สถานการณ์นำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2562
การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2562 มีมูลค่า 11,451.26 ล้านเหรียญสหรัฐ (359,974.04 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 24.44 (ร้อยละ 27.02 ในหน่วยของเงินบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นการนำเข้าทองคำกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งมีมูลค่าลดลงร้อยละ 40.60 เนื่องมาจากผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าทองคำฯ ในช่วงที่ราคาทองคำฯ ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งการนำเข้าเพชรทั้งเพชรก้อนและเพชรเจียระไนก็ลดลง ในขณะที่ไทยนำเข้าเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าเพิ่มสูงขึ้นมากเพื่อส่งออกไปหลอมเป็นทองคำแท่งในต่างประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2562 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 34.73 (ร้อยละ 30.75 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 14,968.05 ล้านเหรียญสหรัฐ (464,570.49 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 11,109.95 ล้านเหรียญสหรัฐ (355,322.94 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.59 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ เมื่อหักทองคำออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 7,613.29 ล้านเหรียญสหรัฐ (236,162.57 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.60 (ร้อยละ 3.31 ในหน่วยของเงินบาท) ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2561 และ 2562
รายการ |
มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) |
สัดส่วน (ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ) |
||
ม.ค.-พ.ย. 61 |
ม.ค.-พ.ย. 62 |
ม.ค.-พ.ย. 61 |
ม.ค.-พ.ย. 62 |
||
มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด |
11,109.95 |
14,968.05 |
100.00 |
100.00 |
34.73 |
หัก มูลค่าส่งออกทองคำฯ |
3,967.96 |
7,354.76 |
35.72 |
49.14 |
85.35 |
คงเหลือมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำฯ |
7,141.99 |
7,613.29 |
64.28 |
50.86 |
6.60 |
หัก มูลค่าสินค้าส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และอื่นๆ |
453.20 |
507.34 |
4.08 |
3.39 |
11.95 |
คงเหลือมูลค่าส่งออกสุทธิ |
6,688.79 |
7,105.95 |
60.21 |
47.47 |
6.24 |
ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า
ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ดังตารางที่ 2 ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 คือ ฮ่องกง มีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.64 เป็นผลมาจากสถานการณ์การประท้วงที่ยืดเยื้อและยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภค และนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปฮ่องกงลดลง ทำให้ร้านค้าปลีกปิดตัวลงหลายแห่ง รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ผู้นำเข้าฮ่องกงจึงลดการนำเข้าจากไทยลง ส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการไปฮ่องกงได้ลดลงไม่ว่าจะเป็นเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน
การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปปรับตัวลดลงร้อยละ 1.61 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของยุโรปที่ชะลอตัวลงมาก อันเนื่องมาจากแรงกดดันของสงครามการค้าที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ไทยส่งออกไปยังเยอรมนี ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 33 และเบลเยียม ตลาดในอันดับ 2 ได้ลดลงร้อยละ 26.19 และร้อยละ 3.66 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังเยอรมนีส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเงิน รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง ส่วนสินค้าส่งออกหลักราวร้อยละ 87 ไปยังเบลเยียมเป็นเพชรเจียระไน ที่ล้วนหดตัวลง ในขณะที่ไทยส่งออกไปยังอิตาลี และสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 3 และ 4 ได้สูงกว่า 1.16 เท่า และร้อยละ 16.31 ตามลำดับ ซึ่งสินค้าหลักส่งออกไปยังทั้งสองประเทศดังกล่าวเป็นเครื่องประดับทอง ที่ต่างมีมูลค่าเติบโตสูง
ส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกายังคงมีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.88 ส่วนหนึ่งยังคงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เริ่มอ่อนแอลงจากผลกระทบของสงครามการค้า ผู้บริโภคจึงระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย โดยการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเคยเป็นสินค้าหลักในปีที่ผ่านมา และเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลักส่งออกในปีนี้ ต่างมีมูลค่าลดลงร้อยละ 23.82 และร้อยละ 3.86 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกพลอยเนื้อแข็งเจียระไนและเพชรเจียระไน ยังสามารถขยายตัวได้
มูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 6.59 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และการปรับขึ้นภาษีการบริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2562 ทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลง มีผลทำให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญบางรายการได้ลดลง ได้แก่ เพชรเจียระไนและเครื่องประดับเงิน ส่วนสินค้าที่ยังเติบโตได้ในตลาดนี้เป็นเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับแพลทินัม ที่มักนิยมใช้ในตลาดคู่แต่งงาน
การส่งออกไปยังจีนหดตัวลงร้อยละ 23.48 ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ผู้บริโภคชาวจีนจึงยังระมัดระวังใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้ไทยส่งออกสินค้าหลักในสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งอย่างเครื่องประดับเงิน รวมถึงพลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับทอง สินค้าสำคัญถัดมาได้ลดน้อยลง
ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกลดลงร้อยละ 20.72 เนื่องมาจากการส่งออกไปยังออสเตรเลีย ที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 87 ได้ลดลงร้อยละ 24.15 จากการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเคยเป็นสินค้าหลักในปี 2561 และเครื่องประดับทอง สินค้ารองลงมาได้ลดลงมาก ในขณะที่ไทยยังสามารถส่งออกไปยังนิวซีแลนด์ ตลาดในอันดับ 2 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.73 โดยสินค้าหลักส่งออกไปตลาดนี้คือ เครื่องประดับเงิน และสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และเครื่องประดับทอง ที่ต่างเติบโตได้เป็นอย่างดี
การส่งออกไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่ลดลงนั้น เนื่องจากการส่งออกไปรัสเซียและยูเครน ตลาดในอันดับ 1 และ 3 ได้ลดลงมากถึงร้อยละ 67.99 และร้อยละ 82.38 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่ขยายตัวในอัตราต่ำ อันสืบเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกับประเทศต่างๆ ที่ส่งผลต่อความเชี่อมั่นในการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ สินค้าหลักส่งออกไปยังรัสเซียเป็นเครื่องประดับเงิน ที่ปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ 87.09 ในขณะที่การส่งออกเพชรเจียระไน สินค้าสำคัญถัดมายังเติบโตได้สูงกว่า 5.55 เท่า ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการไปยังยูเครนล้วนมีมูลค่าลดลงไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน อัญมณีสังเคราะห์ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไนและเครื่องประดับทอง ส่วนสินค้าที่เติบโตได้ดีในตลาดนี้ก็คือ เพชรเจียระไน สำหรับการส่งออกไปยังอาร์เมเนียตลาดในอันดับ 2 ขยายตัวได้สูงกว่า 1.23 เท่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี โดย IMF ประมาณการว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจของอาร์เมเนียมีอัตราการเติบโตร้อยละ 6 ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในยุโรป ผู้บริโภคจึงมีกำลังซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ส่งผลให้ไทยส่งออกพลอยเนื้ออ่อนและพลอยเนื้อแข็ง-เจียระไน รวมถึงเพชรเจียระไน ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก
สำหรับตลาดส่งออกที่ยังเติบโตได้คือ อาเซียน อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยการส่งออกไปยังอาเซียนที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ ซึ่งครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 84 และกัมพูชา ตลาดในอันดับ 2 ได้เพิ่มสูงกว่า 2.95 เท่า และ 2.38 เท่า ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญไปยังสิงคโปร์คือ เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับทอง ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญไปยังกัมพูชาเป็นเครื่องประดับทองและเพชรเจียระไน ที่ล้วนมีมูลค่าขยายตัวดี ในขณะที่การส่งออกไปยังมาเลเซีย ตลาดในอันดับ 3 ยังคงหดตัวลงร้อยละ 12.89 จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน และสินค้าสำคัญถัดมาอย่างเครื่องประดับทองได้ลดลง
ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังอินเดียที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นเพชรเจียระไน พลอยก้อน โลหะเงิน พลอยเนื้ออ่อนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ที่ต่างเติบโตได้สูงมาก
ส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ขยายตัวได้นั้น เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับ-เอมิเรตส์ ตลาดอันดับ 1 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.46 จากการส่งออกสินค้าสำคัญถัดมาอย่างเพชรเจียระไนได้สูงกว่า 1.24 เท่า ในขณะที่การส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองปรับตัวลดลงร้อยละ 3.47 อีกทั้งไทยยังส่งออกไปยังกาตาร์ และคูเวต ตลาดในอันดับ 3 และ 4 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85 และร้อยละ 66.28 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังทั้งสองประเทศนี้เป็นเครื่องประดับทอง ที่เติบโตได้สูงขึ้นมาก ส่วนการส่งออกไปยังอิสราเอล ตลาดในอันดับ 2 ปรับลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.44 เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักทั้งเพชรเจียระไนและเพชรก้อนได้ลดลง
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ไปยังตลาด/ภูมิภาคต่างๆ ในระหว่างปี 2561 – 2562
ประเทศ/ภูมิภาค |
มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) |
สัดส่วน (ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง |
||
ม.ค.-พ.ย. 61 |
ม.ค.-พ.ย. 62 |
ม.ค.-พ.ย. 61 |
ม.ค.-พ.ย. 62 |
(ร้อยละ) |
|
ฮ่องกง |
2,006.93 |
1,913.72 |
28.10 |
25.14 |
-4.64 |
สหภาพยุโรป |
1,563.47 |
1,538.35 |
21.89 |
20.21 |
-1.61 |
สหรัฐอเมริกา |
1,263.78 |
1,189.49 |
17.70 |
15.62 |
-5.88 |
อาเซียน |
204.39 |
609.26 |
2.86 |
8.00 |
198.09 |
อินเดีย |
315.00 |
608.68 |
4.41 |
8.00 |
93.23 |
กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง |
527.80 |
536.43 |
7.39 |
7.05 |
1.64 |
ญี่ปุ่น |
215.76 |
201.55 |
3.02 |
2.65 |
-6.59 |
จีน |
258.79 |
198.04 |
3.62 |
2.60 |
-23.48 |
ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก |
191.87 |
152.10 |
2.69 |
2.00 |
-20.72 |
รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช |
54.85 |
19.88 |
0.77 |
0.26 |
-63.75 |
อื่นๆ |
539.35 |
645.79 |
7.55 |
8.47 |
19.73 |
รวม |
7,141.99 |
7,613.29 |
100.00 |
100.00 |
6.60 |
ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที