GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 13 ม.ค. 2020 15.07 น. บทความนี้มีผู้ชม: 883 ครั้ง

ปี 2019 การปิดตัวลงของร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาได้ทำลายสถิติสูงสุดของปี 2018 ด้วยตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เหล่าผู้ประกอบการจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร สามารถอ่านได้ในบทความนี้


ปี 2019 ร้านค้าปลีกสหรัฐฯ ปิดตัวลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์

            ในปี 2019 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่บอบช้ำของร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ประกาศปิดตัวไปแล้วกว่า 9,300 แห่ง สูงขึ้นถึง 59% เมื่อเทียบกับปี 2018 ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2012 ที่บริษัท Coresight Research ได้บันทึกข้อมูลไว้ และมีแนวโน้มว่าร้านค้าปลีกจะทยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นอีกในระยะหลายปีข้างหน้านี้

            สำหรับร้านค้าปลีกดั้งเดิมที่ปิดตัวลงมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในองค์กร ซึ่งเป็นการสะสมมาจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ จึงมีการปรับโครงสร้างทางการเงินและยื่นล้มละลาย และอีกส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทาง “ออนไลน์” มากขึ้น ผู้ประกอบการบางรายจึงได้หันไปลงทุนในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันยอดขายปลีกออนไลน์ในสหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งอยู่ที่ 16% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในปี 2026 โดย UBS ได้มีการวิเคราะห์ว่าการเพิ่มยอดขายออนไลน์ขึ้น 1% จะทำให้ร้านค้าปลีกดั้งเดิมปิดตัวลง 8,000 – 8,500 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีร้านค้าปลีกปิดตัวลงราว 75,000 แห่งในปี 2026

 

           
            ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2019 ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 1,189.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 5.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018 โดยสินค้าหลักส่งออกไปยังตลาดนี้เป็นเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไนและเพชรเจียระไนก็เติบโตได้ไม่มากนัก

            การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ที่ลดลงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และกระทบต่อร้านค้าปลีกซึ่งรวมถึงร้านอัญมณีและเครื่องประดับให้ปิดตัวลง ส่งผลให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าจากไทยลง อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในปีนี้ยังคงได้รับปัจจัยบวกอยู่บ้างจากการซื้อขายออนไลน์ในตลาดสหรัฐฯ ที่ยังเติบโตได้ดี ทั้งนี้ จากข้อมูลการวิเคราะห์ของIBISWorld ระบุว่า ตลาดออนไลน์เครื่องประดับและนาฬิกาในสหรัฐฯ ปี 2019 เติบโตสูงขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.9% (หรือมีมูลค่าราว 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในปี 2020
 
            นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ที่เป็นคนรุ่นใหม่หันไปสนับสนุนและซื้อสินค้าที่ให้คุณค่าเรื่องความยั่งยืน รวมถึงระบุแหล่งที่มาที่ไปของอัญมณีและเครื่องประดับได้ ฉะนั้น ใครที่ปรับตัวได้และนำเสนอคุณค่าที่ตรงใจ ตรงความต้องการของลูกค้าได้มากกว่า ก็จะสามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดได้ดี
 
 


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มกราคม 2563
 
_______________
ข้อมูลอ้างอิง: Physical Store Closures Hit a New High in 2019 (January 7, 2020), จาก https://www.practicale
commerce.com/ physical-store-closures-hit-a-new-high-in-2019


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที