GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 09 ม.ค. 2020 23.03 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1440 ครั้ง

การเติบโตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE เกิดการสั่นสะเทือนขึ้น เมื่อรัฐบาลของ UAE ได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนำอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับอยู่ไม่น้อย โดยสามารถติดตามผลกระทบนี้ได้ในบทความนี้


ผลกระทบต่อการค้าอัญมณีและเครื่องประดับเมื่อ UAE เรียกเก็บภาษี

            อัญมณีและเครื่องประดับจัดเป็นอุตสาหกรรมการค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นทั้งผู้ส่งออกต่อและผู้บริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ในแต่ละปีมีความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสูงกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากชาว UAE มีกำลังซื้อสูง และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวใน UAE มากถึงปีละประมาณ 17 ล้านคน อย่างไรก็ดีในปี 2018 รัฐบาลได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% และภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในอัตรา 5% ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับลดลงและบั่นทอนการเติบโตของตลาด UAE ไม่น้อย
 
สถานการณ์การค้าของ UAE

            ในปี 2018 UAE เป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ด้วยมูลค่า 27,369.05 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ด้วยมูลค่า 32,039.92 ล้านเหรียญสหรัฐ

            สำหรับข้อมูลล่าสุดในเดือนมกราคม-สิงหาคม 2019 พบว่า UAE ส่งออกด้วยมูลค่า 21,581.00 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.88% โดยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย ตุรกี ฮ่องกง และเบลเยียม สินค้าส่งออกหลักใน 3 อันดับแรก ได้แก่ ทองคำ เพชร และเครื่องประดับแท้ ด้านการนำเข้าพบว่ามีการนำเข้าด้วยมูลค่า 20,610.03 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยนำเข้าจากประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ อินเดีย ฮ่องกง อังกฤษ  สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี ซึ่งสินค้านำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ ทองคำ เครื่องประดับแท้ และเหรียญกษาปณ์ ทั้งนี้ UAE เริ่มนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับลดลงมาตั้งแต่ปี 2018 และลดลงอย่างต่อเนื่องถึงปี 2019 ดังแสดงในกราฟด้านล่างนี้

 

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปี 2015-2019
 
 

 

มูลค่าการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปี 2015-2019

ที่มา : Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

            สำหรับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับใน UAE สามารถแบ่งได้ดังนี้ ชาวอาหรับพื้นเมืองนิยมเครื่องประดับทองคำแบบโบราณ 21 กะรัต แต่หากเป็นเครื่องประดับสมัยใหม่จะนิยมทองคำ 18 กะรัต ชาวเอเชียใต้ที่อาศัยในประเทศนี้นิยมทองรูปพรรณสไตล์อินเดีย 22 กะรัต ส่วนชาวตะวันตกที่เข้ามาทำงานและท่องเที่ยวในแถบนี้นิยมเครื่องประดับทองคำสมัยใหม่ 14 กะรัต และ 18 กะรัต ส่วนตลาดบนของชาวมุสลิมนิยมแพลทินัมประดับเพชร และพลอยเจียระไน
 
ผลกระทบจากการขึ้นภาษี

            ในปี 2018 ที่ผ่านมาได้มีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของ UAE คือ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% ซึ่งแต่เดิมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่มีการใช้ระบบภาษีกับสินค้าและบริการในประเทศ แต่เพื่อให้เป็นไปตามความเห็นร่วมกันระหว่างสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ(Gulf Cooperation Council: GCC) ทำให้ในช่วงเดือนมกราคม ปี 2018 UAE ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 5% กับสินค้าและบริการในประเทศ รวมถึงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้ยังมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในอัตรา 5% อย่างจริงจังจากเดิมที่เคยผ่อนปรนมาโดยตลอด 

            ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทางลบต่อความต้องการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยภายหลังจากการประกาศเก็บภาษีไปได้เพียงสองเดือนพบว่าปริมาณความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองในประเทศนั้นลดลงเป็นอย่างมากในรอบ 20 ปี เนื่องจากราคาเครื่องประดับทองได้พุ่งสูงขึ้นจนผู้บริโภคตั้งรับไม่ทัน กอปรกับราคาทองคำในตลาดโลกขณะนั้นเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ร้านค้าปลีกเครื่องประดับส่วนใหญ่ใน UAE จำต้องลดปริมาณการนำเข้าเครื่องประดับทองลง ซึ่งมีการนำเข้าสินค้าจากแหล่งต่างๆ ลดลงเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอินเดียที่เป็นประเทศคู่ค้าหลักอันดับหนึ่งครองส่วนแบ่งตลาดราว 30% ในปี 2017 โดย UAE นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากอินเดียมูลค่า 12,080.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงเหลือเพียง 9,804.78 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 หรือลดลง 18.84% โดยสินค้าที่มีการนำเข้าจากอินเดียลดลง ได้แก่ เพชรเจียระไน เหรียญกษาปณ์ และเศษและของที่ใช้ไม่ได้อื่นๆที่ทำจากโลหะมีค่า รวมทั้งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วยเช่นกัน
 
ผลกระทบต่อการส่งออกไทย

            UAE เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในปี 2018 ไทยส่งออกไปยัง UAE มูลค่า 262.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.03% จากปี 2017 และในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2019 หากพิจารณาการส่งออกรายสินค้าจะพบว่ายอดการส่งออกยังคงลดลงในหลายรายการ ได้แก่ เครื่องประดับทอง ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกสูงสุดกว่า 62% มีมูลค่าลดลง 3.78% รองลงมาเป็นพลอยสี ทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อน ลดลง 13.32% และ 25.43% ตามลำดับ และอัญมณีสังเคราะห์มีมูลค่าลดลงมากที่สุดถึง 50.25% อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในตลาด UAE อาทิ ราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2019 ทำให้ชาว UAE ลดความต้องการเครื่องประดับทองลง เป็นต้น

แม้ว่า UAE จะมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าภายในประเทศหลายรายการรวมทั้งสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ปัจจุบัน UAE มีนโยบายสำหรับนักท่องเที่ยวให้สามารถขอเรียกคืนภาษี (Tax Refund) ได้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาซื้อสินค้าใน UAE อีกครั้ง รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายการค้าเสรีเพชรในดูไบจึงไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% สำหรับการซื้อขายเพชรแบบขายส่งในเมืองนี้ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ/ผู้ค้าจากทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของไทยอยู่บ้างที่จะทำให้ส่งออกสินค้าบางรายการเข้าไปขายใน UAE ได้เพิ่มขึ้น
 
 







ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ธันวาคม 2562
 
 
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง

  1. Gold losing sparkle in UAE: Jewellery sales drop 23% over high prices. Retrieved September 2, 2019 from https://gulfnews.com/business/retail/gold-losing-sparkle-in-uae-jewellery-sales-drop-23-over-high-prices-1.61776875.
  2. รู้ทันกฎหมาย Hallmark และการจัดเก็บ VAT ใน UAE. ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน). สืบค้นข้อมูลจาก https://infocenter.git.or.th/.
  3. Global Trade Atlas. Retrieved October 30, 2019 from https://www.gtis.com/gta.

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที