อันความศิวิไลนั้น หาได้นิยามด้วยความเจริญทางด้านวัตถุ อัตราการขยายตัวทางเศรฐกิจ หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังวัดกันด้วยความเจริญในแง่มุมต่างๆ ทางสังคม ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อันก่อให้เกิดแบบแผน วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมอันดีงามต่างๆ ขึ้นในหมู่มวลมนุษยชาติ
‘อียิปต์’ หนึ่งในอารยธรรมเก่าแก่อันยิ่งใหญ่และศิวิไลซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางที่สุดของโลก ชนชาตินี้เป็นต้นกำเนิดของวิทยาการแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรม (การก่อสร้างปิระมิด) อักษรศาสตร์ (การประดิษฐ์อักษรเฮียโรกรีฟิค) และการแพทย์ (การทำมัมมี่) เป็นต้น รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางความเจริญและศูนย์รวมของขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม และแบบแผนความเชื่อต่างๆ ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 5,000 ปี
ชาวไอยคุปต์ หรือชาวอียิปต์โบราณเป็นผู้มีความเชื่อและศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อเหล่าทวยเทพ ความเชื่อเหล่านี้ได้เกี่ยวพันเข้ากับวิถีชีวิตและพิธีกรรมต่างๆ ของพวกเขาอย่างแยกไม่ออกในทุกช่วงจังหวะชีวิตนับตั้งแต่เกิดจนตาย แม้กระทั่งชีวิตหลังความตายก็ยังไม่วางวายจากการพัวพันของเหล่าเทพเจ้าอยู่นั่นเอง
สังคมเทพเจ้าของชาวอียิปต์นั้นมีความหลากหลายและซับซ้อนค่อนข้างมาก โดยมีทั้งเทพประจำเมือง ประจำอาชีพ เทพแห่งแม่น้ำ ขุนเขา ฯลฯ สำหรับเทพเจ้าที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อวิถีชีวิตของชาวอียิปต์ คือ ‘รา’ (Ra) หรือสุริยเทพ เทพสูงสุดในบรรดาเทพทั้งปวง และเป็นผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งบนโลก นอกจากนี้ ยังมีเทพองค์อื่นที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวไอยคุปต์ เช่น เทพที่มีศีรษะเป็นสุนัขสีดำนามว่า ‘อะนูบิส’ (Anubis) ซึ่งเป็นเทพแห่งความตาย มีหน้าที่พิทักษ์สุสานและนำดวงวิญญาณผู้ตายไปสู่ยมโลก เพื่อให้ ‘โอซิริส’ (Osiris) เทพแห่งยมโลกทำหน้าที่พิพากษาดวงวิญญาณของผู้ตาย เป็นต้น
ชาร์ม (Charm) กับความเชื่อแบบเทวนิยมของชาวไอยคุปต์
ชาวไอยคุปต์เป็นผู้นิยมความสวยงาม หรูหรา และค่อนข้างพิถีพิถันในเรื่องการแต่งกาย ซึ่งนอกจากเสื้อผ้าอาภรณ์แล้ว ชายหญิงในทุกชนชั้นยังนิยมแต่งเติมร่างกายด้วยเครื่องประดับนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น แหวน ต่างหู กำไลข้อมือ และสร้อยคอ เป็นต้น แต่การสวมเครื่องประดับของพวกเขามิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อความสวยงามเพียงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางสัญลักษณ์ตามคติความเชื่อในแบบเทวนิยมอีกด้วย
ความศรัทธาต่อเหล่าเทพเจ้าของชาวไอยคุปต์ยังได้สะท้อนผ่านเครื่องประดับและของตกแต่งอื่นๆ ด้วยพวกเขามักห้อยวัตถุขนาดเล็กที่ผู้คนในสมัยนี้เรียกว่า ‘ชาร์ม’ (Charm) ซึ่งเป็นรูปหรือสื่อสัญลักษณ์ของเทพเจ้าต่างๆ เข้ากับเครื่องประดับของพวกเขา เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสักการะ อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องรางเพื่อป้องกันอันตรายและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ นำมาซึ่งความโชคดีให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอีกด้วย
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
-----------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1. The Exhibition of Mummies. Smithsonian: National Museum of Natural History. Washington D.C.
2. Egypt Amulets. The Metropolitan Museum of Art. https://www.metmuseum.org/toah/hd/egam/hd_egam.htm
3. Ancient Egypt Jewellery. Gem Rock Auction. https://www.gemrockauctions.com/learn/did-you-know/ancient-egyptian-jewellery
4. Religion and Gods in Ancient Egypt. Australian Musuem. https://australianmuseum.net.au/religion-and-gods-in-ancient-egypt
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที