GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 20 พ.ย. 2019 23.34 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1254 ครั้ง

เพชรสังเคราะห์ หรือ Lab Grown Diamond ทางเลือกใหม่ที่มักโฆษณาว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และถูกต้องตามจริยธรรมมากกว่าเพชรที่ขุดได้จากเหมือง และใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ในปัจจุบันหัวข้อดังกล่าวกลับถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเพชรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีจริงหรือไม่ติดตามได้ที่บทความนี้


เพชรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีจริงหรือไม่

          ผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์บางรายอ้างว่าสินค้าของตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยสร้างความยั่งยืน แต่คำกล่าวอ้างนี้กำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ
 


           ผู้ผลิตเพชรจากห้องปฏิบัติการ (Lab Grown Diamond) มักโฆษณาว่าเพชรของตนเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและถูกต้องตามจริยธรรมมากกว่าเพชรที่ขุดจากเหมือง โดยมุ่งเจาะตลาดผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)

            อย่างไรก็ดี Robert Bates ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของ JCK Publishing Group ได้ตั้งคำถามต่อคำกล่าวอ้างนี้ เขาให้เหตุผลว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้เสมอไปและอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้

            Bates ศึกษาผลกระทบที่เพชรสังเคราะห์มีต่อสิ่งแวดล้อม และตั้งคำถามว่า เพชรที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด

            Bates พบว่า โรงงานผลิตเพชรในห้องปฏิบัติการ “ต้องใช้พลังงานตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับการทำงานของเครื่องทำความร้อนแบบไมโครเวฟขนาดใหญ่” โดยโรงงานในจีน อินเดีย และสิงคโปร์ขับเคลื่อนด้วยแหล่งพลังงานที่ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ (non-renewables) อย่างเช่นถ่านหิน

             การผลิตเพชรทั้งเพชรสังเคราะห์และเพชรจากเหมืองต้องอาศัยพลังงานหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับกระบวนการและเทคนิคที่เกี่ยวข้อง Bates ระบุว่า ข้อมูลจากการผลิตทั้งสองแบบยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ประเด็นที่ซับซ้อนไม่แพ้กันก็คือการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (carbon footprint) ทั้งของเพชรจากเหมืองและเพชรที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการ เขาระบุว่า “ในบางกรณี ผู้ผลิตเพชรจากห้องปฏิบัติการก็ทำผลงานได้ดีกว่า แต่บางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้น...กระบวนการผลิตทั้งสองรูปแบบนี้ต่างก็ต้องใช้พลังงานมหาศาลอยู่ดี”

             บทความดังกล่าวยังได้พูดถึงความเสียหายเชิงกายภาพต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทำเหมืองเพชรด้วย Jean-Marc Lieberherr ประธานสมาคม Diamond Producers Association กล่าวกับ Bates ว่า “การทำเหมืองยุคใหม่อยู่ภายใต้การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลและชุมชนในพื้นที่นั้นๆ”

             ผู้ประเมินจากภายนอกให้ข้อสรุปว่าสมาชิกของ DPA ช่วยชดเชยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วยโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม แหล่งทำเหมืองที่ขาดการจัดการที่ดีอย่างเช่นเหมืองบางแห่งในแอฟริกา ก็ถูกกล่าวหาว่ามีการบริหารงานที่ผิดพลาดและสร้างมลพิษ ซึ่งปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นในการผลิตเพชรจากห้องปฏิบัติการ

             สุดท้าย Bates ได้สำรวจแนวคิดเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ หรือผลกระทบจากการทำเหมืองเพชรและการผลิตเพชรต่อสังคมมนุษย์ “มีแรงงานราว 10 ล้านคนทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเพชรตามพื้นที่ยากไร้หลายแห่ง
ทั่วโลก อุตสาหกรรมเพชรสร้างรายได้ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีให้แก่แอฟริกา” เขาระบุด้วยว่า “ไม่มีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลุ่มใดเลยที่ให้การสนับสนุนเพชรที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการ”

             ผู้บริหารองค์กรพัฒนาเอกชนรายหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ได้วิพากษ์วิจารณ์ผู้ผลิตเพชรจากห้องปฏิบัติการว่า บริษัทเหล่านี้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่กลับเพิกเฉยต่อคำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ “เป็นเรื่องถูกแล้วหรือที่จะชักนำผู้คนไม่ให้ซื้อเพชรจากประเทศกำลังพัฒนา ทั้งที่คนกว่าล้านคนยังต้องหาเลี้ยงชีพอยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้”

             Bates ระบุว่า “เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งที่ไม่มีกลุ่มอนุรักษ์กลุ่มใดเลยมาให้การสนับสนุนเพชรที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการ ทั้งที่หลายกลุ่มก็สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า เราได้ติดต่อไปยังองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสอบถามถึงประเด็นนี้ แต่ไม่มีองค์กรใดตอบกลับมา”

             สำหรับคำถามที่ว่าเราควรเลือกซื้อเพชรสังเคราะห์หรือเพชรจากเหมืองนั้น Bates กล่าวว่าไม่มี “คำตอบง่ายๆ” ในเรื่องนี้ และผู้บริโภคยังไม่อาจตัดสินใจด้วยข้อมูลอย่างรอบด้านได้จนกว่าภาคอุตสาหกรรมทั้งสองฝ่ายจะเปิดเผยข้อมูลในห่วงโซ่อุปทานของตนให้เกิดความโปร่งใสมากกว่าที่เป็นอยู่

 


 



ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤศจิกายน 2562


------------------------------------------
ที่มา:
1)  “Eco-friendly Diamonds Claims” BANGKOK GEMS & JEWELLERY. (April 2019: pp. 24, 26).
2)  “Two industry veterans launch the Lab Grown Diamond Council (LGDC)” IDEX. Retrieved October 25, 2019 from http://www.idexonline.com/FullArticle?Id=44822.
 
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที