GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 10 เม.ย. 2020 23.23 น. บทความนี้มีผู้ชม: 845 ครั้ง

ช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้เหล่าผู้ประกอบการ SMEs นั้นเครียดไปตามๆกัน แต่อย่าได้ห่วงไปเหล่ากูรูมีทางออกให้เพื่อให้สามารถรอดจากสถานการณ์นี้ได้ จะมีคำแนะนำอะไรบ้างติดตามได้ในบทความนี้


กูรูแนะทางรอด SMEs ในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19

            ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ที่เริ่มต้นมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคมปี 2562 และลุกลามไปกว่า 160 ประเทศทั่วโลกแล้วในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเกือบทุกกิจการก็ได้มีการปรับตัวกันบ้างแล้วทั้งการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน การปรับลดเวลาการทำงาน การปรับลดเงินค่าจ้าง หรือการหยุดกิจการชั่วคราวไปจนถึงการเลิกกิจการ แต่ส่วนผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องการอยู่รอดไปจนกว่าจะพ้นวิกฤติในครั้งนี้นั้น เหล่ากูรูก็มีคำแนะนำมาให้ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ดังนี้

            หาแหล่งสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาลและสถาบันการเงิน

            ธุรกิจ SMEs จำนวนไม่น้อยที่อาจขาดสภาพคล่องทางการเงินในช่วงนี้ จนไม่สามารถชำระหนี้ได้นั้น ภาครัฐและสถาบันการเงินต่างๆ ก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ อาทิ กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเยียวยา เช่น
            1) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งธนาคารออมสินเป็นผู้นำหลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ
            2) เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล
            3) เลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี
            4) สนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น ส่วนธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ต่างออกมาตรการพักชำระหนี้และขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่ 6-12 เดือน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ทุกธนาคาร

            จัดทำแผนการเงิน 3 เดือน

            โดยพิจารณาค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นและไม่จำเป็นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า พยายามตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก ลดต้นทุนให้มากที่สุด หรืออาจจะระบายของค้างสต็อก ยอมตัดขาดทุนบางรายการเพื่อเรียกเงินสดกลับมา และชะลอการลงทุนใหม่ๆ

            หาโอกาสเพิ่มยอดขายด้วยช่องทางออนไลน์

            เนื่องจากประชาชนหลีกเลี่ยงการออกไปซื้อสินค้าในแหล่งชอปปิง และหันไปซื้อสินค้าออนไลน์แทน ผู้ประกอบการจึงควรหันมาทำการตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง และเพิ่มประสิทธิภาพการขายออนไลน์ให้มากขึ้น อาจวางขายสินค้าบนเว็บไซต์ของตนเองหรือบนแพลตฟอร์ม E-commerce ที่นิยมในไทย เช่น Shopee หรือ Lazada เป็นต้น แพลตฟอร์มที่นิยมในต่างประเทศ เช่น E-bay, Amazon และ ETSY เป็นต้น

            ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

            แม้ว่าช่วงนี้จะหยุดกิจการลงชั่วคราว ถ้าไม่อยากสูญเสียลูกค้าไป ผู้ประกอบการควรประชาสัมพันธ์สินค้าและสื่อสารถึงลูกค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ โดยสื่อสังคมออนไลที่กำลังได้รับความนิยมจากทุกประเภทธุรกิจ อาทิ YouTube, Facebook, Instagram, Twitter และ Pinterest นับเป็นช่องทางสำคัญในช่วงวิกฤตินี้ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ออกจากบ้าน และใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตแทบจะตลอดเวลา ซึ่งนอกจากการโพสต์สินค้าด้วยแคปชั่นและเรื่องราวที่น่าสนใจแล้ว ยังควรให้ข้อมูลความรู้อย่างอื่นนอกจากการขายสินค้า เพราะยิ่งสื่อสารมากและแตกต่างแปลกใหม่ ยิ่งดึงดูดผู้คนเข้ามารู้จักสินค้าของร้านมากยิ่งขึ้น

            เพิ่มทักษะให้พนักงาน

            การเลิกจ้างพนักงานควรเป็นทางเลือกสุดท้ายของบริษัท กิจการควรรักษาพนักงานเอาไว้ และเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ให้แก่พนักงาน ซึ่งในช่วงนี้พนักงานจะทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจส่งเสริมให้เรียนคอร์สออนไลน์ต่างๆ ที่จะเพิ่มพูนความรู้ให้กับพนักงานมากขึ้น อันจะนำมาใช้ได้เมื่อสามารถกลับเข้าไปทำงานได้ตามปกติ

            ทั้งนี้ อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนใช้จ่ายซื้อสินค้าเพื่อการดำรงชีพเท่านั้น ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยก็จะเผชิญกับดีมานด์ของตลาดที่ลดลงมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี การพิจารณานำคำแนะนำข้างต้นมาปรับใช้กับธุรกิจของตนก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ และแม้ว่ากิจการจะหยุดลงแต่ความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมจะต้องไม่หยุดตาม ควรหมั่นสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ตลอดจนติดต่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบ มอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น ส่วนลด โปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าเก่า เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขาเป็นคนพิเศษของเรา อันจะช่วยสร้างความประทับใจและสร้าง Loyalty ให้กับบริษัท และใช้ช่วงเวลานี้ศึกษาหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อจะได้ผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ และที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการจะต้องมีสติ เตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ และลองเปลี่ยนแนวคิด มุมมองต่างๆ ซึ่งอาจเป็นโอกาสดีที่ทำให้เห็นถึงจุดด้อยที่ต้องปรับปรุง หรือเห็นจุดแข็งที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เมษายน 2563
 
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
1) “5 Tips on Public Relations During a Crisis from an Expert.” Retrieved April 1, 2020 from https://www.nationaljeweler.com/independents/retail-profiles/8665-5-tips-on-public-relations-during-a-crisis-from-an-expert.
2) “How Your Small Business Can Survive The COVID-19 Pandemic.” Retrieved March 29, 2020 from https://www.entrepreneur.com/article/348365.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที