GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 18 ธ.ค. 2019 23.07 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1536 ครั้ง

ภายใต้เกาะน้ำแข็งที่ไม่มีคนแตะต้อง กลับเป็นที่หลับใหลของอัญมณีสีชมพูที่ยาวนานกว่าสองพันล้านปี จึงทำให้ Aappaluttoq ที่ห่างจากเมืองหลวงกรีนแลนด์ เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่เป็นแหล่งรวมคอรันดัมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งอัญมณีของ Greenland Ruby ที่มีเฉดสีต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยสามารถติดตามได้ในบทความนี้


ทับทิมจากอาร์กติก กรีนแลนด์

            บนเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเกาะกรีนแลนด์ ทะเลสาบร้างซึ่งไม่มีใครแตะต้องได้ฝังทับทิมและแซปไฟร์สีชมพูเอาไว้ใต้หิมะและน้ำแข็งเป็นเวลากว่าสองพันล้านปี ในปี 2005 นักธรณีวิทยาค้นพบแร่ทับทิมจำนวนมากในฟยอร์ด รอบพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงนุก เมืองหลวงของกรีนแลนด์ไปทางใต้เป็นระยะทาง 155 ไมล์ บริษัท Greenland Ruby ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกรีนแลนด์เมื่อปี 2016 จึงเป็นบริษัทผู้ทำเหมืองทับทิมและแซปไฟร์สีชมพูเพียงรายเดียวที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้ทำเหมืองในแหล่งแร่ที่มีชื่อว่า Aappaluttoq อันมีหมายความว่า ‘สีแดง’ ในภาษากรีนแลนด์ โดยมีระยะสัมปทานนาน 30 ปี สำนักงานใหญ่ของ Greenland Ruby ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของกรีนแลนด์ ขณะที่ฝ่ายขายและฝ่ายการตลาดตั้งอยู่ในนิวยอร์ก การก่อสร้างเหมืองอัญมณีเริ่มต้นขึ้นในปี 2014 และดำเนินงานโดย LNS Greenland บริษัทในเครือเดียวกันกับ Greenland Ruby คนงานเหมืองเกือบทั้งหมดเป็นชาวกรีนแลนด์ โดยบางส่วนก็เป็นชาวประมงและนักล่าสัตว์ท้องถิ่นซึ่งได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในประเทศ บริษัททั้งสองแห่งเป็นบริษัทลูกในเครือ Leonhard Nielsen and Sonner (LNS) อันเป็นกลุ่มบริษัทของครอบครัวจากนอร์เวย์ กลุ่มบริษัทแห่งนี้ได้รับสัญญาการทำเหมือง ตลอดจนโครงการก่อสร้างถนน สะพาน และอุโมงค์ในแถบภูมิภาคอาร์กติก
 

ที่มา: http://www.truenorthgems.com
 

ดาวรุ่งพุ่งแรง

 


ที่มา: https://www.katerinaperez.com/articles/greenland-ruby
 

            เชื่อกันว่า Aappaluttoq เป็นแหล่งคอรันดัมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกโดยเก่าแก่เป็นสองเท่าของแหล่งแร่ ส่วนใหญ่ พื้นที่แห่งนี้เข้าถึงได้ผ่านทางเรือและเฮลิคอปเตอร์เท่านั้นในช่วงฤดูร้อนนานสามเดือน ด้วยอายุการทำเหมืองราว 9-15 ปี รวมถึงมีแหล่งแร่ใกล้เคียงซึ่งเพิ่งได้รับการค้นพบอีกสองแห่ง คาดกันว่ากรีนแลนด์จะสามารถผลิตทับทิมและแซปไฟร์สีชมพูได้เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องราว 87 ล้านกะรัตต่อปีเป็นเวลานาน 40 ปี โดยพลอยก้อนร้อยละ 10 จะยังคงอยู่ในกรีนแลนด์เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวและตลาดภายในประเทศ

            อัญมณีจากแหล่งต่างๆ จะมีสีสันเฉพาะตัวและคุณสมบัติที่ช่วยให้จำแนกออกจากกันได้ อัญมณีของ Greenland Ruby มีเฉดสีต่างๆ ตั้งแต่แดงเข้มและแดงสดซึ่งมีชื่อเรียกในอุตสาหกรรมว่า ‘สีแดงเลือดนกพิราบ’ (Pigeon’s Blood) ไปจนถึงสีชมพูอ่อนใสซึ่งเรียกกันว่าแซปไฟร์สีชมพู นอกจากนี้บริษัทยังได้นำเสนอสีที่เรียกว่า ‘สีแดงไวกิง’ (Viking Red) ด้วย อัญมณีเหล่านี้ฝังอยู่ในหินแอมฟิโบไลต์ ซึ่งเป็นหินชนิดเดียวกันกับในแหล่งแร่ที่โมซัมบิก แทนซาเนีย และมาดากัสการ์ แต่จะแตกต่างจากทับทิมที่ขุดจากแหล่งแร่ใน
หินอ่อนที่เมียนมา เวียดนาม อัฟกานิสถาน ทาจีกิสถาน และปากีสถาน ตลอดจนแหล่งแร่ในหินบะซอลต์ที่กัมพูชาและไทย

 

             พลอยก้อนจะถูกส่งไปยังกรุงนุก ซึ่งเป็นจุดที่อัญมณีจะถูกสกัดออกจากหินด้วยการใช้กรดไฮโดรฟลูโอริกเป็นเวลา 48 ชั่วโมง หลังผ่านการตรวจสอบและจำแนกโดยใช้เครื่องคัดแยกด้วยแม่เหล็กและเครื่องจำแนกทางสายตา ปัจจุบันกระบวนการเจียระไนทำในไทยและอินเดีย แต่ Greenland Ruby หวังว่าจะสามารถตัดแต่งและเจียระไนอัญมณีในกรีนแลนด์เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนสร้างสายการผลิตที่พึ่งพาตนเองขึ้นมาได้ อัญมณีที่เจียระไนแล้วทุกเม็ดมีใบรับรองแหล่งที่มาซึ่งออกให้โดยรัฐบาลกรีนแลนด์ เพื่อเป็นการรับประกันแหล่งที่มา ข้อมูลเชิงสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อมูลของอัญมณีเหล่านี้ให้สืบค้นได้ตั้งแต่เดินทางจากเหมืองไปจนถึงตลาด
 

  
ที่มา: http://www.truenorthgems.com//

 
คุณค่าที่เหนือกว่าผลกำไร

             บริษัทแห่งนี้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงานอย่างรับผิดชอบทั้งในแง่สิทธิมนุษยชน จริยธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัทได้ก่อตั้งมูลนิธิ Pink Polar Bear Foundation ซึ่งจะบริจาครายได้ส่วนหนึ่งจากการขายอัญมณีให้แก่งานวิจัยของนานาชาติในพื้นที่แถบขั้วโลก ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยสาขาใดก็ตาม แต่จะเน้นงานที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องผู้อยู่อาศัย (ทั้งคนและสัตว์) ในกรีนแลนด์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นตามมา
 
ความงดงามละลานตา

 


แบรนด์ Hartmann’s Jewellery


              Hartmann’s Jewellery จากเดนมาร์ก เป็นผู้ขายจากยุโรปรายหนึ่งจากทั้งหมดเพียงสามรายที่ได้รับตำแหน่งเป็น ‘Argyle Pink Select Atelier’ (ผู้ขายเพชร argyle pink ที่ได้รับการคัดเลือกจาก Rio Tinto) บริษัทแห่งนี้เป็นแบรนด์แรกที่นำเสนอเครื่องประดับซึ่งใช้อัญมณีสีแดงจาก Greenland Ruby “เดนมาร์กมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรีนแลนด์ เพราะกรีนแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก การที่เราได้ทับทิมจากกรีนแลนด์มาเป็นสินค้าพลอยแท้ชนิดแรกของเราจึงมีความสำคัญ ผมคิดว่าลูกค้าชาวสแกนดิเนเวียจำนวนมากจะสนใจอยากเป็นเจ้าของอัญมณีที่งดงามและอบอุ่น รวมทั้งมีเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจ” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ulrik Hartmann กล่าว ชุดเครื่องประดับที่เปิดตัวในปี 2018 ประกอบด้วยเครื่องประดับ 50 ชิ้น โดยใช้อัญมณีราว 300 กะรัตในราคาตั้งแต่ 1,500 - 45,000 เหรียญสหรัฐ ชุดเครื่องประดับนี้ขายหมดภายในเก้าวันหลังวางขาย



คอลเล็กชันเครื่องประดับของ Victor Velyan


               Victor Velyan นักออกแบบเครื่องประดับจากลอสแองเจลีสเปิดตัวชุดเครื่องประดับในช่วงที่ผ่านมา “ภาพอัญมณีสีแดงก่ำตัดกับธารน้ำแข็งสีขาวโพลนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของอัญมณีเหล่านี้ได้มอบแรงบันดาลใจให้แก่ผม ผมจึงอยากพัฒนาคอลเล็กชันที่ใช้อัญมณีอันมีเอกลักษณ์เหล่านี้” เขาอธิบายเหตุผลเบื้องหลังการคัดสรรอัญมณี ชุดเครื่องประดับนี้ประกอบด้วยชิ้นงาน 10 ถึง 12 ชิ้นในรูปแบบต่างหู แหวน และกำไล ประดับด้วยทับทิมกรีนแลนด์แบบหลังเบี้ยล้อมเพชร นักออกแบบรายนี้ยังได้วางแผนที่จะใช้อัญมณีจากกรีนแลนด์ในผลงานอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย
 


ที่มา: https://www.katerinaperez.com/articles/greenland-ruby


             Hayley Henning รองประธานฝ่ายขายและการตลาดของ Greenland Ruby กล่าวว่า บริษัทจะเริ่มดำเนินแผนการขายและการตลาด ตลอดจนค้นหาพันธมิตรที่มีแนวทางตรงกันและสนใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของอัญมณีเหล่านี้ในสหรัฐ ยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง โดย Greenland Ruby วางเป้าหมายที่จะเป็นผู้จัดหาพลอยสีที่ทรงอิทธิพลอันดับต้นๆ ในตลาด ซึ่งชูจุดเด่นในด้านแหล่งผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
 
 




ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ธันวาคม 2562
------------------------------------------
ที่มา: 1) “Ruby from the Arctic.” HONG KONG JEWELLERY. (March 2019: pp. 42-43).
2) “Greenland Ruby Marvels from the Arctic.” DIAMOND WORLD. (July-August 2019: pp. 84-85).
 
 
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที