GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 22 พ.ย. 2019 23.56 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1248 ครั้ง

ในยุคแห่งการ Disruption ที่สินค้าและบริการหลยอย่างได้ถูกทดแทนและทำให้ดีกว่าของเดิมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รวมไปถึงอัญมณีที่เการลอค่าและอมตะเหนือกาลเวลาอย่างเพชร และพลอย ซึ่งในปัจจุบันสามารถสังเคราะห์และถูกผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการ และมีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อนาคตของเพชรและพลอยแท้จะเป็นอย่างไรสามารถติดตามได้ในบทความนี้


เพชรแท้ พลอยแท้ ยังเลอค่าอยู่หรือไม่ เมื่อสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้

              แม้ว่าเพชรจะเลอค่าอมตะเหนือกาลเวลามายาวนานเท่าใด หรือความหลากหลายสีสันของพลอยแต่ละชนิดจะดึงดูดใจให้ผู้คนค้นหาอยากมีไว้ครอบครองเพียงใดก็ตาม โลกของเพชรและพลอยสีก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะมนุษย์สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการที่มีไม่จำกัดได้ตลอดเวลา กระทั่งสินค้าและบริการหลายอย่างถูก disruption สูญหายไปจากตลาดเพราะมีสิ่งใหม่ที่สามารถใช้ทดแทนได้และดีกว่าของเดิม โลกของอัญมณีก็เช่นกันเมื่อเพชรและพลอยสังเคราะห์ได้ถือกำเนิดขึ้น  

              การเกิดขึ้นของเพชรและพลอยสีนั้น เนื่องจากเพชรและพลอยสีตามธรรมชาตินั้นมีคุณภาพไม่ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ คือ มลทินต่างๆ ที่มีตามธรรมชาติ ซึ่งมาลดทอนความงดงามและสีสันของอัญมณีเหล่านั้น อีกทั้งอัญมณีธรรมชาติที่มีคุณภาพสูงก็หายากมากขึ้นและมีราคาที่สูงเกินเอื้อม จึงเป็นสาเหตุให้อัญมณีสังเคราะห์ซึ่งมีราคาไม่แพง มีมลทินน้อย และผลิตได้จำนวนมากถือกำเนิดขึ้น  

              เพชรสังเคราะห์ได้ถูกผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการและมีองค์ประกอบทางเคมีเหมือนกับโครงสร้างผลึกและคุณสมบัติทางกายภาพของเพชรธรรมชาติ เดิมใช้ในงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่ต่อมามีการพัฒนากระบวนการผลิตและแพร่หลายในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ปัจจุบันเพชรสังเคราะห์มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 3.5% เมื่อเทียบกับเพชรแท้ แต่ Paul Zimnisky นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเพชร ได้ให้ความเห็นว่า เพชรสังเคราะห์จะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในเวลา 4 ปีข้างหน้านี้ และจะขยับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้ราคาเพชรสังเคราะห์ถูกลง โดยคาดว่าประมาณ 5 ปีข้างหน้าราคาเพชรสังเคราะห์จะถูกกว่าเพชรแท้ถึง 90%

              ปัจจุบันผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์รายใหญ่ของโลก คือ จีน คิดเป็นสัดส่วน 56% ของการผลิตเพชรสังเคราะห์ทั่วโลกตามมาด้วยอินเดีย 15% สหรัฐอเมริกา 13% และสิงคโปร์ 10% ตามลำดับ

 

รูปจาก http://www.geologyin.com
 

              ขณะที่พลอยสังเคราะห์นั้นถูกผลิตขึ้นในแล็บเช่นเดียวกับเพชรสังเคราะห์ โดยพลอยที่นิยมนำมาทำ ได้แก่ ทับทิม แซปไฟร์ อะความารีน มรกต ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีสังเคราะห์โดยเฉพาะในประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนิยมใช้อัญมณีสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบในเครื่องประดับระดับล่างราคาถูก มีศูนย์กลางการเจียระไนอัญมณีสังเคราะห์ของจีนอยู่ที่เมืองหวู่โจว (Wuzhou) มณฑลกวางสี (Guangxi) ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเจียระไนอัญมณีสังเคราะห์ของโลก ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นแหล่งผลิตอัญมณีสังเคราะห์คุณภาพสูง (Synthetic Corundum) เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกอัญมณีสังเคราะห์จะพบว่า ผู้ส่งออก 5 อันดับแรก คือ ฮ่องกง อินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย โดยปี 2018 ที่ผ่านมาการส่งออกอัญมณีสังเคราะห์เติบโตเพิ่มขึ้น 28.51% มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลก 1,637.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

              เพชรและพลอยสังเคราะห์พยายามชูประเด็นว่า เพชรและพลอยจากธรรมชาตินั้นเป็นการทำลายธรรมชาติและส่งผลต่อสุขภาพแรงงานในเหมือง รวมทั้งกรณี Blood Diamond ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนให้วงการเพชรและพลอยแท้เป็นอย่างมาก กระทั่งสหพันธ์ตลาดค้าเพชรโลก (World Federation of Diamond Bourses) ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตเพชร (Diamond Producers Association) ตั้งกลุ่มในแอป WhatsApp เพื่อเชื่อมโยงบุคลากรระดับผู้อำนวยการทั้ง 29 คน ให้เป็นผู้นำในการกระจายข่าวสารสู่กลุ่มผู้ติดต่อของพวกเขา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น 2 หมื่นห้าพันคนซึ่งอยู่ในแวดวงการค้าเพชร เพื่อโต้กลับการโฆษณาเชิงลบซึ่งเพชรแท้จากธรรมชาติถูกกล่าวหาจากกลุ่มธุรกิจเพชรสังเคราะห์ ตลอดจนการพัฒนาเนื้อหาและการแชร์ข้อมูลในแง่มุมด้านคุณค่าของความหายากของเพชรธรรมชาติและมูลค่าที่ไม่ลดลงในอนาคต ต่างจากเพชรสังเคราะห์ซึ่งมูลค่าจะลดลงอย่างมากในอนาคต เพราะเป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้เป็นจำนวนมาก และยังเน้นภาพลักษณ์ว่ากระบวนการทำเหมืองเพชรในปัจจุบันมีธรรมาภิบาลและความโปร่งใส สามารถตรวจสอบที่มาได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

              อนาคตของเพชรและพลอยแท้จากธรรมชาติจะเป็นไปในทิศทางใด ความนิยมของพลอยสีจะไปทดแทนเพชรแท้ หรือทั้งเพชรและพลอยแท้จะถูกกลบความน่าสนใจด้วยเพชรและพลอยสังเคราะห์ ยากที่จะมีใครตอบได้ในยุคที่มีกระแสสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่มีผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นไว้ว่า ความมีเสน่ห์น่าหลงใหลของอัญมณีจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่ของสังเคราะห์ขึ้นไม่อาจเข้ามาทดแทนได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีเทคโนโลยีใดจะทดแทนมนต์สะกดและความน่าหลงใหลจากธรรมชาติได้      
 
 
 ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤศจิกายน 2562
 
-----------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง

  1. What Are Synthetic and Created Gemstones? Retrieved November 21, 2019, from https://www.jewelrynotes.com/what-are-synthetic-and-created-gemstones
  2. China disrupting world’s diamond sector, tapping sophisticated technology to produce cheap synthetic alternatives. Retrieved November 20, 2019, from https://www.scmp.com
  3. WFDB joins forces with DPA to counter “negative advertising” from lab-grown diamond sector. Retrieved November 18, 2019, from https://www.professionaljeweller.com

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที