GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 04 ก.พ. 2020 23.34 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1455 ครั้ง

Gen Z กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่มาแรง และกำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเข้ามาสู่ตลาดเครื่องประดับอย่างรวดเร็ว และมีความต้องการที่ไม่เหมือนใคร หากต้องการให้อนาคตของธุรกิจนั้นสดใส จึงควรทำความเข้าใจกับกลุ่ม Gen Z ให้มากขึ้น ซึ่งควมต้องการของเหล่า Gen Z นั้นมีอะไรบ้างสามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้


ถอดรหัส Gen Z ผู้บริโภครุ่นใหม่ในตลาดเครื่องประดับ

           รายงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อเน้นให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเพียงใดที่เราทุกคนจะต้องทำความเข้าใจ Generation Z ตลอดจนผลกระทบจากผู้บริโภคกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องใส่ใจเพื่อบรรลุผลสำเร็จในอนาคต

            Gen Z กำลังเข้ามาสู่ตลาดเครื่องประดับในไม่ช้านี้ หรือที่จริงก็อาจกล่าวได้ว่าได้เข้ามาสู่ตลาดเรียบร้อยแล้ว มีประมาณการว่าคนรุ่นนี้ใช้เงินมากถึง 143,000 ล้านเหรียญสหรัฐเฉพาะในปี 2019 ปีเดียว ดังนั้นหากต้องการอนาคตอันสดใส เราก็ต้องดึงคนกลุ่มนี้มาอยู่ข้างเราให้ได้

            ที่จริงแล้วความสำเร็จของอุตสาหกรรมเครื่องประดับในอนาคตขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่เรามีต่อความต้องการของ Gen Z เมื่อเข้าใจส่วนนี้แล้ว เราจึงจะสามารถคาดหวังถึงผลกำไรที่เติบโตในช่วงหลายปีข้างหน้าได้ แต่หากขาดความเข้าใจ ธุรกิจก็คงมีอันต้องจบเห่ อาจไม่ได้จบลงชั่วข้ามคืนแต่สุดท้ายก็จะเป็นเช่นนั้นอยู่ดี

            ถ้าอย่างนั้นเราเข้าใจอะไรบ้างเกี่ยวกับคนอายุ 15 ถึง 25 ปีในปัจจุบัน

            ต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงที่จะช่วยให้คุณได้เริ่มต้นค้นหาว่าคนกลุ่มนี้มีแนวคิดอย่างไร ทำอะไร ต้องการอะไร และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งอาจไม่สามารถอธิบายครอบคลุมทุกแง่มุมเกี่ยวกับคนรุ่นนี้ได้ แต่ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเปิดมุมมองเพื่อให้คุณได้เห็นโอกาสที่รออยู่ข้างหน้า

 

 
สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของ Gen Z

            Gen Z ชอบใช้ Instagram, WeChat, WhatsApp และแอพพลิเคชันอื่นๆ อีกมาก แอพพลิเคชันเหล่านี้ช่วยให้ผู้ใช้ได้สื่อสารกับคนทั่วโลกอย่างที่คนรุ่นก่อนหน้าไม่เคยทำมาก่อน คน Gen Z เปรียบเทียบสินค้า ประสบการณ์ และความคิดเห็นต่างๆ กันอย่างต่อเนื่อง

            ในแต่ละวัน ผู้ใช้ Instagram โพสต์เนื้อหากว่า 95 ล้านโพสต์ และคลิกไลค์มากกว่า 4.2 พันล้านครั้ง

            ลองจินตนาการดูสิว่าถ้าสินค้าของคุณตรงใจและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เหล่านี้ได้ คุณจะได้รับโอกาสมากมายมหาศาลเพียงใด คุณอาจขยายฐานผู้รับสารและว่าที่ลูกค้าของคุณได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่
กี่นาที

            อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นตัวอย่างของภาคธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งผลกระทบนั้นรุนแรงจนเกิดความเสียหายใหญ่หลวง ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้มักพบว่าไม่ทันไรก็ตามคนอื่นไม่ทันแล้ว




ที่มา: https://www.feverpr.com

            Gen Z เป็นกลุ่มคนที่ออกเดินทางมากที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยความหลงใหลในการออกไปท่องโลกกว้าง การเดินทางของคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากสื่อสังคมออนไลน์ นั่นหมายความว่าการทำตลาดกับคนกลุ่มนี้จะต้องให้ความสำคัญกับสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าช่องทางเดิมๆ อย่างเช่นนิตยสารท่องเที่ยว

            ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 80 ได้รับอิทธิพลจากสื่อสังคมออนไลน์ โดยการแชร์ภาพและลิงก์เกี่ยวกับที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว และอื่นๆ นั้นส่งผลสำคัญต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด

            Gen Z มักจองตั๋วและจองที่พักช้า โดยปกติแล้วมักจองไม่ถึงสามเดือนก่อนออกเดินทาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ต้องการความยืดหยุ่น นักการตลาดจึงต้องสังเกตว่าควรยื่นข้อเสนอแบบไหน โดยการให้ส่วนลดพิเศษช่วงใกล้วันเดินทาง การยกระดับห้องพัก การเพิ่มทัวร์พิเศษ และอื่นๆ ทำนองนี้ มีแนวโน้มที่จะชนะใจนักเดินทางชาว Gen Z ได้

            ชาว Gen Z หนึ่งในสามระบุว่าตนเองชอบการผจญภัย พวกเขาค้นหาประสบการณ์แบบคนท้องถิ่น ความเป็นของจริง และสิ่งที่มีเอกลักษณ์แตกต่าง

            ถ้าอย่างนั้น คนในแวดวงเครื่องประดับจะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากข้อมูลนี้ ประเด็นสำคัญที่สุดเพียงหนึ่งเดียวก็คือพลังของอินเทอร์เน็ตและการที่เราต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารกับลูกค้าให้เหมาะสมและทันสมัย ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับสื่อสังคมออนไลน์ ธุรกิจของเราก็ต้องหมดอนาคตอย่างแน่นอน
 
ความใฝ่ฝันด้านธุรกิจและการงาน

           Gen Z ต้องการเปลี่ยนแปลงโลก คนรุ่นนี้ราวร้อยละ 40 อยากเป็นผู้ประกอบการ และราวครึ่งหนึ่งของกลุ่มนี้กล่าวว่าต้องการคิดค้นสิ่งที่จะปฏิวัติวงการ

           เราทุกคนต่างรู้ดีว่าการเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่จึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่น่าสนใจ อุตสาหกรรมและบริษัทต่างๆ ควรพิจารณาโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทางสังคมเพื่อให้คำแนะนำทางธุรกิจ สร้างเครือข่ายและชุมชน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค แนวทางเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ Gen Z มองธุรกิจหรือมองแบรนด์นั้นๆ ในทางที่ดียิ่งขึ้น

           อุตสาหกรรมเครื่องประดับคอยสนับสนุนนักออกแบบและช่างฝีมือหน้าใหม่มาตลอด ด้วยการจัดการแข่งขันและดำเนินโครงการสนับสนุนมานานหลายปี โครงการเหล่านี้ช่วยให้นักออกแบบและช่างฝีมือได้รับประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการเปิดธุรกิจของตัวเองในวันข้างหน้า

           อย่างไรก็ดี แวดวงเครื่องประดับยังสามารถทำอะไรได้อีกมากและเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ก็น่าจะสนใจกิจกรรมลักษณะนี้ เราควรส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาความสามารถ เพื่อที่วงการนี้จะได้มีคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน ซึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าในอนาคต



 
สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญอันดับหนึ่ง

            การซื้อสินค้ามือสองเป็นเรื่องสมเหตุสมผลสำหรับชาว Gen Z ผู้ใส่ใจในประเด็นความยั่งยืนและใช้เงินเป็น ชาว Gen Z จำนวนหนึ่งในสามตั้งใจว่าจะซื้อเสื้อผ้า รองเท้า หรือเครื่องประดับมือสอง ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 46 จากเมื่อปี 2017 ชาว Gen Z ซื้อขายสินค้ามือสองกันบนเว็บไซต์อย่าง Poshmark, Depop และ StockX

            คาดกันว่าความต้องการสินค้ามือสองซึ่งขับเคลื่อนโดย Gen Z น่าจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสินค้ามือสองทำรายได้ 51,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2023

            แล้วของมือสองมีเสน่ห์ดึงดูดตรงไหน คำตอบนั้นง่ายมาก การซื้อของมือสองเป็นแนวทางที่ยั่งยืนในการตามกระแสแฟชั่น ชาว Gen Z สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และต้องการสินค้าที่ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม




ที่มา: https://www.professionaljeweller.com
 

            คนรุ่นนี้เกือบร้อยละ 70 มองว่าความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง และการซื้อสินค้ามือสองก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะเป็นการนำสินค้ากลับมาใช้ใหม่แทนที่จะโยนทิ้งไป

            การใช้สินค้าน้อยลงนั้นดีกว่าการรีไซเคิล เพราะช่วยให้บริโภคทรัพยากรน้อยลงกว่าเดิมมาก มีประมาณการว่า ถ้าในปีนี้ทุกคนซื้อสินค้าใช้แล้วหนึ่งชิ้นแทนที่จะซื้อสินค้าใหม่ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากัน เราจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2.6 พันล้านกิโลกรัม ลดการใช้น้ำได้ 95,000 ล้านแกลลอน และลดขยะได้ 204 ล้านกิโลกรัม การที่ Gen Z เข้าใจข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้ตลาดสินค้ามือสองยังคงเติบโตต่อไป

            อุตสาหกรรมเครื่องประดับนับว่ามีข้อได้เปรียบในด้านการนำสินค้ากลับมาใช้ใหม่ แต่เราจำเป็นต้องนำแง่มุมนี้มาทำตลาดด้วยวิธีการใหม่ เพื่อให้คนรุ่นนี้หันมาสนใจซื้อสินค้าของเรา

            การนำกลับมาใช้ใหม่ควรเป็นจุดแข็งของสินค้าในร้านเครื่องประดับเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราควรนำเครื่องประดับเก่ากลับมาใช้ผลิตเป็นเครื่องประดับใหม่ที่ประณีตงดงาม

            เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของโรงรับจำนำซึ่งมีแต่ของมือสองดูไร้ราคา แต่เป็นการภูมิใจนำเสนอสารใหม่ทางการตลาดจากร้านเครื่องประดับชั้นนำว่าสินค้าใหม่ที่ออกแบบมาอย่างดีเลิศนั้นมีชิ้นส่วนจากสินค้ามือสองรวมอยู่ด้วย
 
สินค้าที่เป็นของจริง

            คนรุ่นนี้หันมาสนใจการแต่งกายย้อนยุคโดยเน้นความเป็นของจริง กระแสแฟชั่นนั้นไม่มีวันตาย เพียงแต่หลบไปจำศีลอยู่สองสามทศวรรษแล้วค่อยโผล่กลับมาใหม่ในรูปแบบที่ทันสมัยยิ่งกว่าเดิม แต่คนรุ่น Gen Z มองว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการซื้อสินค้าที่เป็นของจริงจากยุคทศวรรษนั้นๆ

            สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ประเด็นนี้ได้ช่วยสร้างโอกาสให้เราอีกมากมาย ถ้าหากถามว่า แบรนด์ดังและสินค้าของแท้จากยุคทศวรรษก่อนๆ ช่วยให้เราได้รับโอกาสสำคัญในการสร้างยอดขาย ทั้งจากสินค้าของแท้และสินค้าทำซ้ำใช่หรือไม่ คำตอบอาจเป็น “ใช่” และแนวคิดนี้น่าจะได้รับการทดสอบต่อไปในธุรกิจค้าปลีก

            คนรุ่น Gen Z จำนวนสองในสามมองว่าของจริงเป็นสิ่งที่เท่ ดังนั้นแวดวงเครื่องประดับควรนำเสนอสินค้าโดยคำนึงถึงความเป็นของจริง

            ผู้ขายเครื่องประดับและแบรนด์ต่างๆ ควรพิจารณาการร่วมงานกับแบรนด์ยุคเก่าเพื่อสร้างสินค้าย้อนยุคที่มีความร่วมสมัย และต้องแน่ใจว่าได้เล่าเรื่องราวที่แท้จริงด้วย หรือไม่เช่นนั้นก็ควรเสาะหาสินค้าเครื่องประดับโบราณที่เป็นของแท้ และนำเสนอสินค้าเหล่านั้นภายในร้านร่วมกับสินค้าใหม่ๆ

 การรับรู้เรื่องเพศสภาพและความเป็นกลางทางเพศ

            Gen Z น่าจะเป็นกลุ่มประชากรที่มีการรับรู้เรื่องเพศสภาพและมีความหลากหลายทางเพศสภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ การศึกษาโดย Pew Research Centre ในปีนี้พบว่า ชาว Gen Z ที่ได้รับการสำรวจร้อยละ 35 รู้จักคนที่ชอบให้คนอื่นเรียกตนเองด้วยสรรพนามที่ไม่ระบุเพศ

            โลกดิจิทัลได้เผยให้เราเห็นมุมมอง ทัศนคติ และวัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่มีสิ่งที่เป็น “อุดมคติ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผม การแต่งกาย เครื่องประดับ หรืออะไรก็ตาม

            ชาว Gen Z ไม่ต้องการถูกจัดประเภท แต่ต้องการให้ตนเองมีสถานะที่ลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ วันนี้เป็นอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้ก็อาจเป็นอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างออกไปก็ได้

            สินค้า แคมเปญโฆษณา และพรีเซนเตอร์ที่เป็นกลางทางเพศเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ตัวอย่างเช่น แบรนด์เครื่องสำอาง Mac และ NYX เริ่มให้ผู้ชายเข้ามาปรากฏในแคมเปญโฆษณา ด้วยตระหนักว่าการตลาดควรดึงดูดผู้คนหลากหลายครบทุกเพศ

            แบรนด์เครื่องสำอางอย่าง Fluide ซึ่งก่อตั้งโดย Laura Kraber ได้รับแรงบันดาลใจจากการรณรงค์ของ Gen Z ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น LGBTQ และอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ Kraber กล่าวว่าเธอต้องการสร้าง Fluide ให้เป็นตัวแทนและสะท้อนถึงอัตลักษณ์ที่หลากหลายของวัยรุ่นทุกวันนี้ รวมถึงสนับสนุนการแสดงออกของวัยรุ่น และนำเสนอแบรนด์ความงามที่เป็นของจริงสำหรับคนทุกกลุ่ม

            เสื้อผ้าที่ไม่ระบุเพศก็กำลังได้รับความนิยม H&M, Sketchers และ ASOS ต่างยอมรับว่าแฟชั่นไม่ควรจำกัดกรอบอยู่เพียงแนวคิดเดียว

            อุตสาหกรรมเครื่องประดับจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและถอยหลังออกมาจากแนวคิดว่าด้วยเครื่องประดับสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิง คราวนี้เราคงต้องรอดูว่าใครจะเป็นคนแรกที่ออกแบบแหวนหรือสร้อยคอที่ไม่ระบุเพศได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะกลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญแห่งยุคทศวรรษ 2020
 
เชิดชูความหลากหลายและความไม่สมบูรณ์แบบ

            เราจำเป็นต้องเปิดรับแนวคิดเรื่องความเป็นของจริงและการยอมรับความแตกต่างหลากหลายผ่านการตลาด ตลอดจนนายแบบนางแบบที่เราใช้ในโฆษณา เราทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดทางการตลาดและภาพที่นำเสนอในสื่อเสียใหม่

            Gen Z ยกย่องความเป็นปัจเจกและต้องการสื่อสารกับภาพลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลาย สอดคล้องกับความเป็นจริงในโลกยุคใหม่

            ชาว Gen Z หกในสิบกล่าวว่า ชอบดูโฆษณาที่สื่อถึงครอบครัวที่มีความหลากหลาย พวกเขาอยากเห็นคนที่ดูคล้ายตัวเองและเพื่อนๆ รวมทั้งอยากเห็นคนจริงๆ ในสถานการณ์จริงๆ ปรากฏอยู่ในโฆษณา

            คุณควรนำเสนอความหลากหลายในทุกรูปแบบ เลือกใช้นายแบบนางแบบที่มีรูปร่าง สีผิว ลักษณะร่างกาย และอายุที่แตกต่างกัน รวมถึงใส่เสื้อผ้าที่แตกต่างกันด้วย ยิ่งคุณสะท้อนความหลากหลายที่มาหลอมรวมกันได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี

            นอกจากนี้ นายแบบนางแบบก็ไม่จำเป็นต้องดูสมบูรณ์พร้อม เพราะคนมักมองว่าสิ่งที่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นของปลอม
 
ชื่อแบรนด์และบุคลิกแบรนด์ที่ ‘เป็นมิตร’

            บริษัทหลายแห่งหันมาใช้ชื่อแบรนด์ที่คุ้นหูเพื่อดึงดูดชาว Gen Z เช่น Ollie เป็นบริษัทส่งอาหารสุนัข Billie เป็นแบรนด์สินค้าดูแลร่างกาย และ Casper เป็นแบรนด์สินค้าเกี่ยวกับการนอน ชื่อเหล่านี้ฟังดูเป็นมิตรมากกว่าแบรนด์ดั้งเดิมส่วนใหญ่

            Gen Z ไม่ค่อยสนใจการตลาดที่เน้นให้สินค้าดูน่าใฝ่ฝันถึงเหมือนอย่างสมัยก่อน แต่หันไปสนใจแบรนด์ที่ดูเป็นของจริง เข้าถึงได้ และมีจุดประสงค์ชัดเจน คน Gen Z มักชอบแบรนด์ที่สะท้อนบุคลิกของตนเอง พวกเขาต้องการเห็นชีวิตจริงในโฆษณา และเมื่ออยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ พวกเขาก็มักจะชอบภาพของคนปกติธรรมดามากกว่าคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

            แบรนด์ต้องเป็นตัวแทนสะท้อนแง่มุมบางอย่าง และต้องมีเจตนาที่แน่วแน่ชัดเจน
 
การบอกต่อเป็นสิ่งสำคัญและรีวิวยิ่งสำคัญกว่า

            ชาว Gen Z ชอบฟังคำแนะนำจากคนที่พวกเขาไว้ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนๆ แบรนด์หรูบางแบรนด์ตั้งร้านชั่วคราวแบบป๊อบอัพเพื่อให้คนคุ้นเคยกับแบรนด์และเพิ่มโอกาสทางการตลาดจากการบอกต่อ ร้านค้าแบบทดลองก็เป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากผู้คนจะพากันพูดต่อว่าได้เห็นและได้สัมผัสประสบการณ์อะไรมาบ้าง

            ลูกค้า Gen Z กว่าร้อยละ 80 อ่านรีวิวก่อนซื้อสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง Gen Z ซึ่งราวร้อยละ 21 อ่านรีวิวมากกว่า 10 รีวิวก่อนตัดสินใจซื้อ




ที่มา: https://www.salesforce.com/

 

            ดังนั้นแวดวงเครื่องประดับจึงมีโอกาสในแง่นี้ เนื่องจากเครื่องประดับมักสัมพันธ์กับเหตุการณ์สำคัญในชีวิตอย่างการจบการศึกษาและการแต่งงาน การให้ Gen Z ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆ จึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่ง

            คุณสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว หากคนที่ลูกค้ามองว่าเป็นคนแบบเดียวกันมาแสดงความเห็นต่อแบรนด์ของคุณอย่างจริงใจ
 
จิตสำนึกทางสังคม

            ผลกระทบทางสังคมนั้นสำคัญมากต่อชาว Gen Z พวกเขาคาดหวังให้คุณทำสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงสนับสนุนคนที่ต้องการความช่วยเหลือในชุมชนของคุณ คุณต้องทำตามความคาดหวังและส่งเสริมประเด็นที่ผู้คนให้ความสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นถือเป็นประเด็นสำคัญอันดับหนึ่ง

            Gen Z ชื่นชอบสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชาว Gen Z ราวร้อยละ 82 มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าซึ่งมีชื่อเสียงที่ดีในด้านสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้นการวิจัยโดย Nielsen ชี้ให้เห็นว่าร้อยละ 72 พร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชาว Gen Z เกือบหนึ่งในสามคว่ำบาตรบริษัทที่พวกเขามองว่าดำเนินงานโดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืน

            คนรุ่นนี้อยากรู้ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าและสินค้านั้นผลิตขึ้นอย่างไร กระบวนการนำสินค้าไปสู่ตลาดจะต้องมีความโปร่งใส
 
ความรู้ทางการเงิน

            ชาว Gen Z ชอบสินค้าหรูหราไม่แพ้คนรุ่นก่อนๆ แต่พวกเขาก็ระมัดระวังการซื้อสินค้าด้วยเงินเชื่อ หลังจากเห็นผลกระทบอันร้ายแรงต่อคนรุ่นพ่อแม่ ดังนั้นอย่าคิดว่าการยื่นข้อเสนอทางการเงินจะเป็นคำตอบสำหรับการกระตุ้นยอดขายในอนาคต

            ชาว Gen Z มีแนวโน้มที่จะเก็บเงินไว้ซื้อเครื่องประดับชิ้นต่อไปแทนที่จะตัดสินใจซื้อด้วยเงินเชื่อในทันที

            Gen Z พร้อมที่จะทุ่มเงินซื้อสินค้าแต่สินค้านั้นต้องคุ้มค่า ยิ่งได้มูลค่าเพิ่มก็ยิ่งดี โดยมูลค่านั้นอาจมาจากความน่าเชื่อถือด้านสิ่งแวดล้อมหรืออาจเป็นคุณค่าทางสังคมของแบรนด์นั้นก็ได้

            Gen Z เข้าใจเรื่องการเงินมากกว่าคนรุ่นก่อนด้วยผลจากวิกฤติทางการเงินเมื่อปี 2008 ธุรกิจต่างๆ ควรเล็งเห็นถึงความรู้ทางเศรษฐกิจของคนรุ่นนี้ จึงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ในระยะยาวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาว Gen Z เป็นผู้ใหญ่และมีกำลังซื้อมากขึ้น
 
ประการสุดท้าย

            หากคุณต้องการตามทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา วิธีที่ดีที่สุดอาจเป็นการมีคนอายุ 20 ปีเป็นที่ปรึกษา ในสภาพแวดล้อมที่ระบบดั้งเดิมกำลังถูกทำลาย การรับคำปรึกษาจากคนรุ่นใหม่อาจเป็นหนทางเดียวที่คุณจะได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างใกล้ชิด

            และต้องขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า อย่าได้ประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่ำเกินไป เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ Gen Z ให้ความสำคัญสูงสุด



 
ที่มา: https://www.capitolpresence.com/

 

สร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับลูกค้า Gen Z

            ที่จริงแล้วเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่เองที่สร้างความแตกต่าง ชาว Gen Z อาจใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัล แต่ก็ยังเพลิดเพลินกับการซื้อของตามร้านค้าทั่วไป พวกเขาอยากได้รับการบริการแบบสมัยก่อน ตลอดจนการตอบคำถามได้อย่างชัดเจนและฉับไว

            การอบรมพนักงานร้านจึงต้องเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับผู้ขายเครื่องประดับ พนักงานขายต้องสามารถพูดคุยได้อย่างมั่นใจในเรื่องเพชร ไข่มุก โลหะ พลอยสี ปะการังมีค่า ตลอดจนการจัดหาวัตถุดิบอย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ CIBJO จึงได้ออกหนังสือ CIBJO Retailers Reference Guide ฉบับปรับปรุงใหม่ในปี 2020




            ความรู้เป็นกุญแจสำคัญของการขายด้วยความมั่นใจ ชาว Gen Z มักรู้สึกประทับใจพนักงานขายที่เป็นมิตร อีกทั้งพร้อมทำเต็มที่เพื่อให้ความช่วยเหลือและค้นหาสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ในการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการระบุตัวอย่างของพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับพนักงาน รวมถึงแนวทางในการออกแบบร้านที่ดีดังต่อไปนี้

            - ลูกค้าขาประจำในร้านกาแฟชอบให้เรียกตัวเองด้วยชื่อต้นและชอบให้พนักงานทำเครื่องดื่มได้เลยโดยไม่ต้องสั่ง
            - ความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
            - ร้านที่จัดเป็นระเบียบและเลือกดูสินค้าได้ง่ายจะได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า Gen Z ให้ความสนใจกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ พวกเขาจะไม่อดทนกับการนำเสนอสินค้าที่สับสนวุ่นวายเป็นเขาวงกต
           
           สิ่งเหล่านี้เป็นข้อกำหนดพื้นฐานซึ่งทำตามได้ง่ายก่อนที่คุณจะหันไปใช้เทคโนโลยีสำหรับร้านค้า



 

 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กุมภาพันธ์ 2563
------------------------------------------
ที่มา: “Deconstructing the next great jewellery-consuming generation.” by Jonathan Kendall. CIBJO SPECIAL REPORT 2019. (pp. 1-6).
 
 
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที