GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 27 พ.ย. 2019 23.51 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1367 ครั้ง

พิกัดศุลกากรใหม่เกิดขึ้นโดยองค์การศุลกากรโลก เพื่อสร้างความชัดเจนในการแยกพิกัดเพชรสังเคราะห์ให้แก่ผู้นำเข้า และส่งออก เพื่อยื่นสำแดงสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้อย่างถูกต้อง


องค์การศุลกากรโลกกำหนดพิกัดศุลกากรใหม่สำหรับเพชรสังเคราะห์

         ปัจจุบันธุรกิจการผลิตและการค้าเพชรสังเคราะห์เป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นในแวดวงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ จากกระแสความนิยมเพชรสังเคราะห์ที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดโลก ผ่านการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดเชิงรุกถึงคุณสมบัติที่เหมือนเพชรแท้แต่มีสนนราคาไม่สูงนัก จนสามารถเข้ามาแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดเพชรแท้ และมีสัดส่วนราวร้อยละ 3.5 ของตลาดเครื่องประดับเพชรทั่วโลก
 

 


             ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) จึงได้มีการกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรในหมวด 71 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สำหรับเพชรที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการ (Lab Grown Diamond) หรือที่เรียกว่า เพชรสังเคราะห์ เป็นมาตรฐานในระดับนานาชาติ โดยการเพิ่มพิกัด 6 หลักย่อยในหมวดพิกัดหลัก 7104 อัญมณีสังเคราะห์ คือ พิกัด 7104.21 เพชรสังเคราะห์ที่ไม่ได้ตกแต่งหรือเพียงแต่เลื่อยหรือทำเป็นรูปทรงอย่างหยาบๆ (หรือก็คือ เพชรสังเคราะห์ก้อน) และพิกัด 7104.91 เพชรสังเคราะห์ที่ตกแต่งแล้ว (หรือก็คือ เพชรสังเคราะห์เจียระไน) ซึ่งทำให้สินค้าเพชรสังเคราะห์ก้อน และเพชรสังเคราะห์เจียระไนถูกระบุพิกัดแยกกับพลอยสังเคราะห์ก้อน และพลอยสังเคราะห์เจียระไน ภายใต้พิกัดศุลกากรหมวดอัญมณีสังเคราะห์ ฉะนั้น การระบุแยกพิกัดดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้นำเข้า/ผู้ส่งออกสามารถระบุแบ่งแยกพิกัดระหว่างสินค้าพลอยสังเคราะห์และเพชรสังเคราะห์ในการยื่นสำแดงสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมื่อมีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้กระบวนการตรวจสอบปริมาณการไหลเวียนของเพชรสังเคราะห์เข้าสู่ประเทศสะดวกมากยิ่งขึ้น

             ทั้งนี้ การเพิ่มพิกัดอัตราศุลกากรใหม่ดังกล่าวจะบังคับใช้ในปี 2022 โดยเป็นการปรับปรุงแทนที่พิกัดอัตราศุลกากรปี 2017 ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน สำหรับประเทศสมาชิกองค์การศุลกากรโลก 200 กว่าประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสองประเทศผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์ก้อนรายใหญ่ของโลกทั้งอินเดีย และจีน ต่างได้กำหนดและเริ่มใช้พิกัดอัตราศุลกากรในระดับ 8 หลักย่อยสำหรับเพชรสังเคราะห์แล้ว โดยอินเดียได้เพิ่มพิกัด 8 หลักย่อยในหมวดพิกัด 7104.20 อัญมณีสังเคราะห์ก้อน โดยแบ่งเป็น 7104.2010 คือ เพชรสังเคราะห์ก้อน และ 7104.2090 คือ พลอยสังเคราะห์ก้อน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากเดิมที่ใช้พิกัด 7104.20 อัญมณีสังเคราะห์ก้อน ในการสำแดงสินค้าทั้งเพชรสังเคราะห์ก้อนและพลอยสังเคราะห์ก้อน ขณะที่อินเดียนั้นมีการใช้พิกัด 8 หลักย่อยสำหรับ 7104.9010 คือ เพชรสังเคราะห์เจียระไน และ 7104.9090 คือ พลอยสังเคราะห์เจียระไน อยู่แต่เดิมแล้ว

             ส่วนสหภาพยุโรปจะเริ่มใช้พิกัดอัตราศุลกากรในระดับ 8 หลักย่อยสำหรับเพชรสังเคราะห์ในวันที่ 1 มกราคม 2020 นี้ ขณะที่ประเทศออสเตรเลีย รัสเซีย และอิสราเอลกำลังพิจารณาการเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับเพชรสังเคราะห์อยู่เช่นกัน สำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่ได้มีการประกาศเปลี่ยนแปลงใช้พิกัดอัตราศุลกากรใหม่สำหรับเพชรสังเคราะห์ดังกล่าว แต่คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2022 ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่มีการนำเข้า/ส่งออกเพชรสังเคราะห์จะต้องปรับเปลี่ยนการสำแดงสินค้าระบุตามพิกัดศุลกากรใหม่หลังจากที่มีการประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ผู้ค้าปลีกจะต้องแจ้งข้อมูลสินค้าที่ถูกต้องก่อนขายให้แก่ผู้บริโภคว่าเป็นเพชรแท้หรือเพชรสังเคราะห์
 
 
 



ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤศจิกายน 2562
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1) CIBJO Special Report 2019-Diamond Commission Special Report. The World Jewellery Confederation. 2019.
2) “India Introduces 8 Digit HS Code for Synthetic Rough Diamonds.” GJEPC. Retrieved 26 Nov, 2019 from https://www.gjepc.org/news_detail.php?id=5214.
3) “India Differentiates Synthetics Imports.” By Joshua Freedman. RAPAPORT. Retrieved 25 Nov, 2019 from https://www.diamonds.net/News/NewsItem.aspx?ArticleID=63909&ArticleTitle=India+
Differentiates+Synthetics+Imports
 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที