GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 24 ก.พ. 2020 23.44 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4433 ครั้ง

จังหวัดกระบี่นอกจากจะเป็นเมืองท้องเที่ยวที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งค้นพบลูกปัดโบราณอย่าง ?ลูกปัดคลองท่อม? ที่สำคัญอีกด้วย ลูกปัดคลองท่อมนั้นมีความเป็นมาอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรกับชาวกระบี่ สามารถติดตามได้ในบทความนี้


ลูกปัดคลองท่อมอันเลื่องชื่อแห่งเมืองกระบี่

            จังหวัดกระบี่นอกจากจะเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญริมฝั่งทะเลอันดามันแล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษาทางโบราณคดีที่สำคัญ ซึ่งผลจากการค้นพบลูกปัดโบราณในพื้นที่บริเวณตำบลคลองท่อมได้ทำให้ผู้คนเกิดความสนใจในลูกปัดโบราณมากขึ้น จนเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการจำลองลูกปัดโบราณ” ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และมีส่วนทำให้ลูกปัดคลองท่อมยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย

ความเป็นมาของลูกปัดคลองท่อม

 
  

            สมัยโบราณเชื่อกันว่าลูกปัดเป็นเครื่องประดับชนิดแรกที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ซึ่งลูกปัดที่เก่าแก่ที่สุดนั้นทำมาจากกระดูกสัตว์ เปลือกหอย เขาสัตว์ และปะการัง โดยเป็นการนำมาขัด หรือฝนเป็นแท่งๆ แล้วจึงเจาะรูเพื่อร้อยเรียงเข้าด้วยกัน จากนั้นในยุคต่อมาจึงได้พัฒนากระบวนการทำโดยใช้วิธีหลอมเข้าช่วยจนได้ลูกปัดที่สวยงามขึ้น ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าลูกปัดเป็นสิ่งของมีค่าที่ช่วยบ่งบอกฐานะทางสังคมและรสนิยมของคนในสมัยโบราณ

            การขุดพบลูกปัดโบราณในบริเวณอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เมื่อปี พ.ศ. 2509 ถือเป็นการขุดพบลูกปัดที่มีความสมบูรณ์และมีรูปแบบหลากหลายมากที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย ซึ่งลูกปัดที่พบนั้นมีทั้งลูกปัดสุริยเทพ หรือลูกปัดหน้าคน ลูกปัดตา ลูกปัดนกแสงตะวัน ลูกปัดนกยูง ลูกปัดเขียนลาย ลูกปัดอำพันทอง รวมทั้งลูกปัดหินกึ่งอัญมณี เป็นต้น โดยลูกปัดที่ค้นพบส่วนใหญ่ทำจากวัสดุประเภทแก้วและหินสีต่างๆ อาทิ หินคาร์เนเลี่ยน อาเกต ควอรตซ์และลาพิสลาซูรี เป็นต้น

            ด้วยความที่ชุมชนคลองท่อมอยู่ติดกับทะเลและมีลำคลองไหลผ่าน จึงเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวในอดีตเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 อาจเป็นท่าแวะเทียบเรือสำคัญของพ่อค้าจากต่างแดนทั้งจีน อินเดีย อาหรับและเปอร์เซีย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกที่มีลักษณะเป็นเนินดินสูง ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าเป็น “ควนลูกปัด” นั้น เชื่อว่าในอดีตอาจเป็นแหล่งผลิตลูกปัดขนาดใหญ่ เพราะนอกจากจะขุดพบลูกปัดเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีการขุดพบวัสดุที่ใช้ทำลูกปัด อาทิ เศษแก้วและหินแร่อีกเป็นจำนวนมากด้วย

          ทั้งนี้ จากการที่ลูกปัดคลองท่อมซึ่งขุดได้ในยุคแรกๆ ถูกคนในท้องถิ่นนำไปขายให้แก่ผู้ที่สนใจ จนสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ อันทำให้สถานการณ์ของแหล่งโบราณคดีตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญหายของโบราณวัตถุ จึงทำให้ทางกรมศิลปากรต้องเข้ามากำกับดูแลและไม่ให้ทำการขุดหาสมบัติโดยเสรี ต่อมาทางสำนักงานจังหวัดกระบี่ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ลูกปัดอันดามัน (Andaman Beads Museum) ขึ้น เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และยังได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลูกปัดโบราณที่ขุดพบจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศมาไว้อีกด้วย นอกจากนี้ ในบริเวณคลองท่อมยังได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฑสถานคลองท่อมขึ้น เพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมลูกปัดมีค่าที่ขุดพบและถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับลูกปัดคลองท่อมให้แก่ผู้ที่สนใจ


จากกระแสความนิยมลูกปัดโบราณ สู่การตลาดเพื่อชุมชน

 

  
 

            ด้วยความที่ลูกปัดคลองท่อมมีความสวยงามและโดดเด่นจนเป็นที่ต้องตาต้องใจแก่ผู้บริโภคและนักสะสมทั้งชาวไทยและต่างชาติ บางคนนิยมนำมาสวมใส่เป็นทั้งเครื่องรางและเครื่องประดับ ประกอบกับจังหวัดกระบี่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแวะเวียนเป็นจำนวนกว่าสี่ล้านคนต่อปี จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2554 เกิดเป็น “โครงการลูกปัดย้อนยุคเชิงพาณิชย์” ขึ้น โดยมีลักษณะเป็นการเปิดอบรมสอนทำลูกปัดที่จำลองขึ้นใหม่ให้มีความใกล้เคียงกับของเก่ามากที่สุดทั้งสีสันและรูปแบบ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเทศบาลเมืองกระบี่จึงทำให้มีทุนทรัพย์ในการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือและวัสดุต่างๆ อาทิ อุปกรณ์ในการหล่อ เครื่องเจียระไน เครื่องขัด และวัสดุแก้ว หรือหินแร่ต่างๆ เป็นต้น

            การดำเนินโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจเข้าร่วมจากคนในท้องถิ่น จนก่อให้เกิดเป็นโรงงานผลิตลูกปัดขนาดเล็กที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยสินค้าที่ผลิตได้จะถูกนำมาวางจำหน่ายในพิพิธภัณฑ์ลูกปัดอันดามัน และหอศิลป์อันดามัน ด้วยราคาตั้งแต่ 2,000 บาทจนถึงหลายหมื่นบาท ซึ่งถือว่ามีราคาถูกกว่าลูกปัดของแท้ที่มีราคาสูงมากเป็นแสนบาท ทำให้สินค้าดังกล่าวได้รับการตอบรับค่อนข้างดีโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสแวะเวียนเข้ามา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากช่างฝีมือมีจำนวนน้อย ประกอบกับการผลิตต้องใช้เวลาพอสมควรขึ้นอยู่กับความยากง่ายของชิ้นงาน จึงทำให้ผลผลิตที่ออกมาวางจำหน่ายมีไม่มากเท่าที่ควร
 
 




ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กุมภาพันธ์ 2563
 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที