GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 28 เม.ย. 2020 11.38 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1503 ครั้ง

แม้ว่า COVID Disruption จะส่งผลกระทบให้ทุกภาคส่วนต้องรับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งนำมาสู่ความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการออกมาตรการ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น เงิน 5,000 พัน แก่บุคคลธรรมดา และการลดภาระหรือพักหนี้แก่ลูกค้าของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีละเครื่องประดับ ที่เป็นอีกส่วนหนึ่งให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเลือกใช้และต่อยอดกับมาตรการอื่นๆ ในการสร้างรากฐานและก้าวต่อไปได้อีกด้วย ซึ่งจะมีมาตรการใดบ้าง สามารถอ่านรายละเอียดได้ในบทความนี้


มาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

            อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสําคัญต่อประเทศ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ของประเทศ สามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะมีทักษะฝีมือและความสามารถในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่โดดเด่นในระดับโลก แต่เนื่องด้วยอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง วัตถุดิบหลายอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการต่างๆ ขึ้น เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ ตลอดจนก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกได้ โดยมีรายละเอียดสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ดังนี้

มาตรการด้านภาษี 


            1. ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทุกชนิดตั้งแต่ปี 2560 รายละเอียดตามบัญชีท้ายประกาศ กระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่ง

            2. พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า หน้า 182-184 (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.customs.go.th/)

            3. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 617 พ.ศ. 2559) และภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา (ตามพระราชกฤษฎีกา

            4. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 618 พ.ศ. 2559) ในการนำวัตถุดิบอัญมณี (ที่ยังไม่เจียระไน) เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยผู้ซื้อจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของรายได้จากการขายอัญมณีทันทีที่มีการซื้อขายสินค้า (กฎกระทรวงฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ ข้อ 2 (17/1 - 17/3)) พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และใบเสร็จรับเงินให้กับผู้ขายเพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.rd.go.th/publish/2494.0.html)

            5. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีนำเข้าหรือขายอัญมณีและโลหะมีค่า สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (รายละเอียดเพิ่มเติมตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 212) พ.ศ. 2559)

            6. กระทรวงการคลังออกมาตรการต่างๆ ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางการค้า อัญมณีโลก โดยมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าสำหรับรายจ่ายประเภทเงินเดือน และค่าจ้างของแรงงานที่เป็นช่างเครื่องประดับ เป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชี
(รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www1.mof.go.th/home/eco/270117nw%20Kankang%20fp.pdf)

มาตรการด้านมาตรฐานสินค้า


            สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีการให้บริการตรวจสอบและรับรองคุณภาพทองคำ แพลทินัม เงิน และโลหะมีค่าอื่นๆ พร้อมประทับตรารับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่า (Hallmark) ซึ่งเครื่องหมาย Hallmark นั้น สถาบันได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 

            2546 -2559 โดยได้มีการศึกษากฎระเบียบของประเทศต่างๆ ที่มีการใช้ Hallmark เช่น อังกฤษ และสวิสเซอร์แลนด์ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำระเบียบและการรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่าของไทย (รายละเอียดเพิ่มเติมตามระเบียบสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่า พ.ศ. 2560 https://www.git.or.th/about_mission.html)


มาตรการด้านฝีมือแรงงาน

            ตามการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ครั้งที่ 1/2563 ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจำนวน 13 กลุ่มสาขาอาชีพ/กลุ่ม อุตสาหกรรม รวม 64 สาขาอาชีพ รวมทั้งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจาก 420 บาท เป็น 465 บาท สำหรับช่างเจียระไนพลอย ช่างหล่อเครื่องประดับ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ ช่างฝังอัญมณีบนเครื่องประดับ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป (รายละเอียดเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 9)

มาตรการทางการเงิน

            ขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ตามโครงการสินเชื่อ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) จากวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็นภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smebank.co.th/loans/TransformationLoan)

มาตรการส่งเสริมด้านการตลาด

            กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดให้มีการประชาสัมพันธ์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพในย่านการค้าที่สำคัญในกรุงเทพฯ เช่น แหล่งการค้าอัญมณีและเครื่องประดับย่านถนนสีลม เจริญกรุง มเหสักข์ รวมทั้งศูนย์กลางการค้าพลอยสี ย่านถนนศรีจันทร์ ในจังหวัดจันทบุรี ศูนย์กลางการค้าพลอยสีที่ข้ามแดนมาจากเมียนมาร์ ย่านถนนประสาทวิถี ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดแสดงสินค้าในงาน Thailand Grand Sale การประชาสัมพันธ์สินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวบนสื่อต่างๆ เช่น สื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในสายการบิน เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้อัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นที่รู้จักและมีการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น (รายละเอียดเพิ่มเติมตามมาตรการสนับสนุนไทย เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีโลก)
 

สรุปมาตรการทางการเงินที่รัฐช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19


มาตรการช่วยเหลือกรณีบุคคลธรรมดา

            1. มาตรการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน (เมษายน - กันยายน) ในกลุ่มแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ หรือผู้รับเบี้ยหวัด บำนาญ จากส่วนราชการ

            2. ลูกจ้างรายได้ประจำ ในระบบประกันสังคม กรณีนายจ้างหยุดกิจการ และถูกเลิกจ้าง ทางประกันสังคมจ่ายชดเชย 50% ของค่าจ้าง หรือไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 180 วัน และในกรณีหยุดกิจการชั่วคราว จ่าย 50% ไม่เกิน 60 วัน หรือไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน และกรณีลาออก จ่าย 30% ไม่เกิน 90 วัน หรือ 4,500 บาทต่อเดือน

            3. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 5 % เหลือ 1 % และกรณีมาตรา 39 เหลือเดือนละ 86 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และขยายเวลาส่งเงินสมบทงวดค่าจ้างทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบการ ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 แต่ละงวดขยายออกไป 3 เดือน (เดือน มี.ค. ส่งได้ถึง 15 กค. เดือน เม.ย. ส่งได้ถึง 15 ส.ค. และเดือน พ.ค. ส่งได้ถึง 15 ก.ย. 63)

            4. มาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ตามขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า และมาตรการลดค่าไฟฟ้า 3% ระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 63)

            5. มาตรการคืนเงินประกันการใช้น้ำประปาให้กับผู้อยู่อาศัย และมาตรการล่าสุดลดค่าน้ำประปา 3% ระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 63)

            6. เลื่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2562 จากเดิมขยายถึงวันที่ 30 มิ.ย. มาเป็นวันที่ 31 ส.ค. และเพิ่มสิทธิ์หักภาษีลดหย่อนประกันสุขภาพจากเดิมไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท แต่รวมหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

            7. สินเชื่อฉุกเฉิน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท แห่งละ 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

            8. สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกันวงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท

มาตรการช่วยเหลือกรณีผู้ประกอบการ

            1. ธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุนสินเชื่อใหม่หรือซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในอัตรา 0.01% ต่อปี ไปปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ SMEs ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารแต่ละแห่ง ไม่เกิน?500?ล้านบาท และมีสถานะผ่อนชำระปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6?เดือนแรก

            2. ธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธนาคาร) แต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้รับสิทธิ์เป็นการทั่วไป ไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต

            3. ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ?จากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อลดต้นทุนสถาบันการเงินและให้สถาบันการเงินหามาตรการลดภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมแก่ลูกค้าของตน

            4. ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดเพื่อไปชำระตราสารเดิม เฉพาะตราสารของบริษัทที่มีคุณภาพดี

            5. มาตรการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำหรับลูกค้า SMEs รายปัจจุบันและรายใหม่ที่ได้รับผลกระทบ โดยให้วงเงินค้ำประกันเต็มจำนวนเงินกู้ใหม่ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลา 10 ปี ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 60,000 ล้านบาท และให้ขยายระยะเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะ 5-7 ที่มีอยู่เดิมไปอีก 5 ปี และฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน

            6. ขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 5 ล้านบาท ไปถึงวันที่ 10 ส.ค. 2564 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน และเพิ่มความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินในภาพรวม

            7. เลื่อนชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด 50 จากเดิม พ.ค. 63 เป็นภายใน 31 ส.ค. 63 และ ภ.ง.ด 51 จากเดิม ส.ค. 63 เป็นภายใน 30 ก.ย. 63  รวมทั้งขยายเวลาการยื่นและนำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีมูลค่าเพิ่มของกิจการที่ได้รับผลกระทบ

            8. มาตรการภาษีช่วยบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการ รัฐบาลออกมาตรการคืนสภาพคล่อง ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% ของเงินได้พึงประเมินช่วงเดือน เม.ย. - ก.ย. 63 มาตรการลดภาระดอกเบี้ยให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ Soft Loan หักลดหย่อนภาษีจากรายจ่ายดอกเบี้ยช่วงเดือน เม.ย. - ธ.ค. 63 ได้ 1.5 เท่า มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพการจ้างงาน SMEs หักลดหย่อนภาษีจากรายจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนได้ถึง 3 เท่า

 




สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เมษายน 2563
-----------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.customs.go.th/
  2. https://www.rd.go.th/publish/2494.0.html
  3. https://www1.mof.go.th/home/eco/270117nw%20Kankang%20fp.pdf
  4. https://www.git.or.th/about_mission.html
  5. https://www.smebank.co.th/loans/TransformationLoan

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที