ลูกปัดภูเขาทองเป็นหนึ่งในการค้นพบลูกปัดโบราณครั้งสำคัญของประเทศไทย โดยเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวข้องกับอาณาจักรศรีวิชัยโบราณที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-16 รวมทั้งผลจากการค้นพบดังกล่าวได้ก่อให้เกิด “โครงการลูกปัดแทน” ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เด็กๆ ในชุนชน บริเวณพื้นที่ตำบลกำพวน จังหวัดระนองด้วย
การขุดพบลูกปัดภูเขาทอง
แหล่งโบราณคดีภูเขาทองถูกยกให้เป็นแหล่งค้นพบลูกปัดโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยนักโบราณคดีเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางการค้าเชื่อมโลกภายนอกเข้ากับเมืองไชยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยโบราณ ซึ่งจากหลักฐานที่ขุดพบนอกเหนือจากลูกปัดโบราณจำนวนมากที่ทำจากแก้ว หินสี และหินคาร์นิเลียนแล้ว ยังพบสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ที่มีอายุนับพันปีด้วย อาทิ หัวแหวนโบราณ แผ่นหินโรมัน ภาชนะแก้ว เหรียญ และตราประทับจากอินเดีย เป็นต้น
นับตั้งแต่ที่มีการขุดพบลูกปัดโบราณภูเขาทองมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี พบว่าลูกปัดที่ขุดพบจะยิ่งมีจำนวนน้อยลงทุกวัน เนื่องจากมีการลักลอบขุดหาลูกปัดที่มีสภาพสมบูรณ์ไปจำหน่ายอยู่เสมอ โดยสินค้าดังกล่าวยังคงเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมทั้งชาวไทยและต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2555 ที่กระแสความนิยมและต้องการในลูกปัดโบราณมาแรงมาก จนเกิดการเข้ามาตามหาลูกปัดในพื้นที่แห่งนี้
โครงการลูกปัดแทน
โครงการลูกปัดทดแทนเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 จากความคิดของอาจารย์ในโรงเรียนบ้านภูเขาทอง ซึ่งอยู่ในอำเภอเดียวกับแหล่งโบราณคดีภูเขาทองที่มีการขุดพบลูกปัดโบราณ ภายใต้แนวคิดต้องการปลูกฝังให้นักเรียน มีจิตสำนึกในการหวงแหนสมบัติของชาติและปลูกฝังไม่ให้เยาวชนเติบโตแล้วไปลักลอบขุดหาลูกปัดในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจากการดำเนินโครงการพบว่ามีนักเรียนสนใจเข้าร่วมโครงการนี้เป็นจำนวนมาก มีการสอนทำลูกปัดให้เป็นของตกแต่งและเครื่องประดับ โดยพยายามใช้วิธีเลียนแบบสีและรูปทรงให้เหมือนกับลูกปัดโบราณของจริง ทั้งนี้ สินค้าที่ผลิตได้จะถูกนำไปวางจำหน่ายยังหน้าร้านสหกรณ์ชุมชนเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก ขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนและบุคลากรในการช่วยพัฒนา แรงงานก็เป็นนักเรียนที่มาร่วมทำเป็นงานอดิเรกหารายได้เสริมเมื่อจบการศึกษาแล้วก็ทยอยแยกย้ายกันไป นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่หาได้ในท้องถิ่น อีกทั้งรูปแบบของสินค้าก็เป็นการร้อยแบบเรียบง่าย ซึ่งไม่ได้มีผลทางการตลาดมากนัก
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที