GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 20 มี.ค. 2020 23.54 น. บทความนี้มีผู้ชม: 986 ครั้ง

เครื่องประดับเป็นอีกสิ่งที่ต้องหมั่นทำความสะอาด เพราะอาจเป็นแหล่งของเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ยิ่งต้องให้ความสำคัญ ในสถานการณ์แบบนี้การดูแลเครื่องประดับให้แก่ลูกค้าต้องทำอย่างไรบ้าง และแอลกอฮอล์จะส่งผลอย่างไรกับเครื่องประดับของเราได้บ้าง สามารถติดตามได้ในบทความนี้


หมั่นทำความสะอาดเครื่องประดับ สวย ปลอดภัย ไร้เชื้อโรค

            การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ส่งผลให้ผู้คนตื่นตัวในการป้องกันตัวเองโดยการหาผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคชนิดต่างๆ มาใช้ แต่ขณะที่ทุกคนมัวสนใจการฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาดอวัยวะต่างๆ ของร่างกายนั้น เครื่องประดับที่เราสวมใส่อยู่ก็อาจเป็นแหล่งอาศัยของเชื้อโรคได้โดยเฉพาะเครื่องประดับที่มีซอกเล็กซอกน้อยซึ่งยากต่อการทำความสะอาด

            ดังนั้น เพื่อให้เครื่องประดับของเรายังคงสวยงามและปลอดภัยปราศจากเชื้อโรค จึงจำเป็นที่จะต้องหมั่นทำความสะอาดเครื่องประดับนั้นอยู่เสมอ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการในต่างประเทศหลายรายได้ส่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องประดับด้วยตนเองเข้าสู่ตลาด อาทิ GemSpa by kathy ireland อุปกรณ์ที่อาศัยแรงดันน้ำและน้ำยาฆ่าเชื้อโรคช่วยในการทำความสะอาด Jewelry Cleansing Foam โฟมทำความสะอาดเครื่องประดับอเนกประสงค์ที่ช่วยกำจัดสิ่งสกปรก สารตกค้าง และเชื้อโรคที่สะสมในเครื่องประดับ เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ครอบครองเครื่องประดับทุกคนจะสามารถซื้อหาอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ได้ นี่จึงอาจเป็นจังหวะเหมาะสำหรับผู้ค้าปลีกเครื่องประดับไทยที่หากรายใดมีความพร้อมสามารถนำเสนอบริการรับทำความสะอาดเครื่องประดับแก่ลูกค้าในยามนี้ นอกจากจะสร้างความประทับใจให้แก่บรรดาคุณลูกค้าแล้ว ยังอาจเป็นโอกาสที่ดีในการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ในระหว่างที่ลูกค้ารอรับเครื่องประดับคืนไปด้วย  

        นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าในภาวะโรคระบาดนี้ ผู้คนจำเป็นต้องล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรค ดังนั้น สำหรับผู้ที่สวมใส่เครื่องประดับนั้น การหมั่นทำความสะอาดเครื่องประดับบ่อยกว่าปกติจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการทำความสะอาดมือด้วยสบู่หรือเจลในขณะที่สวมเครื่องประดับอยู่ อาจก่อให้เกิดไบโอฟิล์มบนเครื่องประดับที่เหมาะต่อการเติบโตและแพร่พันธุ์ของเชื้อโรคได้ ที่สำคัญก็คือ ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคที่มือนั้น ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ใช้อัญมณีบางชนิดซึ่งไม่ควรสัมผัสเจลที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมบ่อยๆ เช่น มรกตที่อุดน้ำมันในรอยแตก อาจทำให้เห็นรอยแตกชัดเจนขึ้น โอปอซึ่งเป็นพลอยที่มีรูพรุนสูง หากสัมผัสถูกแอลกอฮอล์ที่มีสี ก็อาจดูดซับสีทำให้สีเปลี่ยนไป อำพันที่เป็นยางไม้ ถูกทำลายได้ง่ายด้วยแอลกอฮอล์ เทอร์คอยส์ที่มักเติมสารโพลิเมอร์เพื่อเพิ่มความแข็ง การสัมผัสถูกแอลกอออล์อาจทำให้ผิวด้าน สูญเสียความแวววาว เช่นเดียวกับอัญมณีอินทรีย์อย่างไข่มุก ปะการัง ที่มีโปรตีนแทรกอยู่ในเนื้อ หากถูกแอลกอฮอล์บ่อยๆ จะทำให้ผิวด้านและมีความวาวลดลงเช่นกัน  

 

 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มีนาคม 2563


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที