การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2563 มีมูลค่า 2,897.14 ล้านเหรียญสหรัฐ (89,913.26 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 22.03 (ร้อยละ 24.34 ในหน่วยของเงินบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้าลดลง ผู้นำเข้าไทยชะลอการนำเข้าทั้งสินค้ากึ่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปลดลง โดยการนำเข้าทองคำฯ ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนกว่าร้อยละ 62 ลดลงร้อยละ 21.35 อีกทั้งสินค้าสำคัญรายการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเพชรเจียระไน พลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเศษโลหะมีค่า มีมูลค่านำเข้าหดตัวลงต่อเนื่อง
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2563 เพิ่มขึ้น 1.14 เท่า (1.11 เท่า ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 8,147.46 ล้านเหรียญสหรัฐ (252,714.18 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 3,792.34 ล้านเหรียญสหรัฐ (119,578.99 ล้านบาท) ขยับขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.98 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย โดยเป็นผลจากการส่งออกทองคำฯ ในสัดส่วนราว
ร้อยละ 78 ได้เพิ่มสูงกว่า 3.50 เท่า อันเนื่องมาจากการทำกำไรจากส่วนต่างของราคา ในจังหวะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อหักทองคำฯ ออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 1,774.74 ล้านเหรียญสหรัฐ (54,218.88 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 25.31 (ร้อยละ 27.65 ในหน่วยของเงินบาท) ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2563
รายการ |
มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) |
สัดส่วน (ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ) |
||
ม.ค.-เม.ย. 62 |
ม.ค.-เม.ย. 63 |
ม.ค.-เม.ย. 62 |
ม.ค.-เม.ย. 63 |
||
มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด |
3,792.34 |
8,147.46 |
100.00 |
100.00 |
114.84 |
หัก มูลค่าส่งออกทองคำฯ |
1,416.14 |
6,372.72 |
37.34 |
78.22 |
350.01 |
คงเหลือมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำฯ |
2,376.20 |
1,774.74 |
62.66 |
21.78 |
-25.31 |
หัก มูลค่าสินค้าส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และอื่นๆ |
210.32 |
121.86 |
5.55 |
1.50 |
-42.06 |
คงเหลือมูลค่าส่งออกสุทธิ |
2,165.88 |
1,652.88 |
57.11 |
20.29 |
-23.69 |
ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า
จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงัก ผู้บริโภคก็ใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น ทำให้ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังตลาดโลกได้ลดลง โดยตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) (ดังตารางที่ 2) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 คือ สหภาพยุโรป ตลาดหลักอันดับแรกของไทยที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 12.28 ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงพุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มีผลให้ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลง โดยเฉพาะเบลเยียม อิตาลี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ตลาดที่อยู่ในอันดับ 2, 3, 4 และ 5 โดยสินค้าหลักส่งออกไปยังเบลเยียมเป็นเพชรเจียระไน ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังอิตาลี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส เป็นเครื่องประดับทอง ที่ล้วนปรับตัวลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1 อย่างเยอรมนี เติบโตได้ร้อยละ 18.50 เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 20
การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา อีกหนึ่งตลาดหลักของไทยหดตัวลงร้อยละ 3.42 โดยไทยส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทองและพลอยเนื้อแข็งเจียระไนได้ลดลง ส่วนการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักก็เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.54 เนื่องจากกำลังซื้อในสหรัฐฯ ลดลงมากจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ มียอดผู้ป่วยสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลง ส่งผลให้มีผู้ว่างงานมากขึ้น โดยจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์
มูลค่าการส่งออกไปยังฮ่องกงลดลงร้อยละ 53.58 เนื่องมาจากมูลค่าส่งออกสะสมไตรมาสแรกที่ลดลงกว่าร้อยละ 50 ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อันสืบเนื่องมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ความต้องการบริโภคในประเทศและจากประเทศคู่ค้าต่อสินค้าฟุ่มเฟือยอัญมณีและเครื่องประดับลดลงมาก มีผลให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการไปฮ่องกงได้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน และสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ที่ต่างมีมูลค่าลดลงมาก
ส่วนตลาดสำคัญอื่นๆ ที่มีมูลค่าหดตัวลง อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 28.22 ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจของประเทศตะวันออกกลาง ทำให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก และการที่ไวรัสกระจายไปทั่วโลกทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลงอย่างมาก ซึ่งก็ทำให้รายได้ของประเทศตะวันออกกลางหดหายลงไปด้วยเพราะน้ำมันเป็นสินค้าหลักจากภูมิภาคนี้ กำลังซื้อของชาวตะวันออกกลางจึงลดลง มีผลให้ไทยส่งออกไปยังกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล ตลาดหลักใน 3 อันดับแรกได้ลดลง
ร้อยละ 4.01, ร้อยละ 41.07 และร้อยละ 40.85 ตามลำดับ โดยสินค้าหลักส่งออกไปยังกาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเครื่องประดับทอง ที่ต่างมีมูลค่าลดลง ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังอิสราเอล คือ เพชรเจียระไน และเพชรก้อน ก็หดตัวลงมาก
การส่งออกไปยังอินเดียลดลงร้อยละ 2.34 ปัจจัยหลักก็ยังเป็นผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคู่แต่งงาน ซึ่งเป็นกลุ่มรายได้หลักของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเลื่อนการแต่งงานออกไป อีกทั้งประเทศคู่ค้าของอินเดียก็ยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ผู้นำเข้าอินเดียจึงลดการนำเข้าสินค้าจากไทยโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบอย่างเพชรเจียระไน พลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน
ส่วนตลาดจีนหดตัวลงร้อยละ 50.16 เนื่องมาจากมูลค่าส่งออกสะสมในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ที่ลดลงมากจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่สถานการณ์ได้คลี่คลายลงและทางการจีนเริ่นผ่อนปรนการ Lock down ประเทศในเดือนมีนาคม กิจการต่างๆ รวมถึงบริษัทที่ทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เริ่มทยอยมาเปิดดำเนินการมากขึ้น ประชาชนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ไทยเริ่มส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงเมษายน โดยไทยส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินได้เพิ่มสูงกว่า 1.57 เท่า ดังนั้น จีนจึงเป็นตลาดที่เริ่มฟื้นตัวที่จะเป็นโอกาสของไทยในการเพิ่มยอดขายมากขึ้น เพื่อชดเชยตลาดหลักเดิมที่ยังคงชะลอตัว
สำหรับตลาดสำคัญที่ยังเติบโตได้ ได้แก่ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 42.53 จากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 72 ได้สูงถึงร้อยละ 57.08 โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการส่งออกเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเศษโลหะมีค่า ได้เพิ่มขึ้นกว่า 15.35 เท่า รวมทั้งเครื่องประดับทอง สินค้าส่งออกถัดมาก็เติบโตได้สูงถึงร้อยละ 40.24 อีกทั้งไทยยังส่งออกไปยังมาเลเซีย เวียดนาม และ กัมพูชา ตลาดในอันดับ 2, 3 และ 4 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.52, ร้อยละ 24.80 และร้อยละ 29.39 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังมาเลเซียและกัมพูชาเป็นเครื่องประดับทอง ส่วนสินค้าหลักส่งออกไปยังเวียดนามเป็นอัญมณีสังเคราะห์ ที่ล้วนขยายตัวได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมาก เป็นพฤติกรรมรูปแบบใหม่ที่จะกลายเป็น New Normal จากการกักตัวหรือ work from home ทำให้ผู้คนใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ เสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดียและ Chat App ผู้ประกอบการจึงควรเน้นทำตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและ Chat app อีกทั้งผู้บริโภคยังคำนึงถึงความปลอดภัยของสุขอนามัยมากขึ้น ฉะนั้น แบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ ต้องออกมาสื่อสารมาตรการดูแลความปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัส เพื่อช่วยสร้างความไว้วางใจต่อแบรนด์/ร้านค้ามากขึ้น
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ไปยังตลาด/ภูมิภาคต่างๆ ในระหว่างปี 2562 – 2563
ประเทศ/ภูมิภาค |
มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) |
สัดส่วน (ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง |
||
ม.ค.-เม.ย. 62 |
ม.ค.-เม.ย. 63 |
ม.ค.-เม.ย. 62 |
ม.ค.-เม.ย. 63 |
(ร้อยละ) |
|
สหภาพยุโรป |
512.40 |
449.48 |
21.56 |
25.33 |
-12.28 |
สหรัฐอเมริกา |
389.43 |
376.13 |
16.39 |
21.19 |
-3.42 |
ฮ่องกง |
646.01 |
299.89 |
27.19 |
16.90 |
-53.58 |
กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง |
213.81 |
153.48 |
9.00 |
8.65 |
-28.22 |
อินเดีย |
142.76 |
139.42 |
6.01 |
7.86 |
-2.34 |
อาเซียน |
71.45 |
101.84 |
3.01 |
5.74 |
42.53 |
ญี่ปุ่น |
66.84 |
64.77 |
2.81 |
3.65 |
-3.11 |
ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก |
44.64 |
43.04 |
1.88 |
2.42 |
-3.60 |
จีน |
73.15 |
36.46 |
3.08 |
2.05 |
-50.16 |
รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช |
5.76 |
8.46 |
0.24 |
0.48 |
46.92 |
อื่นๆ |
209.94 |
101.80 |
8.84 |
5.74 |
-51.51 |
รวม |
2,376.20 |
1,774.74 |
100.00 |
100.00 |
-25.31 |
ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
1 มิถุนายน 2563
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที