันดับแรกได้ลดลง
ร้อยละ 4.01, ร้อยละ 41.07 และร้อยละ 40.85 ตามลำดับ โดยสินค้าหลักส่งออกไปยังกาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเครื่องประดับทอง ที่ต่างมีมูลค่าลดลง ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังอิสราเอล คือ เพชรเจียระไน และเพชรก้อน ก็หดตัวลงมาก

            การส่งออกไปยังอินเดียลดลงร้อยละ 2.34 ปัจจัยหลักก็ยังเป็นผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคู่แต่งงาน ซึ่งเป็นกลุ่มรายได้หลักของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเลื่อนการแต่งงานออกไป อีกทั้งประเทศคู่ค้าของอินเดียก็ยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ผู้นำเข้าอินเดียจึงลดการนำเข้าสินค้าจากไทยโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบอย่างเพชรเจียระไน พลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน

            ส่วนตลาดจีนหดตัวลงร้อยละ 50.16 เนื่องมาจากมูลค่าส่งออกสะสมในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ที่ลดลงมากจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่สถานการณ์ได้คลี่คลายลงและทางการจีนเริ่นผ่อนปรนการ Lock down ประเทศในเดือนมีนาคม กิจการต่างๆ รวมถึงบริษัทที่ทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เริ่มทยอยมาเปิดดำเนินการมากขึ้น ประชาชนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ไทยเริ่มส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงเมษายน โดยไทยส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินได้เพิ่มสูงกว่า 1.57 เท่า ดังนั้น จีนจึงเป็นตลาดที่เริ่มฟื้นตัวที่จะเป็นโอกาสของไทยในการเพิ่มยอดขายมากขึ้น เพื่อชดเชยตลาดหลักเดิมที่ยังคงชะลอตัว

            สำหรับตลาดสำคัญที่ยังเติบโตได้ ได้แก่ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 42.53 จากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 72 ได้สูงถึงร้อยละ 57.08 โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการส่งออกเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเศษโลหะมีค่า ได้เพิ่มขึ้นกว่า 15.35 เท่า รวมทั้งเครื่องประดับทอง สินค้าส่งออกถัดมาก็เติบโตได้สูงถึงร้อยละ 40.24 อีกทั้งไทยยังส่งออกไปยังมาเลเซีย เวียดนาม และ กัมพูชา ตลาดในอันดับ 2, 3 และ 4 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.52, ร้อยละ 24.80 และร้อยละ 29.39 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังมาเลเซียและกัมพูชาเป็นเครื่องประดับทอง ส่วนสินค้าหลักส่งออกไปยังเวียดนามเป็นอัญมณีสังเคราะห์ ที่ล้วนขยายตัวได้เป็นอย่างดี

            อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมาก เป็นพฤติกรรมรูปแบบใหม่ที่จะกลายเป็น New Normal จากการกักตัวหรือ work from home ทำให้ผู้คนใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ เสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดียและ Chat App ผู้ประกอบการจึงควรเน้นทำตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและ Chat app อีกทั้งผู้บริโภคยังคำนึงถึงความปลอดภัยของสุขอนามัยมากขึ้น  ฉะนั้น แบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ ต้องออกมาสื่อสารมาตรการดูแลความปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัส เพื่อช่วยสร้างความไว้วางใจต่อแบรนด์/ร้านค้ามากขึ้น

ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ไปยังตลาด/ภูมิภาคต่างๆ ในระหว่างปี 2562 – 2563

ประเทศ/ภูมิภาค

มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)

สัดส่วน (ร้อยละ)

เปลี่ยนแปลง

ม.ค.-เม.ย. 62

ม.ค.-เม.ย. 63

ม.ค.-เม.ย. 62

ม.ค.-เม.ย. 63

(ร้อยละ)

สหภาพยุโรป

512.40

449.48

21.56

25.33

-12.28

สหรัฐอเมริกา

389.43

376.13

16.39

21.19

-3.42

ฮ่องกง

646.01

299.89

27.19

16.90

-53.58

กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

213.81

153.48

9.00

8.65

-28.22

อินเดีย

142.76

139.42

6.01

7.86

-2.34

อาเซียน

71.45

101.84

3.01

5.74

42.53

ญี่ปุ่น

66.84

64.77

2.81

3.65

-3.11

ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

44.64

43.04

1.88

2.42

-3.60

จีน

73.15

36.46

3.08

2.05

-50.16

รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช

5.76

8.46

0.24

0.48

46.92

อื่นๆ

209.94

101.80

8.84

5.74

-51.51

รวม

2,376.20

1,774.74

100.00

100.00

-25.31

 

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

 

            ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

1 มิถุนายน 2563

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที