“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “พระแก้วมรกต” พระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 48.3 เซนติเมตร สูง 66 เซนติเมตร องค์พระพุทธรูปแกะสลักจากหยก เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์และชาวไทยนับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
ประวัติพระแก้วมรกต
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อายุหลายร้อยปี ตามประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เคยประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองต่างๆ หลายเมืองด้วยกัน ทั้งเมืองเชียงราย เมืองลำปาง เมืองเชียงใหม่ เมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์
จนกระทั่งเมื่อปี 2321 ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมายังสยาม โดยได้ประดิษฐานไว้ ณ โรงพระแก้ว ในบริเวณพระราชวังเดิม
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี 2325 ได้ทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมายังฝั่งพระนคร และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ รวมถึงเจ้านายทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ทั้งทรงโปรดฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในพระอุโบสถเมื่อปี 2327 เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนับตั้งแต่นั้นสืบมา
เพชรพระอุณาโลมของพระแก้วมรกต
กระทั่งปี 2397 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายนมัสการสรงน้ำ และเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงทอดพระเนตรเห็นพระอุณาโลม* ของพระแก้วมรกตเป็นเพชรขนาดเล็ก ไม่งดงามนัก จึงทรงมีพระราชศรัทธาบริจาคเพชรเม็ดใหญ่ขนาดเท่าเม็ดบัว ราคา 60 ชั่ง ประดับเป็นพระพุทธอุณาโลมแห่งองค์พระแก้วมรกตเสียใหม่ทดแทนเพชรเม็ดเดิม เพื่อเป็นพุทธบูชาและเพื่อความเป็นสิริมงคลแด่พุทธศาสนิกชนในแผ่นดินสยาม
สำหรับเพชรพระราชทานซึ่งประดับบนพระอุณาโลมของพระแก้วมรกตนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อมาด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซึ่งนอกเหนือจากเงินพระคลัง กล่าวกันว่าทรงมีรับสั่งให้ข้าราชการในพระองค์เดินทางไปเลือกซื้อเพชร ณ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย โดยคาดว่าเป็นการเดินทางครั้งเดียวกันกับที่ทรงมีรับสั่งให้พระราชสมบัติ (การเวก รัตนกุล) เดินทางไปเลือกซื้อเพชรเพื่อนำมาประดับที่บริเวณส่วนยอดของพระมหาพิชัยมงกุฎ
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
--------------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที